พระอุปัชฌาย์
การบวชด้วยวิธีนี้จะมีภิกษุรูปหนึ่งนำผู้จะบวช(อุปสัมปทาเปกขะ) เข้าไปหาสงฆ์ เราเรียกภิกษุผู้นำพานั้นว่า "อุปัชฌาย์" เมื่อพระที่เป็นพระอุปัชฌาย์นำผู้จะบวชเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์จะสมมติให้ภิกษุรูปหนึ่ง(ในปัจจุบันสมมติสองรูป) ซึ่งมีความฉลาดรอบรู้เป็นกรรมวาจาจารย์ สอบถามอันตรายิกธรรมกับผู้นั้น เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเรียบร้อยถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว ก็จะสวดอนุสาวนาขอมติจากคณะสงฆ์ว่าจะยินยอมรับหรือไม่ ถ้าสงฆ์นิ่งเงียบก็ถือว่ายอมรับ ผู้นั้นก็สำเร็จเป็นภิกษุได้ในเวลาที่สวดกรรมวาจาจบลงในครั้งที่ ๑
หลังจากสวดจบแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์จะต้องบอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง คือ นิสสัย ๔ และอกรณียกิจ ๔ รวมเป็นอนุศาสน์ ๘
นิสสัย ๔
หรือ ปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยที่จำเป็นสำหรับผู้บวช คือ
- บิณฑบาตเป็นวัตร คือกิจที่จะต้องบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์และแสวงหาอาหาร
- นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ปัจจุบันคือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวรโดยปริมณฑล คือ เรียบร้อย
- อยู่โคนต้นไม้ คือ เป็นผู้ออกจากเรือนไม่มีเรือนอยู่ จึงอยู่ป่าอาศัยโคนต้นไม้
- ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือเป็นผู้สละเรือนแม้เจ็บไข้อาพาธต้องใช้สมุนไพรเป็นยา หรือหมักดองสมุนไพรเพื่อรักษาตนเอง
อกรณียกิจ ๔
หรือ กิจที่พระภิกษุสงฆ์ไม่พึงกระทำ คือ
- ปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์ หรือทำชีวิตของสัตว์อื่นให้ลำบากหรือล่วงไป
- ลักทรัพย์ คือ การลักขโมย หรือถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
- การเสพเมถุนธรรม
- การอวดอุตริมนุษย์ธรรม คือ อวดคุณวิเศษอันไม่มีในตน
เมื่อพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง แก่ภิกษุผู้บวชใหม่นั้นเพื่อมิให้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยและจะต้องดูแล ภิกษุนั้นพร้อมกับสั่งสอนธรรมไปตลอดอย่างน้อย ๕ ปี แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องจะด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น พระอุปัชฌาย์ ย้ายที่อยู่หรือมรณภาพไป ภิกษุผู้บวชใหม่นั้นจะต้องหาภิกษุอื่นที่มีความฉลาดเป็นที่อาศัยแทน ขอให้ท่านเป็นอาจารย์บอกสอนธรรมแทนพระอุปัชฌาย์ท่านนั้นไป จนกว่าอายุพรรษาจะครบ ๕ ปี เมื่อพ้น ๕ พรรษาแล้ว จึงถือว่าเป็นผู้มีความรู้ในธรรมวินัยพอรักษาตัวเองได้ ไม่ต้องถือนิสัยในอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ต่อไปก็ได้เรียกว่า นิสัยมุตตกะ
การถืออุปัชฌาย์
พระพุทธองค์ ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรม มีการอุปสมบทเป็นต้น ในชั้นแรก ได้เล่าถึงการทรงสั่งให้พระที่บวชเข้ามาถืออุปัชฌาย์ก่อน ปรารภเหตุว่า พระที่บวชเข้ามานั้นนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เข้าไปบิณฑบาตในบ้านไม่เรียบร้อย มีความประพฤติต่างๆ ไม่เรียบร้อย ในเวลานั้น ซึ่งในพระบาลีไม่ได้เล่าว่าบวชด้วยวิธีไหน แต่ว่าในครั้งนั้นยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ก็น่าจะยังให้บวชกันด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือ ติสรณคมนุปสัมปทา
พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารภเหตุนั้น จึงได้ทรงสั่งให้พระภิกษุทั้งหลายถือ อุปัชฌายะ ที่แปลว่า ผู้เข้าไปเพ่ง โดยความก็คือ ผู้ดูแล วิธีที่ให้ถืออุปัชฌายะนั้น ในช่วงแรกน่าจะเช่นเดียวกับการจัดให้มีพระพี่เลี้ยงที่ใช้กันอยู่ในบัดนี้ แปลว่า พระที่บวชเข้ามาต้องมีภิกษุผู้บวชมานานเป็นผู้ดูแลอีกส่วนหนึ่ง เรียกผู้ดูแลนั้นว่า อุปัชฌายะ
|