สีมา
สีมา แปลว่า เขต หรือ แดน
สีมานั้น มีอยู่ ๒ ประเภท คือ
๑. พัทธสีมา คือ เขตที่สงฆ์กำหนดเอาเอง แปลว่า แดนที่ผูก
๒. อพัทธสีมา คือ เขตที่เขากำหนดไว้ตามปกติของบ้านเมือง
แปลว่า แดนไม่ได้ผูก
นิมิต หรือ วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องหมายเขตแห่งสีมา มี ๘ ชนิด คือ
๑. ภูเขา หรือ ปพฺพโต
๒. ศิลา หรือ ปาสาโณ
๓. ป่าไม้ หรือ วนํ
๔. ต้นไม้ หรือ รุกฺโข
๕. จอมปลวก หรือ วมฺมิโก
๖. หนทาง หรือ มคฺโค
๗. แม่น้ำ คูน้ำ หรือ นที
๘. สระน้ำ หนองน้ำ หรือ อุทกํ
พัทธสีมา ๓ ชนิด (แต่ตามคัมภีร์มหาวรรคมี ๔ ชนิด) คือ
๑. ขัณฑสีมา คือ สีมาผูกเฉพาะโรงอุโบสถ
๒. มหาสีมา คือ สีมาผูกรอบวัด
๓. สีมาสองชั้น คือ สีมาที่มีขัณฑสีมาอยู่ภายในมหาสีมา
๔. นทีปารสีมา คือ สีมาที่สมมติคร่อมฝั่งน้ำ
อพัทธสีมา ๓ ชนิด (หากนับสีมาสังกระเข้าด้วยมี ๔ ชนิด) คือ
๑. คามสีมา แดนบ้านที่ฝ่ายอาณาจักรจัดไว้
๒. สัตตัพภันตรสีมา เขตที่สงฆ์กำหนดขึ้นในป่าชั่ว ๗ อัพภันดร
๓. อุทกุกเขปสีมา เขตแห่งสามัคคีชั่ววักน้ำสาด
๔. สีมาสังกระ สีมาที่คาบเกี่ยวปะปนกัน
สีมาสังกระ คือ การสมมติสีมาคาบเกี่ยวกัน เช่น การสมมติสีมาใหม่
คาบเกี่ยวกับสีมาเดิม
แต่สงฆ์ไม่รู้ว่าเป็นสีมาเดิม ทั้งไม่ได้ทำการสวดถอนก่อน
สีมาใหม่ที่สมมติขึ้นนั้นย่อมวิบัติใช้ไม่ได้
การขอพระราชทานวิสุงคามสีมานั้น เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
เพื่อถวายที่ดินบริเวณนั้นให้เป็นสิทธิ์ของสงฆ์
ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา
คือ เขตแดนที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม
เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ซึ่งคำว่า วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม
แปลว่า บ้าน
การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่าพระมหากษัตริย์
เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำการใด ๆ
บนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอ
พระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดินนั้น
เป็นเขตพุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์แล้ว ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาด
ของพระพุทธศาสนา ซึ่งใคร ๆ จะทำการซื้อขาย จำหน่ายจ่ายโอนมิได้
โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส คือ เป็นอาวาสหรือเขตแดนของพระพุทธเจ้า
และพระพุทธศาสนา หรือสิทธิของพระภิกษุสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์
จากนั้นการฝังลูกนิมิต นี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่าการ
ผูกพัทธสีมา ซึ่งก็แปลว่า เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต
โดยปัจจุบันจะเริ่มจากพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันในอุโบสถ
หรือโบสถ์
เพื่อทำพิธีสวดถอน เพื่อให้แน่ใจว่ามิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดเป็น
เขตแดนนี้ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมาเดิมหรือสีมาเก่ามาก่อน หรือเป็นที่
ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่งๆ ไปตลอด
สถานที่ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่า มีอาณาเขตเท่าใด
โดยทั่วไป ลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมาจะมีจำนวน ๙ ลูก
โดยฝังตามทิศต่างๆ
โดยรอบอุโบสถทั้ง ๘ ทิศ ๆ ละ ๑ ลูก และฝังไว้กลางอุโบสถอีก ๑ ลูก
เป็นลูกเอก เมื่อจะผูกสีมาพระสงฆ์จำนวน ๔ รูป หรือจตุวรรคสงฆ์
ก็จะเดินตรวจลูกนิมิตที่วางไว้ตามทิศต่าง ๆ
โดยเริ่มตั้งแต่ทิศตะวันออก
เป็นต้นไปเรียกว่า สวดทักสีมา เวียนขวาไปจนครบทั้ง ๘ ทิศ หรือ
๘ ลูกนิมิต
จนครบทุกทิศและมาจบที่ทิศตะวันออกอีกครั้ง
เพื่อให้แนวนิมิต
บรรจบกันเป็นสี่เหลี่ยมหรือวงกลม เมื่อสวด
ทักนิมิตจบแล้วก็จะกลับเข้าไป
ประชุมสงฆ์ในอุโบสถ
และสวดประกาศสีมาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะทำการ
ตัดลูกนิมิตลงหลุมเพื่อกลบ แล้วสร้างเป็นซุ้มหรือก่อเป็นฐานตั้งใบสีมาต่อไป
ซึ่งใบสีมานี้จะถูกตั้งหรือตั้งครอบอยู่บนลูกนิมิตที่ถูกฝังอยู่ภายใต้พื้นดิน
ซึ่งที่เป็นดังนี้ก็อาจเพื่อให้เป็นที่สังเกตได้ง่ายว่าสถานที่ตรงบริเวณใด
เป็นที่ประดิษฐานลูกนิมิตไว้ภายใต้เพื่อให้รู้เขตแดนของวิสุงคามสีมา
ที่เป็นลูกนิมิตฝังอยู่ให้สังเกตได้ชัดเจนและง่ายขึ้น และใบเสมานั้น
ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นตามแต่ช่างจะออกแบบให้สวยงามโดยนำนิมิตหมายเอา
สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาประดิษฐ์เป็นลวดลายของใบเสมา
เช่น
เครื่องหมายธรรมจักร สัญลักษณ์กวางหมอบ หรือรูปเทวดา
ส่วนวัดที่ตั้งใบเสมาลงบนลูกนิมิตนั้น สำหรับวัดราษฏร์โดยทั่วไป
จะมีใบเสมาจำนวน ๘ ใบ คือใบเสมาที่ตั้งครอบลูกนิมิตจำนวน ๘ ลูก
รอบอุโบสถ ส่วนนิมิตลูกเอก หรือนิมิตที่อยู่ในอุโบสถนั้น ไม่ต้องตั้งใบเสมา
ซึ่งการจะสังเกตว่านิมิตลูกเอกนั้นตั้งอยู่บริเวณไหน ให้ถือเอา
ใจกลางอุโบสถเป็นหลักหรือสังเกตุจากสายพระเนตรของพระพุทธรูป
ที่มองลงเป็นมุม ๔๕ องศาตรงหน้าพระพักตร์ของพระพุทธรูป
พระประธานของอุโบสถ
ส่วนวัดที่เป็นวัดหลวงนั้น
จะมีใบเสมาตั้งเป็นคู่ ๆ ในจะนวน ๑ จุด
ดังนั้นใบเสมาที่ตั้งครอบลูกนิมิตจำนวน ๘ ลูก แต่ละลูกจะมีใบเสมา
จำนวน ๒ ใบคู่กัน จึงทำให้วัดที่ถูกตั้งเป็นวัดหลวงนั้นต้องผูกสีมา
จำนวน ๑๖ ใบ ครอบลูกนิมิต โดยรอบอุโบสถทั้ง
๘ ลูกนั้น
ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความแตกต่างและสังเกตุได้ง่ายถึงความแตกต่าง
ระหว่าง วัดราษฏร์์และวัดหลวง
|