: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

 


 
   

>> สังเขปประวัติ<<     
พระครูจันทนิภากร    
(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร)   
 

     

วัยเด็ก : ด.ช.ถวิล ปุ้มสีดา

หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร หรือ พระครูจันทนิภากร ท่านได้เมตตาเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กของท่านว่า
ท่านถือกำเนิดเกิดมาในครอบครัวที่เป็นชาวนาด้วยโยมบิดา-มารดา
ของท่านนั้นมีบุตรหลายคน คือมีบุตรทั้งหมด จำนวน ๗ คน หลวงพ่อท่านเป็นบุตร
คนโต ท่านถือกำเนิดที่บ้านโนนตะค้อ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์
          
ในเวลาที่ท่านคลอดออกมาจากครรภ์มารดานั้น ท่านคลอดในวันพระขึ้น ๘ ค่ำ วันศุกร์
ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๒๔๙๖ ท่านเป็นเด็กที่ค่อนข้างพิเศษ คือท่านมีรกพันคอออกมา
ด้วยในขณะที่คลอดจากครรภ์มารดา ภายหลังจากที่คลอดได้ ๗ วัน ท่านก็ตัวเหลือง
ผอมแห้ง ด้วยเพราะท่านไม่ยอมทานนมหรืออาหารใด ๆ ทั้งสิ้น จนโยมแม่ท่านคิดว่า
บุตรชาย คือหลวงพ่อคงจะไม่รอดไปจนเติบใหญ่ หรือจะเลี้ยงให้โตไม่ได้ จึงได้นำ
ความกังวลใจนี้ไปปรึกษากับหลวงตาที่วัดและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ซึ่งท่านเหล่านั้น
ก็ได้บอกกับโยมมารดาของท่านว่า ลูกคนนี้คงเป็นเด็กมีบุญ พ่อ-แม่ คงไม่สามารถ
ที่จะเลี้ยงเด็กน้อยคนนี้ไว้ได้ จึงได้แนะนำโยมแม่ของท่านให้นำลูกคนนี้ซึ่งก็คือ
หลวงพ่อให้เอาไปฝากยกให้เป็นลูกพระตามความเชื่อแบบโบราณเพื่อให้ลูกน้อย
รอดจากภัยอันตราย
          
ดังนั้น โยมมารดาจึงได้นำ ด.ช.ถวิล ไปมอบถวายยกให้เป็นลูกของพระที่หมู่บ้าน คือ
นำท่านไปถวายฝากไว้ให้เป็นลูกของหลวงตาที่วัด ซึ่งหลวงตาก็ได้บอกว่าเด็กที่มีรก
พันคอมาแต่เกิดนั้น ก็เหมือนกับมีผ้าสังฆาฏิของพระสงฆ์ ติดตัวมาด้วย บิดา-มารดา
เลี้ยงไว้ก็จะทำให้เด็กชายคนนี้่อาจไม่รอดชีวิต อาจจะต้องถึงแก่ชีวิต คือ ตายลง
นั่นจึงเป็นความเชื่อของคนไทยแต่โบราณมา

 
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
 
 

     
 

ภายหลังจากที่โยมแม่ท่านนำ ด.ช.ถวิล (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร)ไปถวายให้เป็นลูกของพระแล้วนั้น ด.ช.ถวิล ก็เริ่มทานนม-อาหารได้
และก็เติบโตอ้วนท้วนขึ้นเร็ววันเร็วคืนจนกลับเป็นปกติ โยมแม่ของท่านจึงได้ยก ด.ช.ถวิล ให้คุณโยมป้าปุ่น ชำนิไกร ซึ่งเป็นพี่สาวของแม่
นับแต่นั้นด้วยโยมแม่ท่านนั้นคิดเห็นว่าคงจะเลี้ยงบุตรคนนี้ไม่ได้ ด้วยเกรงว่าลูกจะเสียชีวิต ส่วนโยมป้าปุ่นนั้นท่านเป็นหญิงโสด
ไม่มีครอบครัวให้เป็นภาระอีกประการหนึ่งนั้นโยมป้าของท่านนั้นก็เป็นผู้ที่ใจบุญ ทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมตลอดชีวิต
ท่านได้เมตตาอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายถวิล ซึ่งเด็กชายถวิลท่านได้เติบโตมากับคุณโยมป้าปุ่น ชำนิไกร และท่านก็ถือเสมือนหนึ่งคุณโยมป้าปุ่นนี้
เป็นบุพการีคือ เป็นมารดาอีกคนหนึ่งของท่าน คุณโยมป้าปุ่นให้เด็กชายถวิลท่านเริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุประมาณ ๗-๘ ขวบ
ตามเกณฑ์ที่ต้องเล่าเรียนหนังสือในยุคสมัยนั้น จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖

ขณะเมื่อท่านอายุประมาณ ๑๒ ขวบ โยมบิดา-มารดาของท่านจึงย้ายครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร คุณโยมพ่อจึงนำท่าน
ไปฝากบวชเป็นสามเณรกับหลวงพ่อบุญเลิศ ที่วัดหนองตะลุมพุก อำเภอไตรตรึง จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งในสมัยโบราณการบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ก็ทำตามประเพณี ซึ่งไม่ได้มีใบสุทธิสามเณร เด็กชายถวิลท่านจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ ที่วัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีพระครูพิชัยธรรมานุรักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์


ชีวิตในวัยที่เป็นสามเณรถวิลของหลวงพ่อท่านนั้น ท่านได้เมตตาเล่าว่าชีวิตของการเป็นสามเณรในสมัยก่อนนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจะเข้มงวดมาก สามเณรต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี ๔ เพื่อสวดมนต์ทำวัตรเช้าและท่องหนังสือ โดยสามเณรทุกรูปที่อยู่ในวัดจะต้องท่องจำคำสวดมนต์ได้ทุกบท และที่วัดมหาธาตุแห่งนี้มีกฎระเบียบว่าพระภิกษุและสามเณรทุกรูปจะต้องเรียนนักธรรมตามลำดับไป เริ่มจากนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก สามเณรถวิลเองท่านก็ต้องเรียนนักธรรมตรีด้วยเช่นกัน ท่านถูกบังคับให้ท่องหนังสือทุกวันไม่มีวันหยุด คือ สามเณรในวัดมหาธาตุที่บรรพชามาพร้อมท่านทุกรูป จะต้องท่องหนังสือให้ได้ ถ้าใครท่องไม่ได้จะถูกไม้เรียวตีเป็นการลงโทษ ท่านว่าครูบาอาจารย์ สมัยก่อนนั้นท่านเข้มงวดมากกับพระภิกษุสงฆ์ สามเณรที่อยู่ในการปกครอง

หลวงพ่อถวิลท่านได้เมตตาเล่าว่า ตื่นเช้าขึ้นมาในเวลาตีสี่ หลวงตาที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลสามเณร ท่านจะให้สามเณรนั่งประจำที่ของตน
ในศาลาที่ใช้ทำวัตร โดยศาลานั้นเป็นศาลากว้าง ในศาลาก็จะมีเสาศาลาหลายต้น แล้วให้สามเณรแต่ละรูปนั่งประจำที่ใครที่นั้นไม่ให้โยกย้ายไปไหน สามเณรแต่ละรูปก็จะนั่งประจำตรงเสาในศาลาที่เป็นที่ประจำของตนเอง ไม่ให้สามเณรนั่งใกล้กัน สามเณรหนึ่งรูปต่อเสาหนึ่งต้น เสาใครก็เสาของสามเณรรูปนั้น แล้วก็ให้ท่องหนังสือนวโกวาท เมื่อหลวงตาท่านถามคำถามในหนังสือที่ท่อง หากใครท่องจำไม่ได้ก็จะถูกลงโทษโดยการใช้ม้เรียวตี หลวงพ่อเองท่านเล่าว่าท่านท่องได้โดยไม่ต้องเปิดหนังสือดู ท่านสามารถท่องนวโกวาทนักธรรมชั้นตรีได้ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร สามเณรถวิลท่านเป็นผู้มีสติปัญญาและความจำเป็นอย่างดียิ่ง รวมถึงความขยันหมั่นเพียรรักการอ่าน รักการเรียนรู้ ซึ่งนิสัยรักการอ่านของท่านนี้เป็นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แม้กระทั่งปัจจุบันท่านก็ยังคงเป็นนักอ่านหนังสือเกือบทุกชนิดที่เป็นประโยชน์

ในปีนั้นท่านสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ ซึ่งท่านเมตตาเล่าอย่างเป็นที่ขบขันว่า ในปีนั้นมีพระภิกษุสงฆ์และสามเณรเข้าทำการสอบนักธรรมชั้นตรีที่วัดมหาธาตุ จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๕๐ รูป แต่มีผู้ผ่านการสอบนักธรรมชั้นตรีได้เพียง ๑ รูป คือสามเณรถวิล ซึ่งเจ้าคณะอำเภอท่านก็แปลกใจเป็นอย่างยิ่ง จึงต้องเรียกตัวสามเณรถวิลเข้าพบ ด้วยสงสัยว่าทำไมสามเณรถวิล ท่านถึงสอบได้ และในปีนั้นก็มีสามเณรถวิลเพียงรูปเดียวที่สอบได้ เมื่อท่านเจ้าคณะอำเภอเรียกท่านไปไต่ถาม สามเณรถวิลท่านก็กราบเรียนว่าตัวท่านพยายามพากเพียรหมั่นท่องหนังสืออยู่เสมอมิได้ขาด เพื่อความไม่ประมาทในการสอบ และการจำนวโกวาท เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่หลวงพ่อท่านเมตตาเล่าถึงชีวิตวัยเด็กทีไรท่านก็จะอดขำไม่ได้ทุกครั้ง

           

ชีวิตการเป็นสามเณรถวิล

สามเณรถวิล..เมื่อท่านอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้น ท่านได้พบกับพระอาจารย์บุญเสริม ชาครธมฺโม ท่านเป็นพระธุดงค์ ท่านได้มีจิตเมตตาต่อสามเณรถวิลอย่างยิ่ง โดยพระอาจารย์บุญเสริม ชาครธมฺโม ท่านได้เมตตาชักชวนสามเณรถวิลให้ติดตามท่านออกธุดงค์ ด้วยความที่ยังเป็นเด็ก สามเณรถวิลจึงไม่คิดอะไรมาก เมื่อท่านชักชวนเช่นนั้นสามเณรถวิลจึงตัดสินใจทันทีที่จะติดตามพระอาจารย์บุญเสริม ชาครธมฺโม จาริกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ตามถ้ำ ผ่านห้วยหนอง คลองบึง ที่ลุ่มที่ดอน ทั้งแล้ง ทั้งฝน และเดินธุดงค์ไปยังสถานที่อันสงบ ค่ำไหนนอนนั่น มีเพียงผ้าไตรจีวร บาตร ละกลด เป็นสมบัติติดตัวเป็นเวลาหลายปี ท่านเดินธุดงค์ไปจนเกือบทั่วทุกสารทิศ จากภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ ภาคอีสาน ท่านจาริกแสวงบุญไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน สุดแท้แต่พระอาจารย์ท่านจะพาไปที่ไหน ท่านมีหน้าที่เพียงติดตามไปด้วยในทุกที่
         
นอกจากจะพาสามเณรถวิล ออกเดินธุดงค์เพื่อเรียนรู้ ศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว พระอาจารย์บุญเสิรม ชาครธมฺโม ท่านยังได้มีจิตเมตตาต่อสามเณรถวิลเป็นอย่างมาก พระอาจารย์บุญเสริมนี้ท่านมีความรู้ความสามารถมากในด้านยาสมุนไพรและการรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ท่านจึงได้เมตตาถ่ายทอดวิชาการทางด้านการรักษา และเรื่องยาสมุนไพรต่างๆ ให้กับสามเณรถวิล ครั้งตั้งแต่ยังเป็นสามเณร เพื่อเป็นความรู้ที่อาจนำไปใช้ในเวลาธุดงค์เข้าป่าหากเจ็บไข้ได้อาพาธก็จะสามารถนำวิชาความรู้นี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับตนเองและเพื่อนร่วมทาง

กระทั่งในวันหนึ่งท่านได้แวะไปเยี่ยมบิดา-มารดา ท่านได้เห็นความเป็นอยู่ของบุพการีที่แสนลำบากท่านจึงได้กลับไปโปรดตอบแทนคุณ
บุพการีอยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งโยมพ่อท่านเจ็บป่วยท่านก็ไปเยี่ยมดูแล ที่โรงพยาบาลในจังหวัดบุรีรัมย์แล้วโยมพ่อได้สิ้นชีวิตที่โรงพยาบาลนั้น ท่านและญาติพี่น้องจึงได้ร่วมกันจัดการงานฌาปนกิจศพ ของโยมพ่อจนเรียบร้อย และอีกไม่นานโยมแม่ท่านป่วยหนัก ท่านก็ได้กลับไปเยี่ยม ไปดูแลที่โรงพยาบาลในจังหวัดบุรีรัมย์เช่นกัน กระทั่งในวันหนึ่งเวลาสี่โมงเย็น ท่านได้ขอให้น้องคนเล็กอยู่เฝ้าโยมแม่ ท่านจะขอเวลาไป สรงน้ำก่อนแล้วจะกลับมาเยี่ยมอีกรอบ โยมแม่ก็ชวนท่านพูดคุยแล้วก็สั่งว่าอย่าไปไหน แม่จะรีบไปงานทอดกฐิน เค้าจะมีงานทอดกฐินกันน้องๆ ก็คิดว่าโยมแม่ของท่านเพ้อด้วยพิษไข้ พอท่านคล้อยหลังไม่ถึงห้านาทีขณะที่่ท่านหันหลังจะเดินออกจากห้องเยี่ยมเท่านั้นเอง โยมแม่ของท่านก็สิ้นใจลงในเวลาเพียงชั่วอึดใจนั้น ตัวท่านเองและญาติพี่น้องจึงต้องทำการฌาปนกิจศพของโยมแม่ตามประเพณีจนเป็นที่เรียบร้อย นั่นจึงเป็นการสูญสิ้นโยมแม่ของท่านไปในปีนั้น

ซึ่งในความลำบากยากจนของบุพการีนั้นหลวงพ่อท่านกล่าวถึงทีไรท่านก็คงเกิดความสะเทือนใจด้วยความรู้สึกเวทนาเป็นอย่างยิ่ง
เพราะภาคอีสานในอดีตนั้น ชาวบ้านส่วนมากจะมีอาชีพทำนาทำไร่และก็เป็นภูมิภาคที่แห้งแล้งกันดารเป็นอย่างยิ่ง การทำอาชีพต่างๆ
ก็ค่อนข้างลำบากจนท่านเองถึงกับเอ่ยว่า

     "บางครั้งก็ต้องขอบพระคุณความยากจนที่เป็นครู..
      เพราะทำให้ท่านได้เห็นทุกข์ของความเป็นอยู่
      และการเกิดดับแห่งชีวิตนี้ เพราะถ้าไม่ใช่ด้วยความยากจน
      ท่านก็คงไม่ได้บรรพชาอุปสมบท ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
..
      “เมื่อใดเห็นทุกข์..เมื่อนั้นจึงเห็นธรรม..
      เมื่อใดเห็นธรรม..เมื่อนั้นจึงเห็นพระตถาคต"

ครูบาอาจารย์และพระอรหันต์จำนวนมากก็ล้วนแล้วแต่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนแทบทั้งสิ้น หากเราทั้งหลายจะศึกษาดูจากอัตชีวประวัติ ของครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในอดีตที่ผ่านมาและอีกไม่น้อยในปัจจุบัน แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นด้วยวิบากกรรมหรืออะไรก็คงจะสรุปเช่นนั้นไม่ได้ ซึ่งหากเกิดมาสุขสบายเกินไปก็คงไม่มีท่านใดที่อยากอุปสมบทหรือบวชเป็นพระภิกษุให้เกิดความลำบาก เพราะทุกคนย่อมรักความสบายด้วยกันแทบทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นด้วยกรรมดีที่อุปถัมภ์ให้มีชะตาชีวิตเช่นนี้จึงได้เป็นเช่นนี้ คือเป็นพระภิกษุที่มุ่งเพื่อการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อเป็นที่พึ่งของชาวบ้านและสาธุชน 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

             

ชีวิตสมณะ : พระถวิล จนฺทสโร

สามเณรถวิล ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเกินวัยอุปสมบท แต่ท่านก็ยังไม่ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เมื่อสิ้นบุพการีแล้ว ท่านจึงได้รับการอุปสมบทที่จัดหวัดกาญจนบุรีเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๒๖ ที่วัดหนองโตนด ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายา พระถวิล จนฺทสโร โดยมีพระครูจริยาภิรัติ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอธิการสุรินทร์ กิตติธโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูปลัดคุณวัฒน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ฝึกปฏิบัติสมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน สืบต่อไปอย่างอุกฤษ นับแต่นั้นท่านจึงเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาในฉายา พระถวิล จนฺทสโร โดยได้จำพรรษา ณ วัดหนองโตนด ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ในเวลานั้น

ที่วัดหนองโตนดแห่งนี้ พระถวิลท่านก็ต้องเรียนนักธรรมชั้นโท-เอก ตามกำหนดของมหาเถระสมาคม และท่านยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งคู่สวด เป็นพระครูสอนพระปริยัติธรรมซึ่งทำหน้าที่ สอนนักธรรม เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระครูผู้ตรวจข้อสอบธรรมสนามหลวง พระนวกะประจำจังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระวิทยากรชมรมพุทธรักษาพระพุทธศาสนา เป็นพระวิปัสสนาจารย์ซึ่งเป็นครูสอนวิปัสสนากรรมฐาน ในขณะที่ท่านพระถวิล จนฺทสโร ได้จำพรรษาอยู่อยู่ที่วัดหนองโตนดแห่งนี้นั้นประมาณปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ ท่่านเจ้าอาวาสวัดหนองโตนดที่ท่านได้จำที่วัดแห่งนี้ได้ถืงแก่กาลมรณภาพลง พระถวิล จนฺทสโร จึงได้รับนิมนต์ให้รักษาการแทนตำแหน่งเจ้าอาวาสที่ว่างลง และต่อมาได้รับนิมนต์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส่ วัดหนองโตนด ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรีในปีต่อๆ มา
          
ในกาลต่อมาท่านก็ได้ฉุกคิดและเบื่อหน่ายต่อการที่จะต้องรับภาระธุระของการเป็นเจ้าอาวาส และภารกิจต่างๆ ท่านคิดว่าท่านบวชมาเพื่อสิ่งใด ท่านต้องการอะไรกันแน่ ในทุกวันนั้นท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาส เช้าขึ้นมาสาธุชนบ้านนั้นก็นิมนต์ไปทำกิจ สายก็ถูกนิมนต์ไปอีกบ้าน บ่าย-เย็น ถูกนิมนต์ไปอีกงาน แต่ละวันนั้นไม่อาจจะละเว้นได้ซึ่งภาระต่าง ๆ ของผู้คนในทางโลกไม่เคยได้หยุดพักไม่ได้รับความสงบเท่าที่ควรเลย การบวชเป็นพระภิกษุของท่านเห็นทีจะ เสียเวลาเปล่า ถึงแม้จะบวชมาตั้งแต่ยังเป็นสามเณร จนที่สุดละสังขารแก่ตายไป จะหาประโยชน์ ใส่ตนเองได้มากน้อยแค่ไหนเรื่องของโลกก็เป็นเพียงแค่เรื่องของโลกมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้มิเปลี่ยนแปลง นั่นเป็นสาเหตุให้ท่านเกิดความเบื่อหน่าย และต้องการ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ชีวิตการจาริกธุดงค์ : พระถวิล จนฺทสโร

เมื่อคิดเบื่อหน่ายถึงเพียงนั้นท่านจึงได้สละตำแหน่งพระอธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด ท่านเก็บกลด เก็บบาตร ไตรจีวรติดตัว มอบหมายทุกสิ่งของวัด ให้กับท่านต่อไปที่จะต้องดูแลวัด แล้วจึงตัดสินใจออกธุดงค์จาริกแสวงบุญเพื่อไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ ตามป่าช้าบ้าง ในป่าบ้าง ในถ้ำบ้าง เริ่มจากทางภาคกลางโดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน ท่านจาริกแสวงบุญไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย ขณะนั้นท่านยังเป็นพระภิกษุหนุ่มที่ยังมีร่างกายแข็งแรง จาริกธุดงค์ไปที่แห่งไหนก็ยังไม่มีปัญหาเรื่องของสุขภาพแต่ประการใด ในโอกาสนั้นท่านได้จาริกแสวงบุญไปแทบทุกภาคทั่วประเทศโดยท่านเริ่มจากภาคกลาง ไปพำนักตามป่าเขาต่างๆ ท่านออกจากจังหวัดกาญจนบุรี มุ่งหน้าเข้าสู่ทุ่งใหญ่นเรศวรจังหวัดอุทัยธานี เมื่อพักอยู่จนพอประมาณท่านก็มุ่งสู่ป่าเขาจังหวัดตากหยุดพักรายวันไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วมุ่งเข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชร จนที่สุดท่านจาริกเข้าสู่จังหวัดพิษณุโลก

ซึ่งในสมัยก่อนนั้นพื้นที่แต่ละจังหวัดยังไม่มีความเจริญดังปัจจุบัน ในบางวันก็ได้ฉันภัตตาหาร บางวันก็ไม่ได้ฉันภัตตาหาร มีเพียงน้ำเปล่าที่พระธุดงค์ ท่านใช้ธมกรก(ทำมะกะรก) หรือที่กรองน้ำ ใช้กรองน้ำฉันหรือต้มน้ำร้อนฉันเพื่อความปลอดภัย บางครั้งต้องอาศัย ผลไม้ หน่อไม้ ที่อยู่ในป่าดงดิบเหล่านั้น อย่างกล้วยป่าทั้งสุกทั้งดิบที่ฉันได้เพียงเพื่อยังชีพอยู่ หากวันไหนโชคดีก็จะมีชาวบ้านมาถวายภัตตาหารให้ ซึ่งก็ไม่พ้นส้มตำ ตำส้ม ส้มตำและตำส้ม

ท่านมักจะเทศนาสู่พระภิกษุสงฆ์ที่มาปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำพระฯ เพื่อให้กำลังใจในยามที่พระภิกษุปัจจุบันที่ยังหนุ่มแข็งแรงและปรารถนาจะออกจาริกธุดงค์ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม เพื่อเป็นแนวทางว่าเมื่อตัดสินใจที่จะออกจาริกธุดงค์สู่ป่าเขานั้น จะได้พบเจออะไรบ้าง ควรเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง ท่านจาริกธุดงค์สู่จังหวัดพิษณุโลก และได้ไปพักปักกลดอยู่ที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ท่านยังกล่าวอย่างเป็นที่ขบขันว่าที่เรียกว่าอำเภอบางระกำนี้ช่างระกำสมชื่ออำเภอจริงๆ เพราะมันมีแต่ความแห้งแล้งกันดารเป็นอย่างยิ่งท่านไปพักอาศัยปักกลดที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย ที่เรียกว่าป่าช้าผีดิบนั้น เพราะในสมัยนั้นเมื่อมีคนตาย ชาวบ้านจะเอาศพไปฝังโดยไม่มีการเผาเหมือนชาวบ้านที่อื่นๆ จึงเรียกป่าช้าแห่งนั้นว่า ..ป่าช้าผีดิบ คือซากศพยังดิบๆ อยู่ก็ถูกฝังโดยไม่ต้องมีการเผาเหมือนที่อื่นๆ


                



ชาวบ้านที่อาศัยอยู่หมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งส่วนมากจะเป็นคนทางภาคอีสานมาอาศัยอยู่ ก็จะนำภัตตาหารไปถวายเพล ซึ่งทุกวันก็ไม่พ้นต้องฉันส้มตำ
ตำส้ม และส้มตำ คือตำมะละกอ เป็นอาหารประจำของคนในละแวกนั้น บางวันโชคดีของพระธุดงค์ก็อาจจะได้ฉันไข่ต้มบ้าง แต่ก็ใช่จะมีบ่อย ด้วย
ชาวบ้านก็ล้วนเป็นชาวนาชาวไร่ที่ยากจน หาเช้ากินค่ำพอประทังชีวิตชาวบ้านเมื่อเห็นพระธุดงค์ไปปักกลดอยู่ในป่าช้านั้น จะดีใจมีความเลื่อมใส
พระธุดงค์เป็นอย่างยิ่ง และท่านได้เมตตาเล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ จะมีความหวังว่าเมื่อได้พบพระธุดงค์ก็จะขอโชคขอลาภ ซึ่งก็ไม่พ้นขอน้ำมนต์
ขอสายสิญจน์ ขอเรื่อง เลขเล่นหวย เลขเสี่ยงทาย ซึ่งหลวงพ่อท่านก็ไม่เคยให้ใครเพราะท่านว่าท่านไม่รู้เรื่องเลขหวย และที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย
อำเภอบางระกำนั้นก็สุดแสนจะระกำสมชื่อจริง ๆ ท่านว่าเวลากลางวันก็ดูทุกอย่างปกติดี แต่พอเริ่มเย็นย่ำค่ำสนธยาจะมี ยุง ยุง ยุง ซึ่งก็ไม่รู้ว่า
มาจากไหนบินมาจนดำมืดไปหมด บินมาจับตรงมุ้งกลดเยอะมากจนออกจากกลดไปไหนไม่ได้ เพราะยุงชุมมาก ในที่สุดก็ต้อง นั่งสวดมนต์เจริญสติ
อยู่แต่ในกลดที่กางไว้เท่านั้น ท่านว่าก็เป็นสิ่งดี เพราะทำให้ทำความเพียรได้ตลอดคืน ไปไหนไม่ได้ สวดมนต์เสร็จก็นั่งสมาธิยาวนาน จนกว่าจะง่วงนอน
ก็หลับไปพักหนึ่ง ตื่นขึ้นมาก็ทำสมาธิต่ออีกโดยไม่ได้ออกไปไหน เมื่ออยู่ที่ป่าช้าผีดิบ บ้านคลองเตยจนได้เวลาพอสมควร ท่านก็เก็บกลดและบาตร
จาริกธุดงค์มุ่งสู่จังหวัดตาก ไปพักปักกลดปฏิบัติอยู่ในป่าเขาจังหวัดตาก

เมื่อออกจากป่าดงดิบจังหวัดตาก ท่านก็เดินทางย้อนกลับสู่ภาคกลางอีกครั้ง ครั้งนี้พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้เดินทางมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับพระธรรมธีรราชมหามุนี(โชดก) พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดมหาธาตุรังสฤกษ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ เมื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติธรรมต่างๆ จนได้รับความรู้ทางด้านการปฏิบัติจนเป็นที่พอใจแล้วท่านจึงเดินทางไปศึกษาเรียนรู้กับหลวงพ่อประเดิม โกมโลหรือพระครูสังวรสมาธิวัตร ที่ วัดเพลงวิปัสสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร จนเมื่อได้เวลาสมควรแล้ว ต่อจากนั้นท่านจึงจาริกธุดงค์ สู่ป่าเขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับ พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี ท่านได้ไปอยู่จำพรรษากับหลวงพ่อชา สุภัทโท ตลอดพรรษานั้น เมื่อออกพรรษาท่านก็กราบลาครูบาอาจารย์ แล้วออกเดินทางจาริกธุดงค์เข้าสู่ป่าเขาในจังหวัดต่างๆ ทางภาคอีสาน ไปพำนักอยู่ตามป่าเขา ตามถ้ำต่างๆ ท่านได้เดินทาง เข้าสู่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา แล้วท่านก็จาริกเข้าสู่จังหวัดชัยภูมิจนได้ระยะหนึ่งก็จาริกต่อไปจังหวัดเลย ที่จังหวัดเลยนี้ท่านได้จาริกแสวงบุญธุดงค์สู่เทือกเขาภูกระดึง

ที่ภูกระดึงนี้ท่านธุดงค์มุ่งตรงขึ้นสู่ป่ายอดเขาภูกระดึง แต่สถานที่แห่งนี้ท่านเมตตาเล่าว่าท่านได้พบกับครูบาอาจารย์รูปหนึ่งจะเป็นพระหรือก็ไม่เชิง จะเป็นฤาษีดาบสก็ไม่มีคำตอบ แม้จะพยายามสอบถามว่าท่านนามใด ชื่ออะไร ท่านก็ไม่ตอบอะไรได้แต่มองหน้าแล้วก็นิ่งเสีย ไม่บอกนามว่าเป็นใคร การแต่งกายเครื่องนุ่งห่มของท่านก็สุดแสนจะมอซอเต็มที่ ท่านทำตัวเหมือนคนบ้าก็ไม่เชิง ในแต่ละวันท่านฉันแต่ยาต้มรากไม้ต้ม หน่อไม้ต้ม อาหารอื่นๆ ท่านไม่ฉัน ท่านก็ฉันของท่านอยู่เช่นนี้ทุกวัน

เมื่อพระถวิล จนฺทสโร ได้พบกับท่านผู้นี้ ก็ได้บอกกล่าวปวารณาว่าหากท่านจะใช้สอยให้ทำกิจอันใดที่พอจะช่วยทำให้ได้ก็ยินดีทำให้ จนวันหนึ่งก็ถูกขอให้ช่วยไปหาไม้ไผ่มาทำที่นั่ง เป็นแคร่ไม่ไผ่ เพื่อทำที่นั่งกรรมฐานให้ด้วย พระถวิลก็รับปากว่าจะทำให้ ก็ใช้เวลาหาไม้ไผ่แล้วก็ลงแรงทำที่นั่งกรรมฐานให้ตามที่ท่านขอสำเร็จออกมาเป็นแคร่ไม้ไผ่สำหรับนั่งกรรมฐานดังประสงค์ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ไปแจ้งท่านว่าได้ทำให้เสร็จแล้วตามที่ขอให้ทำ ท่านก็ตามไปดูแคร่นั่งกรรมฐานที่พระถวิลทำให้จนเสร็จสวยงามดี แต่แล้ว.. ท่านก็ใช้เท้ากระทืบที่นั่งแคร่ไม้ไผ่นั้นจนพังยับเยิน ซึ่งหลวงพ่อถวิลท่านก็ได้เล่าว่า ขณะนั้นเมื่อท่านกระทืบที่นั่งที่อุตส่าห์ทำให้นั้นพังไป ในใจก็แว๊บ..รู้สึกว่าโกรธ หรือไม่พอใจเหมือนกัน พอใจแว๊บโกรธเท่านั้น ท่านผู้นั้นก็ทักว่า อ้าว..ไม่แน่จริงนิหว่า พังแค่นี้..ยังโกรธอยู่ ยังใช้ไม่ได้ ซึ่งก็ทำให้พระถวิลได้สติว่า เห็นจะจริงดังที่ท่านผู้นั้นกล่าวมา ท่านรู้ได้อย่างไร?

การฝึกปฏิบัติอยู่ ณ เทือกเขาภูกระดึงแห่งนี้ได้พบเห็นผู้จาริกแสวงบุญที่แบกกลดสะพายบาตรไปแสวงหาความสงบอย่างที่ก็ไม่คาดคิดว่า ยังจะมีผู้ที่ ปรารถนาความเพียรทางจิต เข้าป่าปฏิบัติกัน ถึงเพียงนี้ นี่ก็แสดงว่าผู้ต้องการความสงบและแสวงหาธรรมยังมีตามป่าเขาที่ห่างไกลผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก ท่านยังได้พบแม้กระทั่งคุณโยมผู้หญิงที่บวชชีปฏิบัติอยู่ในถ้ำคนเดียวโดยไม่เกรงกลัวสิ่งใดจึงเป็นบุคคลที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง ท่านว่าคุณโยมท่านนั้นท่านเขียนหนังสือติดไว้ว่า “ปิดวาจา” และก็ตั้งใจปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ เดินจงกรมตลอดเวลาเพียงลำพังคนเดียว แม้จะเป็นเพศหญิงก็ตาม ท่านก็ไม่ได้มีความกลัวเกรงสิ่งใดๆ อันเป็นความตั้งใจที่แน่วแน่เด็ดเดี่ยว ซึ่งหากกราบเรียนสอบถามความคิดเห็นหลวงพ่อท่านคาดว่าโยมผู้หญิงท่านนั้นคงจะเป็นคุณแม่ชีที่ปฏิบัติชอบท่านหนึ่ง ในปัจจุบัน

เมื่ออยู่บนภูกระดึงได้เวลาพอสมควรท่านจึงตัดสินใจ ที่จะลงจากภูกระดึงเพื่อเดินทางจาริกไปยังที่อื่นต่อ เพราะที่ภูกระดึงนี้จะมีปัญหามากเรื่องภัตตาหารขบฉัน เนื่องจากในเวลานั้นบนภูกระดึงแห่งนี้เป็นพื้นที่สูงชัน ในป่าห่างไกล หาผู้คนที่จะเดินทางไปเหมือนปัจจุบันนี้ก็ยากเต็มทน การเดินทางลำบาก และห่างไกล ต้องเดินเท้าเป็นวันจึงจะเดินทางถึงยอดภู และเพราะมีร้านค้าขายอาหารอยู่เพียงแห่งเดียว ในทุกเช้าก็จะมีพระธุดงค์ออกมาจากถ้ำ จากราวป่าเพื่อมาภิกขาจาร คือออกมารับบิณฑบาตรและทุกรูปก็จะไปรับบิณฑบาตที่ร้านค้านี้ ท่านกล่าวอย่างเป็นที่นึกขันว่า พระภิกษุร่วมสามสิบสี่สิบรูป นักบวชฤาษีอีก ก็น่าเห็นใจ ร้านค้าหุงข้าวเพื่อไว้ขาย แต่ทุกเช้า ก็จะมีนักบวชไปบิณฑบาตรทุกวัน แล้วเค้าจะทำยังไง เค้าทำธุรกิจ ถ้านำเอาอาหารไปใส่บาตพระทุกรูป วันนั้นก็ไม่ต้องขายกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวัน ร้านค้าก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน และสินค้าอาหารต่างๆ ก็ไม่มีขายมากนักบนภูกระดึง เพราะเค้าก็ขนของขึ้นไปขายลำบาก ต้องจ้างเค้าแบกหามเดินขึ้นเป็นวันๆ ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนปัจจุบันนี้

ในที่สุดพระถวิล จนฺทสโร จึงตัดสินใจเดินทางจาริกธุดงค์ย้อนกลับเข้าสู่ภาคกลางอีกครั้ง ในครั้งนี้ท่านได้พบครูบาอาจารย์ คือ พระธรรมโกศาจารย์ หรือท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤกษ์ อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี และได้เข้าไปพำนักอยู่ที่วัดชลประทานรังสฤกฏ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พระถวิล จนฺทสโร จึงได้พำนักและปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณ "พระธรรมโกศาจารย์" หรือ "ท่านปัญญานันทภิกขุ " แห่งวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ จึงได้มอบหมายให้พระถวิล จนฺทสโร ให้เป็นพระเลขาในการเผยแผ่ธรรมที่ท่านได้มอบหมายให้นับแต่ครั้งนั้น

ในปีนั้นหลวงพ่อท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุท่านเริ่มโครงการ"พระธรรมทายาท" อบรมพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมที่ดี เป็น"ธรรมทายาท"มิใช่"อามิสทายาท" ของพระบรมศาสดา ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้ไปพำนักอยู่ฝึกกับท่านเจ้าคุณหลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ ซึ่งท่านเจ้าคุณท่านได้ส่งพระถวิล จนฺทสโร ให้ไปฝึกเป็นพระธรรมทายาท กับท่านพุทธทาสภิกขุ(พระธรรมโกศาจารย์- ปัจจุบัน ท่านมรณภาพแล้ว)ที่สวนโมกขพลาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งหลวงพ่อท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ และท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านเป็นสหธรรมิกกัน คือเป็นสหายธรรมที่เคารพรักใคร่กัน ซึ่งพระถวิล จนฺทสโร ได้ถูกส่งไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพุทธทาสภกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ในหลักสูตรพระธรรมทายาท จนเมื่อจบหลักสูตรพระธรรมทายาทกลับมา พระถวิล จนฺทสโร จึงได้รับมอบหมายให้เป็นพระเลขาช่วยการเผยแผ่ธรรม ในสาย ของท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ เป็นพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรุ่นแรกๆ ที่นำพระภิกษุสงฆ์ขึ้นไปเผยแผ่ธรรมที่ภาคเหนือ คือ เชียงราย พระถวิล จนฺทสโร ท่านจึงไปอยู่ที่เชียงรายจนเสร็จสิ้นภารกิจ ด้านการเผยแผ่พระธรรมทายาทเขตภาคเหนือ

ภายหลังจากนั้นท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปเชียงรายอีกครั้งตามลำพังองค์เดียว โดยที่เชียงรายนี้ท่านได้ไปแวะพักที่วัดดงหนองเป็ด วัดวรกิจตาราม หรือสวนโมกข์เชียงราย ซึ่งที่แห่งนี้ได้ไปอยู่ช่วยเผยแผ่ธรรมอยู่ประมาณ ๑ ปี หลังจากนั้นท่านก็ได้ไปอยู่พักปฏิบัติธรรมกับท่าน พระครูสาธรปริยัติกิจ ซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะตำบลบ้านดู่ ที่พุทธสถาน ว.ค. หรือสถาบันราชภัฎเชียงราย ท่านไปอยู่ช่วย พระครูท่านเผยแผ่ธรรมและอบรมนักศึกษาและคณะครูอาจารย์ของสถาบันราชภัฏเชียงรายอยู่ประมาณ ๑ ปี จนในที่สุดท่านพระครูจึงได้ส่งพระพ่อถวิลให้ไปเป็น เจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้กับที่สถาบันราชภัฏเชียงรายตั้งอยู่ ท่านรับเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดู่อยู่ประมาณ ๑ ปี และในที่สุดท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ เพราะเกิดความเบื่อหน่ายในการบริหารภาระธุระ และได้ออกธุดงค์ จาริกแสวงบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ไปพักบำเพ็ญเพียรทางจิตภาวนาตามป่าเขา ตามถ้ำต่างๆ แล้วท่านก็ได้เดินธุดงค์จาริกแสวงบุญย้อนกลับไปพักค้าง ปักกลดอยู่ที่"ถ้ำพระ" อีกครั้ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นยังเป็นป่าเขามีแต่ถ้ำ ยังไม่ได้ตั้งเป็นวัด เป็นเพียงสำนักสงฆ์           

ในราวปีพุทธศักราช ๒๕๒๙-๒๕๓๐ พระถวิล  จนฺทสโร ได้จาริกธุดงค์ไปปฏิบัติธรรม ท่านได้มาแวะพักปฏิบัติธรรมที่ “ถ้ำพระ”แห่งนี้เป็นเวลาประมาณ
๗ วัน โดยท่านปักกลดพักค้างอยู่ในบริเวณถ้ำพระ ซึ่งเป็นถ้ำอยู่บนภูเขาในเวลานั้นยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ สถานที่แห่งนี้เป็นที่สัปปายะ อยู่ห่างจาก
หมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร ท่านอาศัยความเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติจิตท่านตื่นนอนตั้งแต่เวลาตีสอง ตีสามแล้วก็ปฏิบัติจิต สวดมนต์ทำวัตรเช้า เจริญสติ เดินจงกรม จวบเวลาฟ้าสาง เริ่มเห็นแสง เรืองรอง รับอรุณแล้วตามพระวินัยท่านก็ออกรับบิณฑบาตยามเช้า เมื่อได้ภัตตาหารพอเพียงสำหรับการฉันได้แล้วท่านก็เดินทางกลับมายังถ้ำพระ เมื่อทำภารกิจฉันภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เก็บกลด ล้างบาตร นำบาตรตากแดดทิ้งไว้ให้แห้ง เสร็จแล้วก็ปฏิบัติธรรมต่อ โดยการเจริญสติ เดินจงกรม ท่าน ปฏิบัติอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งวัน เหนื่อยก็หยุดพัก พักเสร็จหายเหนื่อยแล้วก็ปฏิบัติต่อด้วยการนั่งเจริญสติ เดินจงกรม สลับกัน ตลอดวันจนย่ำค่ำ เมื่อทำภารกิจยามเย็น เสร็จแล้ว ท่านก็ปฏิบัติต่อจนดึกดื่น

ยิ่งหากวันใดที่เป็นวันพระธรรมสวนะ ท่านจะอธิษฐาน เนสัชชิก คือ การไม่นอนเอนหลังแตะพื้น แม้นท่านจะเหนื่อย อ่อนเพลียและง่วงนอนจนถึงที่สุด ท่านก็จะต้องเจริญสติ หรือนั่งหลับโดยไม่ยอมเอนกายลงนอนให้หลังแตะพื้นเด็ดขาด หากง่วงจัดจะนั่งหลับก็ไม่เป็นไรให้จิตได้พักเหนื่อยสัก ๑ ชั่วโมง ก็เพียงพอแล้ว เมื่อจิตได้พักแล้วท่านก็จะเจริญสติติดต่อกันตลอดคืน ท่านได้เล่าประสบการณ์ให้กับพระภิกษุสงฆ์ที่ปรารถนาจะดำเนินรอยตามทางของครูบาอาจารย์ฟังว่า บางครั้งก็ต้องอธิษฐาน สัจจะบารมีว่า วันนี้ข้าพเจ้าฯ จะไม่นอน หรือวันนี้ข้าพเจ้าจะไม่ฉันภัตตาหารและก็ต้องทำให้ได้ อธิฐานเช่นใดก็ต้องทำให้ได้เช่นนั้น ท่านว่าให้ปฏิบัติจนกว่าจะมีครูบาอาจารย์มาสอนในนิมิตฝัน หากปรากฏเหตุเช่นนี้เมื่อไร ก็แสดงว่าการปฏิบัติของเราเข้าข่ายแล้ว คืออยู่ในข่ายแห่งการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ธรรมใดๆ ที่จะพัฒนาขึ้นไป ครูบาอาจารย์จะเมตตามาสอน

ซึ่งเมื่อท่านเก็บตัวปฏิบัติอยู่ที่ถ้ำพระแห่งนี้ ท่านฝันว่ามีครูบาอาจารย์รูปหนึ่งผิวพรรณขาว รูปร่างสูงใหญ่ นุ่งผ้าจีวรสีแดงเข้ม เหมือนพระภิกษุมอญพม่า ได้เมตตามาสอนท่านให้เหาะจากถ้ำแห่งหนึ่งไปยังถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ในครั้งแรกนั้น ท่านก็ปฏิเสธว่าทำไม่ได้ครูบาอาจารย์ท่านนั้นจึงได้ทำตัวอย่างโดยการเหาะให้ท่านดู แล้วให้ ระถวิล ทำตามท่าน หลวงพ่อถวิลท่านเล่าอย่างขบขันว่าครั้งแรกที่ท่านทดลองทำตามครูบาอาจารย์ท่านสอนนั้น ท่านว่าไปได้ไม่ถึงไหนเลย พอไปได้หน่อยเดียวก็ตกลงมาก้นกระแทกพื้น ครูบาอาจารย์ท่านก็ว่าไม่เป็นไรลองใหม่ ลองใหม่ ท่านก็ให้ลอง ท่านเมตตามาสอนอยู่สามคืนติดๆ กัน การปฏิบัติธรรมต้องให้ก้าวหน้าอย่างนี้ ให้ทำจนถึงที่สุด..

เมื่อท่านพำนักปักกลดบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำพระแห่งนี้ได้ประมาณ ๗ วัน ท่านได้นิมิตฝันไปว่ามีโยมผู้หญิงท่านหนึ่ง แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายแบบโบราณทางเหนือมาเข้านิมิตฝันนิมนต์ให้ท่านอยู่จำวัดที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ การมานิมิตฝันนั้นได้เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา ๓ คืน พระถวิล จนฺทสโร ท่านก็มิได้รับกิจนิมนต์นั้น ท่านเก็บกลดเก็บบาตรบริขารออกจาริกเดินธุดงค์ต่อไปอีกไปพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก

ก่อนออกพรรษาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ขณะที่ท่านจาริกธุดงค์ปฏิบัติจิตอยู่ที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย จังหวัดพิษณุโลกนั้น ก็ได้นิมิตฝันอีกว่าได้เหาะเข้ามาอยู่ในสถานปฏิบัติธรรมถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อีกครั้ง

ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ นั้น ท่านก็ได้จาริกธุดงค์ย้อนกลับขึ้นสู่ภาคเหนืออีกครั้ง ท่านได้แวะเข้าพักปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระแห่งนี้ นับแต่นั้นมาท่านก็อยู่ปฏิบัติธรรมมาโดยตลอดเป็นระยะเวลาร่วม ๒๗ ปี จวบจนปัจจุบัน เมื่อท่านมาพักปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระแห่งนี้ และได้ชักชวนเชิญชวนญาติธรรมทั่วประเทศให้มาร่วมปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ร่วมกันทุกปี ปีละประมาณ ๗ - ๑๐ ครั้ง ก็ได้มีญาติธรรมผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศได้มาร่วมปฏิบัติธรรม และได้มีศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์ ร่วมสร้างศาสนวัตถุขึ้น และหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้เมตตาตั้งนามสถานที่แห่งนี้ว่า "ธุดงคสถานถ้ำพระบำเพ็ญบุญ” และได้ขอวิสุงคามสีมาให้ถูกต้องตามกฏของมหาเถรสมาคมในนาม วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

เมื่อท่านมาพำนักยังสถานปฏิบัติธรรมถ้ำพระบำเพ็ญบุญแห่งนี้ และได้มีกิจกรรมการปฏิบัติธรรมสำหรับสาธุชนในวันสำคัญทางศาสนา และมีการรักษาศีล บวชเนกขัมมะ แล้ว จึงจัดบวชเณรภาคฤดูร้อนสำหรับบุตรหลาน ของญาติธรรมในช่วงปิดภาคเรียนในภาคฤดูร้อน ซึ่งก็มีญาติธรรมนำบุตรหลานมารับการบรรพชาเป็นสามเณร ในวันที่ ๑-๑๐ เมษายน ของทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีผู้ปกครองได้นำบุตรหลานมาเข้ารับการอุปสมบท-บรรพชาเป็นจำนวนหลายร้อยรูป แต่โครงการนี้ได้มอบหมายให้วัดแห่งอื่นที่เป็นพระลูกศิษย์ที่ได้เคยมาอยู่อบรมกับหลวงพ่อได้รับไปทำต่อในปัจจุบัน    
          
จากนั้นท่านได้คิดถึงการที่จะสงเคราะห์หมู่พระภิกษุสงฆ์ ท่านจึงได้ริเริ่มจัดงาน “ปริวาสกรรม” สำหรับพระภิกษุสงฆ์ขึ้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบันซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์จากทั่วทุกภาคของประเทศ ได้มาเข้าอยู่ปริวาสกรรม อันเป็นการชำระพระวินัยของพระสงฆ์ซึ่งก่อให้เกิดคุณประโยชน์คุณูปการแด่หมู่พระภิกษุสงฆ์ เพราะจะมีครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้เมตตามาให้คำแนะนำการปฏิบัติการจาริกธุดงค์ และหลักการปฏิบัติธรรม เจริญสติ เดินจงกรมให้ถูกต้องถูกธรรม นั่นจึงทำให้มีพระภิกษุสงฆ์ท่านเดินทางเข้าร่วมปฏิบัตธรรมเป็นจำนวนมากในทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านก็มุ่งมาเพื่อศึกษาถึงวิธีการปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำสั่งสอนให้

ซึ่งการมาอยู่ที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญแห่งนี้ของหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านได้สร้างประโยชน์คุณูปการแก่พระพุทธศาสนา ทั้งทางด้านการเผยแผ่ธรรม การอบรมวิปัสสนากรรมฐานแก่ผู้สนใจ ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา รวมถึงสาธุชน และหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระพุทธศาสนา

ท่านได้เสียสละความสุขส่วนตัวของท่าน ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการริเริ่มเพื่อที่จะได้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ก็ด้วย วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญแห่งนี้นั้น ตั้งตัวซุกซ่อนอยู่ในป่าเขาที่ค่อนข้างห่างไกลผู้คนซึ่งบริเวณทั้งหมดนั้นมีแต่ป่ารกชัฏ เต็มไปด้วยถ้ำ และภูเขาหิน แต่ด้วยความที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็นสถานที่สงบเงียบห่างไกลผู้คนเช่นนี้ ท่านจึงมีดำริอย่างแน่วแน่ที่จะเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมหาชน
          
ในเบื้องต้นนั้น ท่านได้ใช้บริเวณพื้นที่อันเป็นป่านั้น ทำเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ที่สนใจ ศาลาปฏิบัตธรรม หรือกุฏิสงฆ์ต่างๆ นั้น ยังไม่ได้มีขึ้น ท่านจึงได้ริเริ่มสร้างกุฏิที่ใช้ไม้ไผ่ที่หาได้ในป่ารอบวัดนั้นทำเพื่อให้พออยู่ได้ หลังคาของกุฏิก็มุงด้วยหญ้าแฝก ฟางข้าวที่ชาวบ้านชาวนารอบสถานที่แห่งนั้นเกี่ยวข้าวแล้วนำฟางข้าวมามอบให้ หรือใบต้นสักที่มีอยู่ดาษดื่่นในป่ารกชัฏนั้น เมื่อมีการจัดอบรมปฏิบัติธรรมนั้นก็ทำที่พักโดยใช้ไม้ไผ่ทำเป็นศาลาโดยตอกเสาไม้ไผ่ลงไปในดิน ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วนำไม้ไผ่สานทำเป็นหลังคา ต่อจากนั้น จึงนำฟางข้าวมาปูทับทำเป็นหลังคาเพื่อพอกันแดดกันฝน พื้นศาลานั้นก็ใช้รอมฟางข้าวปูแล้วนำเสื่อปูทับอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นศาลาเอนกประสงค์ที่ใช้ได้ อย่างทันใจ พระภิกษุสงฆ์ที่มาร่วมปฏิบัติธรรม ท่านก็เพียงมีกลด มีบาตร บริขารจีวร เท่านั้น ก็เพียงพอที่ท่านจะดำรงอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ในส่วนญาติธรรมนั้นก็ไม่มีใครที่จะบ่นให้ได้ยินในความยากลำบาก เพราะทุกท่านล้วนมุ่งสู่สถานลานธรรมแห่งนี้เพื่อการปฏิบัติธรรม ปัญหาอื่นจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ส่วนศาสนวัตถุอื่น ๆ ของ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญแห่งนี้ ไม่มีอุโบสถ แต่ได้ใช้ถ้ำสมมติให้เป็นอุโบสถแทน จนกระทั่งผู้มีจิตศรัทธาเป็นต้นบุญ คือ คุณประชุม มาลีนนท์ และเพื่อน ได้มีจิตศรัทธาถวายปัจจัยในการก่อสร้างอุโบสถถวายให้เป็นเขตวิสุงคามสีมา เพื่อถวายให้หลวงพ่อท่านได้ใช้ประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลัง ซึ่งหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านก็ได้ก่อสร้างอุโบสถขึ้น ตามศรัทธาของสาธุชน การดำเนินการก่อสร้างก็สำเร็จลงด้วยดี

        

การสร้างอุโบสถหลังนี้ ยังได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ด้ประทานอนุญาตให้อัญเชิญ
พระนามย่อ ญสส. อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนหน้าบันอุโบสถและจารึกพระนามย่อ ญสส. ลงบนผ้าทิพย์ และพระพุทธรูปที่ได้เททองหล่อขึ้นเพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถ ทั้งยังทรงพระเมตตาประทานพระนามพระพุทธรูปที่ “พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต” อีกด้วย

หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร หรือ (พระครูจันทนิภากร-สถานะในปัจจุบัน)ท่านไ้ด้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ ในการที่จะทำประโยชน์ให้เกิดแก่พระพุทธศาสนา
ท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า

....."หลวงพ่อดำริที่จะทำประโยชน์ให้เกิดขึ้น
      ในชีวิตหนึ่งที่เกิดมาเป็นพระ ท่านกล่าวไว้ว่า
      ต่อจะให้ลำบากอย่างไรก็ตาม หากท่านสั่งสอนผู้คน
      เป็นเรือนหมื่นเรือนแสน ท่านอุปมาว่า ท่านเผยแผ่ธรรม
      ก็เหมือนท่านหว่านแหไปในหมู่ผู้คนที่มุ่งหน้าเข้าปฏิบัติจิต
      หากได้มีโอกาสสร้างพระอรหันต์สักองค์์หนึ่งในชีวิตการเป็น
      นักบวชของท่าน ท่านก็ถือว่าท่านได้ทำประโยชน์เกินคุ้มแล้ว"...

          
นี่จึงเป็นอัตชีวประวัติโดยสังเขปของท่าน หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ที่มีมากมายมหาศาล แต่ก็ยกตัวอย่างการปฏิบัติตัวของท่าน ปฏิปทาในการประพฤฒิปฏิบัติของท่าน ในชีวิตของการเป็นนักบวชในนาม หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร หรือพระครูจันทนิภากร เจ้าอาวาสวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ คือ "พระ" ผู้มีแต่ให้ด้วยความเมตตาต่อสาธุชนรอบด้าน

 
-
    กิจกรรม

 
 
 
วัดในสังฆราชูปถัมภ์
สด.พระญาณสังวรฯ ทรงพระเมตตา
รับวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน
จ.เชียงราย ไว้ในสังฆราชูปถัมภ์

อ่านต่อ
>> 
  วัดปฏิบัติธรรมดีเด่น
ประจำ จ.เชียงราย ปี ๒๕๕๔

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
เป็น ๑ ใน ๔๕ แห่งที่ได้รับคัดเลือก
ให้เป็นวัดดีเด่นประจำจังหวัด
 
 อ่านต่อ>>

  รางวัลเสมาธรรมจักร
รางวัลดีเด่น ในด้านส่งเสริมการ
ปฏิบัติธรรมแก่มหาชนโดยทั่ว
ไป หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร
เข้ารับรางวัล เสมาธรรมจักร
จาก สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ

อ่านต่อ >>
  เจ้าคณะตำบลธารทอง
วันพุธ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา
เวลา ๐๙.๐๙ น.ได้มีพิธีรับมอบ
ตราตั้ง แต่งตั้ง พระครูจันทนิภากร
(ลพ.ถวิล จนฺทสโร)ที่ จต.ธารทอง

โดยมี พระเทพสิทธินายก จจ.
เชียงราย เมตตาเป็นประธานสงฆ์
ณ พุทธมณฑล เชียงราย
 อ่านต่อ >>
         
 
 
 
แต่งตั้งที่พระครูชั้นโท
พระครูจันทนิภากร
(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร)
เข้ารับสัญญาบัตร พัดยศ
โดยได้รับการเสนอแต่งตั้ง
สัญญาบัตร ที่พระครูชั้นโท
แต่งตั้งพระอุปัชฌาย์
ได้มีพิธีรับแต่งตั้งพระอุปัชฌาย์
ทั่วประเทศ พระครูจันทนิภากร
(ลพ.ถวิล จนฺทสโร)ได้เข้ารับ
การแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
โดยม ีสมเด็จพระมหา
รัชมังคลาจารย์ เป็นประธานสงฆ์


  เข้ารับพระสารีริกธาตุ
พระครูจันทนิภากร
(ลพ.ถวิล จนฺทสโร) เข้ารับมอบ
ถวายพระสารีริกธาตุ จากพระ
เดชพระคุณสมเด็จพระวันรัต
วัดบวรนิเวศฯ เพื่อนำบรรจุ
ในพระเกศพระพุทธรูป
พระประทานในอุโบสถ

  ๕๐ สถานปฏิบัติธรรม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(ททท)ร่วมกับหอจดหมายเหตุ
พุทธทาส แนะนำ ๕๐
สถานปฏิบัติธรรมทั่วไทย
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
เป็น ๑ ใน ๕๐
อ่านต่อ >>
             
 
 
 
การอบรมหน่วยงาน
เป็นกิจกรรมที่องค์กร หรือ
หน่วยงานทั้งของรัฐ และ
เอกชนได้นำบุคลากรมาฝึก
อบรมความประพฤติเพื่อฝึก
สติใคร่ครวญเพื่อประสิทธิภาพ
และประสิทธิผลของ
อ่านต่อ >>
  การอบรมเยาวชน
เป็นกิจกรรมที่คณาจารย์
จากมหาวิทยาลัยและโรงเรียน
ได้นำเยาวชนมาฝึกอบรมนิสัย
ความประพฤติเพื่อฝึกอบรมจิตใจ
ให้เป็นคนดีของพ่อ-แม่ ของสังคม
และของชาติให้ห่างไกลจาก
ยาเสพติด
อ่านต่อ >>
  เชิญปฏิบัติและฟังธรรม
ณ ชั้น ๘ อาคารมาลีนนท์(ตึกข่าว)
ไทยทีวีสีช่อง ๓ ถนนพระราม ๔
แขวง คลองเตย ในโครงการ
"ธรรมะคือ คุณากร"กับ
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร
www.phuttha.com

  ชมภาพกิจกรรมวัดถ้ำฯ
ชมภาพกิจกรรมต่าง ๆ ของ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญในทุกๆ
กิจกรรมที่พระภิกษุสงฆ์ และ
สาธุชนได้ร่วมทำกิจกรรมการ
ปฏิบัติธรรม

อ่านต่อ >>
             
 
 
 
รับฟังพระธรรมเทศนา
รับฟังพระธรรมเทศนาในรูปแบบ
MP3 ที่พระครูจันทนิภากร
(ลพ.ถวิล จนฺทสโร)ได้เมตตา
แสดงธรรมในโอกาสต่างๆ
ทั้งการปฏิบัติธรรม
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ และ
ภายนอกสถานที่รับนิมนต์
อ่านต่อ
>>
  รับชมวีดีทัศน์ธรรม
รับชมวีดีทัศน์ธรรมเทศนา
ในโอกาสต่างๆ ที่หลวงพ่อ
ได้เมตตารับแสดงธรรม
ตามสถานที่และวาระต่างๆ

อ่านต่อ >>
  กองทุนเผยแผ่ธรรม
"สัพพทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ.."
การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง
ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา
ร่วมบริจาคสมทบกองทุน
เผยแผ่ธรรม
อ่านต่อ >>
  สนง.แม่กองธรรม
สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
ท่านสามารถตรวจสอบ
วัน เวลา การสอบนักธรรม
ได้ที่นี่ 
อ่านต่อ >>
  

     

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com
email : watthumprachiangrai@gmail.com