การขอพระราชทานวิสุงคามสีมา
ในปัจจุบันนี้ เมื่อมีการก่อสร้างอุโบสถขึ้นภายในวัดใด เมื่อการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จก่อนการทำสังฆกรรม
เกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนของอุโบสถหรือฝังลูกนิมิตนั้น ทางวัดหรือเจ้าอาวาสผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ
ในวัดนั้น ๆ ที่ได้จัดสร้างอุโบสถขึ้นใหม่จะต้องแจ้งการสร้างอุโบสถของวัดไปยังเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ
และเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเจ้าคณะจังหวัดก็จะมีคณะพระภิกษุสงฆ์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบไปตรวจสอบอุโบสถที่
จัดสร้างขึ้นใหม่ แล้วให้วัดทำหนังสือขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งหนังสือเอกสารที่นำแจ้งขอพระราชทาน
วิสุงคามสีมานี้ จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบตามลำดับที่ได้กล่าวมา และแจ้งขนาดของอุโบสถให้ถูกต้องว่า
อุโบสถมีพื้นที่ความสูง ความกว้าง ความยาว เท่าไร เมื่อเอกสารการขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้รับการ
จัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับการอนุมัติรับรองไปตามลำดับขั้น ตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ
เจ้าคณะจังหวัด และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดที่วัดนั้นสังกัดอยู่ จนถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
นำเอกสารขอพระราชทานวิสุงคามสีมานำเสนอไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อท่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงาน
ทางพระพุทธศาสนารับรองอนุมัติ ต่อจากนั้นนำทูลสมเด็จพระสังฆราชทรงประทานอนุมัติ แล้วเสนอเพื่อ
นำความกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ มีลำดับดังนี้
ปัจจุบัน การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา มีขั้นตอนและวิธีดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังนี้
๑. เจ้าอาวาสเสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามแบบ ต่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ
๒.
เมื่อเจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอ เห็นสมควรให้นำปรึกษานายอำเภอ แล้วเสนอเรื่องและความเห็น
ไปยังเจ้าคณะจังหวัด
๓. เมื่อเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควร ให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยัง
เจ้าคณะภาค และสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด
๔. เมื่อเจ้าคณะภาคเห็นสมควรแล้ว ให้ส่งเรื่องและความเห็นไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
๕. เมื่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรแล้ว จะได้นำเสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะ
รัฐมนตรีซึ่งเป็นหน่วยงานที่นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กราบทูลสมเด็จพระสังฆราช
เพื่อทรงประทานอนุมัติ แล้วเสนอเพื่อนำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
วิสุงคามสีมาเพื่อนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
๖. เมื่อพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้ว ให้นายอำเภอท้องที่ที่วัดนั้นตั้งอยู่ดำเนินการปักหมายเขต
ที่ดินตามที่ได้พระราชทานต่อไป
อนึ่ง ในการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา สำนักงานพระ พุทธศาสนาแห่งชาติจะดำเนินการขอให้กับวัด
ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และส่งรายงานการขอรับพระราชทานมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ปีละ ๖ งวด โดยจะรวบรวมรายชื่อวัดแล้วเสนอขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ๒ เดือนต่อ ๑ งวด
*******************************************
การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
มติที่
...
เรื่อง การขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๗/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๐
เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกองพุทธศาสนา
ได้รายงานว่า ปัจจุบันวัดต่าง ๆ ได้ทำเรื่องขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาโดยผ่าน
ความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองและเจ้าคณะผู้ปกครองฝ่ายสงฆ์มายัง
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อดำเนินการและเรื่องยังไม่แล้วเสร็จ ทางวัดได้ กำหนดจัดงานผูกพัทธสีมาไว้ล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
ทำให้ประสบปัญหาไม่สามารถจัดงานได้
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขอนมัสการว่า ในการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา
มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
เป็นหน่วยงานที่นำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา
และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีเรื่องอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันที่สำนักเลขาธิการ
คณะรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการให้ตามลำดับ ซึ่งไมสามารถทราบได้ล่วงหน้าว่าขั้นตอนดังกล่าว
จะดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อใด
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยกองพุทธศาสนสถาน พิจารณาแล้วเห็นควร
แจ้งเจ้าคณะจังหวัดเกี่ยวกับการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาว่า ควรได้รับพระราชทาน
วิสุงคามสีมาก่อน แล้วจึงกำหนดจัดงานผูกพัทธสีมาและตัดลูกนิมิต และแจ้งเจ้าอาวาสที่ขอรับ
พระราชทานวิสุงคามสีมา ไม่ให้กำหนดวันจัดงานจนกว่าจะได้รับประกาศ.
ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่เสนอ
(นางจุฬารัตน์ บุณยากร)
ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
*******************************************
การขอพระราชทานวิสุงคามสีมานั้น เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อถวายที่ดินบริเวณนั้น
ให้เป็นสิทธิ์ของสงฆ์
ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา คือ เขตแดนที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่
ทำสังฆกรรม เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ซึ่งคำว่า วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้าน
การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำการใด ๆ
บนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดินนั้นเป็นเขต
พุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์แล้ว ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระพุทธศาสนา ซึ่งใคร ๆ จะทำการ
ซื้อขาย จำหน่ายจ่ายโอนมิได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส คือ เป็นอาวาสหรือเขตแดนของพระพุทธเจ้า
และพระพุทธศาสนา หรือสิทธิของพระภิกษุสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์
|