: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่
.....
หน้าแรก >>    
....

นาค เตรียมเวียนรอบอุโบสถ






การห่มนาค






กราบครูบาอาจารย์ก่อนอุปสมบท






พระอุปัชฌาย์ ให้กรรมฐาน







กราบขอขมากรรมต่อบุพการี





















 

..

                          การบวชในปัจจุบัน

ในปัจจุบันการอุปสมบท หรือการบวชที่มีปฏิบัติกันมีอยู่  ๒  อย่าง คือ
     ๑.  การอุปสมบท หรือบวชพระภิกษุ ซึ่งทำการบวชด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา
     ๒.  การบรรพชา หรือบวชเป็นสามเณร สำหรับผู้ที่มีอายุยังไม่ครบบวช
          ซึ่งทำการบวช ด้วยการรับไตรสรณคมน์ 
        
วิธีการบรรพชาและอุปสมบททั้งสองอย่างนี้มีรายละเอียดดังนี้

การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ

คุณสมบัติของผู้จะบวช  ๕  ประการ
  
     ๑. วัตถุสมบัต  คือ คุณสมบัติของผู้จะบวชจะต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น  เป็นเพศชาย
          มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ซึ่งนับตั้งแต่ในครรภ์มารดาเป็นหลัก ไม่เป็นมนุษย์วิบัติ
          คือ ถูกตอน หรือเป็นบัณเฑาะ(กระเทย) ไม่ทำผิดร้ายแรง คือ มาตุฆาต-ปิตุฆาต
          หรือฆ่ามารดา หรือ บิดาของตนมาก่อน ไม่เคยทำผิดต่อพระศาสนามาก่อน เช่น
          ฆ่าพระอรหันต์ หรือเคยต้องอาบัติปาราชิกมาแล้วตั้งแต่บวชครั้งก่อน หรือเมื่อ
          ก่อนขณะที่บวชอยู่ได้ไปเข้ารีตเดียรถีย์มา อาการ ข้อห้ามเหล่านี้ถ้าสงฆ์บวชให้
          โดยไม่รู้ความจริง การบวชของผู้นั้นก็ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุได ้เมื่อรู้ภายหลัง
          จะต้องให้สึกไปเสีย

         นอกจากนี้ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่ห้ามบวชเหมือนกัน แต่ก็ไม่ถึงกับอุปสมบท
         ไม่ได้ ยังอุปสมบทได้ แต่บุคคลประเภทนี้เป็นหน้าที่ของพระภิกษุอุปัชฌาย์จะต้อง
         คัดเลือกให้ดีเสียก่อน ถ้ารู้แต่แรกห้ามมิให้บวช ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คนที่บิดา
         มารดายังไม่ได้อนุญาต คนที่รับราชการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ หรือ
         หน่วยงาน คนที่มีอาญาแผ่นดินติดตัวมา คนที่มีร่างกายพิการต่าง ๆ รวมถึงเป็น
         โรคเรื้อรังรักษาไม่หาย เป็นโรคติดต่อชนิดร้ายแรง โจรที่มีชื่อเสียงมาก่อน คนที่
         หนีหนี้มาบวช คนที่เป็นทาสผู้อื่น คนไม่มีอัฏฐบริขาร คนไม่มีพระอุปัชฌาย์
         ในคนจำพวกนี้ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่รู้แล้วให้อุปสมบท มารู้เข้าภายหลังก็ไม่ควร
         ให้สึกเมื่อบวชแล้วก็อนุโลมให้เลยตามเลย

     ๒. ปริสสมบัติ  ซึ่งในส่วนนี้กำหนดหมายถึงพระภิกษุสงฆ์ที่จะเข้าร่วมทำการ
          อุปสมบทให้ หมายถึงพระอันดับให้ผู้ขอบวช คือ อุปสัมปทาเปกขะนั้น
          ภิกษุจะต้องเข้าประชุมสงฆ์ให้ครบตามจำนวน คือ
        
         ในมัธยมประเทศ หรือประเทศที่เจริญแล้ว และสามารถหาพระภิกษุสงฆ์
           ได้ง่ายกำหนดให้ต้องมีพระภิกษุสงฆ์เข้าร่วมสังฆกรรมอย่างน้อย
            ๑๐ รูป ขึ้นไป
         ในปัจจันตประเทศ หรือประเทศที่เป็นชนบท หาภิกษุสงฆ์ในการเข้าร่วม
           สังฆกรรมได้น้อย กำหนดให้ต้องมีพระภิกษุสงฆ์เข้าร่วมอย่างน้อย
           ๕ รูปขึ้นไป ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันนี้ถือว่าพระศาสนามั่นคงบริบูรณ์
           มีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก จัดอยู่ในมัธยมประเทศ จึงกำหนดให้ใช้ภิกษุสงฆ์
           เข้าร่วมสังฆกรรม ๑๐ รูปขึ้นไป ถ้ามีภิกษุน้อยกว่ากำหนดถือว่าเป็น
           ปริสสมบัติบกพร่อง เป็นปริสวิบัติไป ทำการอุปสมบทไม่ขึ้น ซึ่งกรุงเทพฯ
           ปัจจุบันนี้นิยมใช้ภิกษุเข้าร่วมในการทำสังฆกรรมจำนวนประมาณ ๒๕ รูป
           ขึ้นไป หรือบางครั้งก็แล้วแต่ความประสงคของเจ้าภาพจะกำหนดจำนวน

     ๓. สีมาสมบัติ ภิกษุสงฆ์ที่จะเข้าร่วมในการให้อุปสมบทนี้ จะต้องประชุมทำ
          สังฆกรรมพร้อมกันในสีมาเดียวกันเท่านั้น จะแยกกันทำไม่ได้ แม้ในเขต
          ชุมนุมสงฆ์ หรือเขตสีมานั้นจะมีภิกษุสงฆ์ครบตามจำนวนที่กำหนดก็ตามแต่
          ทั้งหมดก็ต้องมาประชุมรวมกันในเขตสีมานั้นอย่างพร้อมเพรียงกัน ถ้าภิกษุ
          รูปใดมาไม่ได้จะต้องมอบฉันทะมาบอก มิเช่นนั้นการอุปสมบทนั้นก็ไม่สำเร็จ
          กลายเป็นสีมาวิบัติไป หรือแม้เป็นการชุมนุมในสถานที่มิใช่สีมาก็ให้การ
          อุปสมบทไม่ไดเช่นกัน เว้นไว้แต่ว่าในสถานที่เช่นนั้นไม่มีสีมา หรือไม่มีอุโบสถ
          คณะสงฆ์จะต้องสมมติสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งกำหนดเป็นเขตสีมาเสียก่อน
          จึงทำการให้อุปสมบทได้

     ๔. บุพกิจ คือ ข้อที่ผู้จะทำการบวชจะต้องกระทำให้สำเร็จก่อนที่จะขออุปสมบท
          เริ่มตั้งแต่แสวงหาภิกษุผู้ฉลาดมีความรู้ที่พอจะบอกสอนตนเองได้ ซึ่งเรียกว่า
         “พระอุปัชฌาย์” ซึ่งพระอุปัชฌาย์นี้จะเป็นผู้นำผู้ขอบวชนั้นเข้าไปหาสงฆ์
          ขอให้พระสงฆ์ทำการอุปสมบทให้ หลังจากการที่พระสงฆ์ได้บวชให้แล้วก็จะ
          เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ที่จะต้องคอยบอกคอยสอนพระธรรมวินัยตลอดจน
          สอนกรรมฐานให้ เพื่อให้รู้จักขนบธรรมเนียมการปฏิบัติตน และเจริญธรรม
          ในทางศาสนาต่อไป  นอกจากนั้นแล้วผู้บวชจะต้องเตรียมเครื่องอัฐบริขาร ๘
          ให้พร้อม คือ ผ้าจีวร สังฆาฏิ สบง บาตร มีดโกน กรองน้ำ(ธรรมกรก)
          ด้ายเย็บผ้าและเข็มเย็บผ้า (ถ้าไม่มีเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ต้องจัดหาให้)
          พร้อมทั้งปลงผมและหนวดให้เรียบร้อย ซึ่งบุพกิจเหล่านี ต้องทำให้เสร็จก่อนที่
          จะเข้าไปหาสงฆ์เพื่อทำการอุปสมบท ซึ่งในการบวชนั้นต้องให้ผู้บวชเปล่งวาจา
          ขอบวชด้วยตนเองทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้บวชอ้างความไม่พอใจภายหลัง
          ซึ่งมีพุทธบัญญัติห้ามบวชให้แก่บุคคลผู้ไม่ร้องขอ

     ๕. กรรมวาจาสมบัติ คือ การสวดประกาศกรรมวาจาในท่ามกลางสงฆ์เมื่อพระที่
          เป็นอุปัชฌาย์ได้นำผู้ที่จะบวชเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์ก็จะสมมติ
          ให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เป็นผู้ทำหน้าที่สวดตั้งญัตติประกาศเรื่องสังฆกรรมนั้น
          ให้สงฆ์รับทราบ (คำเผดียงสงฆ์) เพื่อร่วมกันทำกิจนั้นต่อไป แล้วซักถามผู้นั้น
          ถึงความพร้อมต่าง ๆ เช่น อันตรายิกธรรมและข้อห้าม เป็นต้น ถ้าเห็นว่าผู้นั้น
          มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถบวชได้ ท่านก็จะเรียกเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์
          แล้วสวดขอมติต่อคณะสงฆ์ ๓ ครั้ง(สวดอนุสาวนา) ถ้าสงฆ์ในที่นั้นฟังแล้ว
          มีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เห็นด้วยทักท้วงขึ้นมา ผู้นั้นก็จะบวชไม่ได้ แต่ถ้าสงฆ์
          ทั้งหมดนิ่งเงียบแสดงว่าทั้งหมดยอมรับการบวชนั้น ตลอดเวลาที่สวด
          อนุสาวนาไปก่อนจะครบ ๓ ครั้ง ภิกษุยังนิ่งเงียบอยู่ ครั้นครบ ๓ ครั้งตรงกับ
          คำว่า โสภาเสยฺย ครั้งที่ ๓ ภิกษุจะทักท้วงขึ้นอีกไม่ได้แล้ว ถือว่าการบวช
          นั้นสมบูรณ์

          เนื่องจากการให้อุปสมบทนี้ผู้สวดจะต้องสวดให้ถูกอักขระของภาษามคธ
          พร้อมทั้งออกชื่อของพระอุปัชฌาย์และอุปสัมปทาเปกขะด้วย ซึ่งเป็นภาษามคธ
          ทั้งสิ้น ดังนั้นในปัจจุบันเพื่อป้องกันการสวดผิดพลาด ออกอักขระไม่ถูกต้อง
          จึงนิยมสมมติให้มีผู้สวด ๒ รูป โดยรูปแรก เรียกว่า พระกรรมวาจาจารย์
          
รูปที่สองเรียกว่า พระอนุสาวนาจารย์ โดยทั้งสองจะต้องสวดพร้อมกัน
          ตั้งแต่สวดญัตติ สวดถามอันตรายิกธรรมและสวดอนุสาวนา ทั้งนี้ก็เพราะ
          ต้องการให้คำสวดนั้นสมบูรณ์ไม่ตกหล่น ถ้ารูปหนึ่งสวดผิดออกสำเนียงไม่ชัด
          ก็ยังเหลืออีกรูปหนึ่งเป็นการทำให้การสวดนั้นมั่นคงชัดเจนมากขึ้น

          หลังจากที่พระกรรมวาจาจารย์สวดจบลงก็เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์จะต้อง
          บอกสอนอนุศาสน์ ๘ อย่าง ซึ่งเรียกว่านิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ แก่ผู้บวชใหม่
          เพื่อให้รู้ธรรมเนียมที่สำคัญในการประพฤติตนในศาสนาต่อไป

         คุณสมบัติทั้ง ๕ ประการที่ได้แสดงไว้นี้ถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะบวชต้องมี
         ให้ครบ ถ้าไม่ครบถูกต้องตามนี้ แม้ข้อใดข้อหนึ่งก็ทำให้การบวชนั้นเป็นโมฆะ
         บวชมิได้ ในส่วนของวิบัติ ๕ ประการ ก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคุณสมบัติ
         ๕ ประการนั่นเอง เช่น มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปี, เคยต้องปาราชิกมาแล้ว เคยฆ่า
         บิดามารดาของตนเองมาก่อนมีพระภิกษุเข้าร่วมทำการบวชให้ไม่ครบองค์
         ไม่ได้บวชในสีมา ไม่มีพระอุปัชฌาย์ ไม่มีบริขาร ขณะสวดไม่ได้ออกชื่อผู้บวช
         ไม่ได้ออกชื่อพระอุปัชฌาย์ หรือมีพระที่นั่งอันดับนั้นคัดค้านการบวชนั้น
          สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจัดเป็น วิบัติ ของการบวชทั้งสิ้น

        การถืออุปัชฌาย์
        พระพุทธองค์ ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรม มีการอุปสมบทเป็นต้น
        ในชั้นแรกได้เล่าถึงการทรงสั่งให้พระที่บวชเข้ามาถืออุปัชฌาย์ก่อนปรารภเหตุ
        ว่า พระที่บวชเข้ามานั้นนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เข้าไปบิณฑบาตในบ้านไม่เรียบร้อย
        มีความประพฤติต่าง ๆ ไม่เรียบร้อย ในตอนนั้นซึ่งในพระบาลีไม่ได้เล่าว่าบวช
        ด้วยวิธีไหน แต่ว่าในครั้งนั้นยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทด้วย
        ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ก็น่าจะยังให้บวชกันด้วยเอหิภิกขุ อุปสัมปทา หรือ
        ติสรณคมนุปสัมปทา พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารภเหตุนั้น จึงได้ทรงสั่งให้พระภิกษุ
        ทั้งหลายถือ อุปัชฌายะ ที่แปลว่า ผู้เข้าไปเพ่ง โดยความก็คือผู้ดูแล วิธีที่ให้ถือ
        อุปัชฌายะนั้น ในตอนแรกน่าจะเช่นเดียวกับการจัดให้มีพระพี่เลี้ยงที่ใช้กันอยู่
        ในบัดนี้ แปลว่า พระที่บวชเข้ามาต้องมีภิกษุผู้บวชมานานเป็นผู้ ดูแลอีกส่วนหนึ่ง
         เรียกผู้ดูแลนั้นว่า “อุปัชฌายะ”

      การอุปสมบทบรรพชาที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ


        สำหรับวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญนั้น หากกุลบุตรท่านใดที่ประสงค์จะบรรพชา-
        อุปสมบท หลวงพ่อท่านก็อนุเคราะห์สงเคราะห์ให้ตลอดมา ซึ่งในแต่ละปีก็จะมี
        กุลบุตรที่ประสงค์จะอุปสมบทบรรพชา ได้มาให้หลวงพ่อท่านอุปสมบทให้
        ซึ่งท่านก็จัดการบรรพชา-อุปสมบทให้แบบเรียบง่ายไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
        แต่ถูกต้องตามหลักพระวิันัยทุกประการ ซึ่งหากประสงค์จะทำการ อุปสมบท
        ที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญนั้นก็ให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่วัดถ้ำพระ
        บำเพ็ญบุญ หรือกราบเรียนถามทางโทรศัพท์ไปที่หลวงพ่อ
        โทร.๐๕๓ - ๑๘๔ ๓๒๕ เพื่อที่จะได้ทราบรายละเอียด วัน เวลา กำหนดการ
        และสิ่งที่จะต้อง เตรียมก่อนการอุปสมบทบรรพชา


อ่านต่อหน้า >>I 1 I 2 I 3 I 4 I หน้าแรก >>               

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย  :  ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐ โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

www.watthampra.com             email :info@watthumpra.com