: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่
.....
หน้าแรก >>    
....

ฝังลูกนิมิต-ผูกพัทธสีมา



      


                                               ซุ้มลานธรรม

             การขอพระราชทานวิสุงคามสีมา


ในปัจจุบันนี้ เมื่อมีการก่อสร้างอุโบสถขึ้นภายในวัดใด เมื่อการก่อสร้าง
ใกล้จะแล้วเสร็จก่อนการทำสังฆกรรมเกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนของ
อุโบสถหรือฝังลูกนิมิตนั้น ทางวัดหรือเจ้าอาวาสผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ
ในวัดนั้น ๆ ที่ได้จัดสร้างอุโบสถขึ้นใหม่จะต้องแจ้งการสร้างอุโบสถ
ของวัดไปยังเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด
ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดก็จะมีคณะพระภิกษุสงฆ์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ
ไปตรวจสอบอุโบสถที่จัดสร้างขึ้นใหม่ แล้วให้วัดทำหนังสือ
ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งหนังสือเอกสารที่นำแจ้งขอพระราชทาน
วิสุงคามสีมานี้ จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบตามลำดับที่ได้กล่าวมา
และแจ้งขนาดของอุโบสถให้ถูกต้องว่า อุโบสถมีพื้นที่ความสูง ความกว้าง
ความยาว เท่าไร เมื่อเอกสารการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้รับการ
จัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับการอนุมัติรับรองไปตามลำดับขั้น
ตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด และ
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดที่วัดนั้นสังกัดอยู่ จนถึงสำนักงาน
พระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำเอกสารขอพระราชทานวิสุงคามสีมา
นำเสนอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อท่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงาน
ทางพระพุทธศาสนารับรองอนุมัติ ต่อจากนั้นนำทูลสมเด็จพระสังฆราช
ทรงประทานอนุมัติ  แล้วเสนอเพื่อนำความกราบบังคมทูลขอรับ
พระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ มีลำดับดังนี้

ปัจจุบัน การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีขั้นตอนและวิธีดำเนินการ
ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความ
ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังนี้

  ๑. เจ้าอาวาสเสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามแบบ
       ต่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ
  ๒. เมื่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ เห็นสมควรให้นำปรึกษานายอำเภอ
       แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะจังหวัด
  ๓. เมื่อเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควร ให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด
       แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะภาค และสำนักงาน
       พระพุทธศาสนาประจำจังหวัด
  ๔. เมื่อเจ้าคณะภาคเห็นสมควรแล้ว ให้ส่งเรื่องและความเห็นไปยัง
       สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
  ๕. เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรแล้ว จะได้นำเสนอ
      ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำเรื่อง
      กราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช
      เพื่อทรงประทานอนุมัติ แล้วเสนอเพื่อนำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณา
      โปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาเพื่อนำลงประกาศใน
      ราชกิจจานุเบกษา ขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
  ๖. เมื่อพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้วให้นายอำเภอท้องที่ที่วัดนั้น
      ตั้งอยู่ดำเนินการปักหมายเขตที่ดินตามที่ได้พระราชทานต่อไป

อนึ่งในการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
จะดำเนินการขอให้กับวัดที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และส่งรายงานการขอรับ
พระราชทานมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปีละ ๖ งวด โดยจะ
รวบรวม รายชื่อวัดแล้วเสนอขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ๒ เดือนต่อ ๑ งวด


*******************************************
        
การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา

มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
มติที่ ……………………………………………...

เรื่อง การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา

       ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐        
เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โดยกองพุทธศาสนา ได้รายงานว่า ปัจจุบันวัดต่างๆ ได้ทำเรื่องขอรับ
พระราชทานวิสุงคามสีมาโดยผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง
และเจ้าคณะผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์มายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
เพื่อดำเนินการและเรื่องยังไม่แล้วเสร็จ ทางวัดได้กำหนดจัดงานผูกพัทธสีมา
ไว้ล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาทำให้ประสบปัญหา
ไม่สามารถจัดงานได้


       สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอนมัสการว่า ในการขอรับ
พระราชทานวิสุงคามสีมา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่นำเรื่อง
กราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา และ
นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีเรื่องอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน
ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการให้ตามลำดับ ซึ่งไมสามารถ
ทราบได้ล่วงหน้าว่าขั้นตอนดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อใด

        สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกองพุทธศาสนสถาน
พิจารณาแล้วเห็นควรแจ้งเจ้าคณะจังหวัดเกี่ยวกับการขอรับพระราชทาน
วิสุงคามสีมาว่า ควรได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วจึงกำหนด
จัดงานผูกพัทธสีมาและตัดลูกนิมิต และแจ้งเจ้าอาวาสที่ขอรับพระราชทาน
วิสุงคามสีมา ไม่ให้กำหนดวันจัดงานจนกว่าจะได้รับประกาศ.           

       ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่เสนอ
       (นางจุฬารัตน์  บุณยากร)
      ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ


                          
*******************************************

 

การขอพระราชทานวิสุงคามสีมานั้น เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
เพื่อถวายที่ดินบริเวณนั้นให้เป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา
คือ เขตแดนที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม
เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ซึ่งคำว่า วิสุง แปลว่า ต่างหาก
คาม
แปลว่า บ้าน การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่า
พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำการใด ๆ บนพื้นแผ่นดิน
จึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพระราชทาน
ที่ดินนั้นเป็นเขตพุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์แล้ว ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาด
ของพระพุทธศาสนา ซึ่งใคร ๆ จะทำการซื้อขาย จำหน่ายจ่ายโอนมิได้
โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส คือ เป็นอาวาสหรือเขตแดนของพระพุทธเจ้า
และพระพุทธศาสนา หรือสิทธิของพระภิกษุสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์

 

 
อ่านต่อหน้า >> 1I 2 I 3 I 4 I 5 I หน้าแรก >>                 
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย  :  ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐ โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com / www.watthampra.com             email : info@watthumpra.com