: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่
.....
หน้าแรก >>    
....
  ..

>>การอุปสมบทพระภิกษุ    

เรื่องการบวช

        เรื่อง การบวช คำนี้ ออกมาจากคำว่า ปัพพัชชา มีคำแปลอย่างหนึ่งว่าการออก
การออกที่เป็นการบวชหรือปัพพัชชานี้ ในเบื้องต้นก็เป็นการออกทางกาย คือ ออกจาก
เคหสถานบ้านเรือนมาเป็นผู้ไม่มีเรือน เพราะฉะนั้น จึงมีคำเรียกนักบวชว่า อนาคาริยะ
ที่แปลว่า คนไม่มีเรือน คนไม่มีบ้าน เพราะว่าได้ออกจากบ้านเรือนมาแล้ว เมื่อออกมา
เป็นอนาคาริยะ คือ คนไม่มีบ้านคนไม่มีเรือน
       ดังนี้แล้ว จึงต้องมี ความเป็นอยู่เกี่ยวพันกับ นิสสัย ๔ ของบรรพชิต คือ ผู้บวช

                                                สมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ สุวฑฺฒโน)
                                                        ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
                                               กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ความเป็นมา:

ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้ายังบำเพ็ญอยู่ในวิสัยแห่งพระโพธิสัตว์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ
ยังเป็นพระราชโอรส ได้เสวยสุขสมบัติอยู่ใน พระราชวัง ๓ ฤดูได้เสด็จประพาส
อุทยานก็ได้มี เทวดามานิมิตถึงเทวทูตทั้งสี่ได้แก่ คนแก่ชรา คนเจ็บป่วย คนตาย
และนักบวชนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ซึ่งในยุคนั้นเรียกว่า บรรพชิต ทรงได้พบเห็น
นิมิตเหล่านั้นทรงเกิดความสะเทือนใจ ทรงเกิดความสังเวชเศร้าหมองขึ้นในจิตใจ

เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จกลับมายังพระราชฐาน ทรงเกิดความเศร้าหมองจาก
สิ่งที่ได้พบเห็น
ได้เสด็จเข้าสู่พระราชฐานที่ประทับ และทรงบรรทมอยู่ชั่วขณะ
หนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นหมู่นางพระกำนัล ที่มีหน้าที่ขับกล่อมฟ้อนรำถวายต่างก็
เอนกายลงนอน หลับไหลมิได้สติ เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าตื่นจากบรรทมก็ได้ทรง
ทอดพระเนตรเห็นอาการวิปลาศขาดสติจากการนอนหลับไหลของนางพระ
สนมกำนัลเหล่านั้น แต่ละนางต่างก็แสดงอาการละเมอ บ้างก็นอนเกลือกกลิ้ง
มีน้ำลายไหล บ้างก็แสดงอาการอันไม่น่าดู เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น
จึงทรงรำพึงในพระทัยว่า “แต่ก่อนนั้น ห้องในประสาทที่ประทับช่างเลิศเลอ
สวยงาม มีเหล่านางในบาทบริจาริกาที่เคยสวยสดงดงามดุจนางเทพอัปสร
สวรรค์ บัดนี้เห็นวิปลาสไปประดุจซากศพในป่าช้า”
เมื่อดำริดังนั้นแล้วก็ได้
มีความ เบื่อหน่ายคลาย กำหนัดในกามคุณ ๕ ยิ่งนัก ทรงมีพระทัยโน้มเข้าหา
การบรรพชา จึึงทรงดำริที่จะออกบรรพชาในคืนนี้  ซึ่งเป็นคืนวันเพ็ญเดือน ๘
ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๒๙ พระชันษา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พระโพธิสัตว์สิทธัตถะได้ทรงตัดสินพระทัยเด็ดเดี่ยวแล้วในการบรรพชา
จึงทรงปรารถนาที่จะทรงเห็น พระโอรสเป็นครั้งสุดท้ายทรงเพ่งพิศพระโอรส
ด้วยเสน่หาอาลัยรัก หากทรงดำริว่า “แม้หากเราจะยกพระหัตถ์พระชนนี
แล้วอุ้มเอาพระโอรสขึ้นมา พระนางก็จะตื่นฟื้นจากบรรทม อันตรายต่อการ
ที่จะเสด็จออกบรรพชาก็จะพึงมี อย่าเลย ต่อเมื่อเราได้สำเร็จแก่พระโพธิญาณ
การตรัสรู้แล้วจึงจะกลับมาทัศนาลูกน้อยในภายหลัง”

เมื่อตัดสินพระทัยเช่นนั้น จึงมีรับสั่งใหันายฉันนะ ซึ่งเป็นมหาดเล็กได้จัดม้า
ถวาย ซึ่งนายฉันนะได้จัดเตรียมม้าชื่อ ม้ากัณฐกะ เป็นอัศวราชยานและ
มหาดเล็กนายฉันนะ ก็ได้ติดตามเสด็จพระโพธิสัตว์ออกจากพระราชวัง
ไปทางประตูทิศตะวันออกมุ่งสู่แคว้นมคธ ในยามนั้นพญามารพยายาม
กล่าวห้ามขัดขวางแต่ก็หาได้ทำให้พระองค์ท่านปลี่ยนแปลงพระทัยไม่
จึงได้ติดตามพระองค์ท่านประดุจเงา พระโพธิสัตว์ทรงควบม้าสิ้นระยะทาง
๓๐ โยชน์ มุ่งสู่ฝั่ง แม่น้ำอโนมา ตรัสว่า ชื่อแม่น้ำอโนมาเป็นมงคลนิมิต
ซึ่งแปลว่า ไม่ต่ำทราม คือ ยอดเยี่ยม เป็นเลิศ

พระโพธิสัตว์ทรงเสด็จลงจากหลังม้า และทรงมอบเครื่องอาภรณ์และพญาม้า
กัณฐกะให้นายฉันนะ ทรงดำริว่า “เกศานี้ไม่ควรแก่การดำรงเพศแห่งความ
เป็นสมณะ ผู้ที่จะตัดพระเกศาพระโพธิสัตว์ก็หามีไม่  จึงควรจะตัดเสียเอง”
เมื่อดำริดังนั้นจึงทรงจับพระขรรค์ด้วยพระหัตถ์ขวา และจับจุกพระเกศา
ให้เหลือยาวประมาณ ๒ องคุลีเวียนทางขวาแนบชิดพระเศียร ทรงโยนจุก
พระเกศาขึ้นไปบนอากาศ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า  “หากเราได้เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้จุกพระเกศานี้
ลอยอยู่กลางอากาศเถิด”
ซึ่งในยามนั้นท้าวสักเทวราชได้ทรงรับพระเกศาไว้
ด้วยผอบแก้วแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ใน “พระเจดีย์จุฬามณี” และ
มหาพรหมนามว่า “ฆฎิการะ” ได้นำเอาผ้าทรงไปประดิษฐานไว้ที่ทุสสเจดีย์
ในพรหมเทวโลก เมื่อทรงสำเร็จเป็นเพศบรรพชิตแล้วตรัสสั่งให้นายฉันนะ
ผู้ติดตามพร้อมม้ากัณฐกะกลับไปแจ้งข่าวการเสด็จออกบวชแก่พระราชบิดา

จากการที่พระองค์ได้ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตหรือเป็นนักบวชแล้ว
พระองค์ได้ทรงทำการศึกษา ในสำนักฤาษีต่าง ๆ ทรงบำเพ็ญเพียรอย่าง
หนักหน่วงเป็นเวลาถึง ๖ ปีเต็ม จนได้สำเร็จในพระโพธิญาณได้บรรลุมรรค
ผลวิเศษรู้แจ้งแห่งญาณทัศนะเข้าถึงความเป็นพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ทรงได้บรรลุ เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ สิ้นอาสวกิเลส
ทั้งหลาย ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพัง
พระองค์เอง ครั้นพบสัจธรรมความจริงนั้นแล้ว พระองค์จึงทรงนำสัจจธรรม
นั้น มาเผยแผ่แก่มหาชนชาวโลกผู้ที่ยังไม่รู้ความจริงให้ได้ทราบตาม
โดยครั้งแรกนั้นได้ทรงประกาศสั่งสอน ธรรมนั้นแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่เคย
เฝ้าอุปัฏฐาก ดูแลพระองค์ในครั้งที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาก่อนที่จะได้ตรัสรู้
ซึ่งในการสั่งสอนธรรม เป็นปฐมเทศนากัณฑ์แรกเกี่ยวกับเรื่องอริยสัจ ๔ คือ
ความจริงอันประเสริฐสี่ประการนั้น หนึ่งในจำนวนนั้น คือ ท่านโกณฑัญญะ
พราหมณ์ ได้เข้าใจธรรมะ คือ ได้มองเห็น ธรรมตามธรรม

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -



ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ท่านโกณฑัญญะได้ส่องญาณตามไป
จนเกิด “ธรรมจักษุ” หรือ ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงโดย
เห็นแจ้งชัดว่า“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไป
เป็นธรรมดา ”
เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเปล่งพระอุทานว่า “อัญญาสิ
วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะ
รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” เพราะพระองค์ทรงอุทานคำนี้ ภายหลัง
ท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”จากนั้นโกณฑัญญะ
ก็ทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธเจ้าประทานอนุญาต โดยทำการอุปสมบทให
้แบบ เอหิภิกขุ อุปสัมปทาน นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนาที่บวช
ตามพระพุทธองค์ จึงทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม
และพระสงฆ์ จากนั้นอีก ๕ วันทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรแก่นักบวชทั้งห้ารูป
ทำให้ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา
จึงทูลขอบวชตาม ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงประทาน “เอหิภิกขุ” ให้ด้วย
พระองค์เอง ซึ่งการบวชของท่านเหล่านั้น เราเรียกว่า “การอุปสมบท”

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


อ่านต่อหน้า >>1 I 2 I 3 I 4 I หน้าแรก >>                      

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย  :  ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐ โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

www.watthampra.com             email : info@watthumpra.com