: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ร่มรื่นด้วยป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โทร.053 184 325
 

พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต
พระพุทธรูปประธานในอุโบสถ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดเชียงราย ศูนย์พัฒนาคุณธรรม- จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย ได้ทำการจัดสร้างอุโบสถขึ้นจำนวนหนึ่งหลัง เพื่อใช้ทดแทนถ้ำ
ที่สมมติเป็นอุโบสถ

 
"พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต"
 

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงรายแห่งที่๕ เป็นศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย ตลอดทั้งปีจะมีกิจกรรมการปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางศาสนาและวันนักขัตฤกษ์ อีกทั้งยังมีสาธุชนเดินทางเข้าไปปฏิบัติธรรมเป็นเวลา ๓,๕,๗,๙ วัน เป็นประจำทั้งปี โดยที่ผ่านมาวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญได้ใช้ถ้ำ ซึ่งมีอยู่แต่เดิมในสถานที่สมมติเป็นอุโบสถ และทำสังฆกรรมในการบรรพชา-อุปสมบทพระภิกษุ นอกจากนี้ยังได้จัดงานประพฤติวัตรปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ เป็นประจำทุกปีๆ ละ ๒ ครั้งด้วยกัน แต่ทั้งนี้เมื่อมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมากได้ไปร่วมอยู่ปริวาสกรรมจึงทำให้บริเวณถ้ำนั้นคับแคบลง ในช่วงฤดูฝนก็เกิดน้ำเจิ่งนองก่อให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุสงฆ์ ด้วยเหตุนี้ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถขึ้นใหม่หนึ่งหลัง โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันจันทร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ จากนั้นจึงได้กำหนดให้มี พิธีเททองหล่อพระพุทธรูป ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๕๙ นิ้ว เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ อุโบสถวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

โดยนำความขึ้นกราบทูล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก โดยพระองค์ทรงพระเมตตาประทาน

  1. ทรงพระเมตตาประทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญประดิษฐานภายในองค์พระประธาน ตามพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปตามโบราณราชประเพณี จำนวน ๗ ตำแหน่ง คือ
    ๑. พระโมลี(มวยผม)
    ๒. พระนลาฏ(หน้าผาก)
    ๓. พระกรขวา(มือข้างขวา)
    ๔. พระกรซ้าย(มือข้างซ้าย)
    ๕. พระชานุขวา(หัวเข่าข้างขวา)
    ๖. พระชานุซ้าย(หัวเข่าข้างซ้าย)
    ๗.พระอุระ(หน้าอก)
  2. ทรงพระเมตตาประทานพระนามพระพุทธรูปปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๕๙ นิ้ว ซึ่งจะอัญเชิญประดิษฐานเพื่อเป็นพระประธานประจำอุโบสถวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
    โดยทรงประทานพระนามที่ "พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต"
  3. ทรงพระเมตตาประทานพระนามย่อ ญสส. (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
    สกลมหาสังฆปรินายก เพื่ออัญเชิญขึ้น ประดิษฐานบนหน้าบันอุโบสถ
    และบริเวณผ้าทิพย์องค์พระประธาน

ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นที่สักการะแด่พระภิกษุสงฆ์ และ พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ทั้งยังเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาในอันที่จะเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า และเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ในปีประสูติการครบ ๙๖ พระพรรษา และในมงคลวโรกาสที่พระองค์ทรงได้รับการสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราชครบ ๒ ทศวรรษ ในศกนี้ด้วย

ชม การสร้างอุโบสถ
คลิกลิ้งค์ที่รูป

 
 

เททองหล่อพระพุทธรูป
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้กราบนิมนต์พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๑๐๘ รูป ร่วมพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปดังกล่าว โดยมีสาธุชนได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศลด้วยการรักษาอุโบสถศีล บวชเนขัมมะ ทำบุญตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์ในช่วงเช้า เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศล อุทิศแด่บรรพชนผู้ล่วงลับ ณ บริเวณทุ่งลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่  ๒๗-๒๙ มีนาคม ๒๕๕๒

การเททองหล่อพระพุทธรูปได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ สำเร็จลุล่วงลงด้วยดี ดังภาพบรรยากาศที่นำมาให้ชม มีมหาชนไปร่วมบุญกุศลในครั้งนี้จำนวนมาก สถานที่ที่ใช้ในการเททองหล่อพระพุทธรูปนั้นก็ได้ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณ ทุ่งลุมพลี ซึ่งเป็น ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้า หรือเรียกอีกประการหนึ่งว่า พระเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การดำเนินงานในครั้งนี้ เมตตานำโดย พระครูจันทนิภากร(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยคณะพระภิกษุสงฆ์ และประชาชนพร้อมด้วยคณะศิษยานุศิษย์ได้ร่วมแรง ร่วมใจกันทำงานครั้งนี้ให้ลุล่วงลงด้วยดี ทั้งนี้โดยได้รับความเมตตาจาก คุณประชุม-คุณสกลศรี มาลีนนท์ พร้อมครอบครัวมาลีนนท์ และคณะ รวมถึงพนักงานในหน่วยงานของท่าน ได้ให้ความช่วยเหลือ ได้รับเป็นเจ้าภาพในการเททอง หล่อพระพุทธรูปในครั้งนี้

ขออนุโมทนาสาธุการ ขอกุศลนี้จงยังครอบครัวและกิจการงานของท่านเจ้าภาพ จงประสบพบแต่ ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งในปัจจุบันและอนาคตกาลเบื้องหน้านั้นด้วยเทอญฯ

   

ตำนานการสร้างพระพุทธรูป
พระพุทธรูป หรือ “พระพุทธปฏิมา” ตามภาษาบาลี หมายถึงรูปเหมือน หรือพระรูปที่ใช้แทนองค์พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาในพระพุทธศาสนา การสร้างพระพุทธรูปนั้นปรากฏอยู่ในตำนานพระแก่นจันทน์ ซึ่งได้กล่าวถึงพุทธประวัติตอนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และทรงจำพรรษาอยู่ที่ดาวดึงส์สวรรค์นั้น ๑ พรรษา 

พระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อมิได้เห็นและฟังธรรมจากผู้มีพระภาคเจ้าเหมือนเช่นแต่ก่อนมา ทำให้บังเกิดความระลึกถึงสุดที่จะระงับ เฝ้าแต่รำพึงรัญจวนอยู่มิสร่างซา ทั้งนี้ก็ด้วยความเคารพและศรัทธา พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงสั่งเจ้าพนักงานหาท่อนไม้แก่นจันทน์หอมอย่างดีมาถวาย แล้วโปรดให้นายช่างแกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางประทับนั่ง มีพระรูปโฉมงามละม้ายคล้ายพระบรมศาสดา ประดิษฐาน ไว้ในพระราชนิเวศน์ที่พระพุทธองค์เคยประทับเพื่อทอดพระเนตร และสักการบูชาเหมือนแต่ก่อนมาพอให้คลายความอาวรณ์การระลึกถึงได้บ้าง

ครั้นภายหลังเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จจากดาวดึงส์พิภพกลับมาสู่นครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงอาราธนาทูลให้เสด็จทอดพระเนตรไม้แก่นจันทน์ที่นายช่างจำลองขึ้นอันประดิษฐานอยู่ ณ พระราชสถานในพระราชนิเวศน์ พระไม้แก่นจันทน์นั้นได้กระทำเหมือนหนึ่งจิตรู้จักปฏิสันถารในกิจที่ควร อันต้องลุกขึ้นถวายความเคารพพระบรมศาสดา พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์จึงขยับพระองค์เขยื้อนเลื่อนลงจากพระแท่นที่ประทับ พระพุทธองค์ได้ทรงยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นห้าม พร้อมตรัสว่า
“เอวํ นิสีทถ"
ขอพระองค์จงประทับอยู่อย่างนั้นเถิด”

เมื่อสิ้นกระแสพุทธานุญาต พระไม้แก่นจันทน์นั้นได้ลีลาขึ้นไปประดิษฐานยังพระแท่นดุจเดิม พระเจ้าปเสนทิโกศลประสบความอัศจรรย์ บังเกิดความโสมนัส ทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมเหล่าภิกษุสงฆ์ให้รับอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ ท้าวเธอได้เสด็จอังคาส(ถวายอาหาร) ด้วยพระองค์เอง ครั้นเสร็จพุทธกิจแล้วพระบรมศาสดา จึงพาเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จกลับไปประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร

พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลโปรดให้สร้างขึ้น ตามตำนานดังกล่าวมานี้ถือได้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งสาธุชนจะได้ใช้เป็นแบบอย่างสร้างพระพุทธรูป เมื่อพระพุทธองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว 

ความที่กล่าวไว้ในตำนานประสงค์ที่จะอ้างอิงว่าพระพุทธรูปแก่นจันทน์องค์นั้น เป็นแบบอย่างของพระพุทธรูปซึ่งสร้างกันต่อมาภายหลัง หรืออีกนัยหนึ่งคือว่าพระพุทธรูปมีขึ้น โดยพระบรมพุทธานุญาตและเหมือนพระพุุทธองค์เพราะตัวอย่างสร้างขึ้นตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล

จากหลักฐานทางศิลปกรรม การสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าที่เป็นรูปมนุษย์ปรากฏเป็นครั้งแรก
ในศิลปะอินเดีย สมัยคันธารราฐ ในช่วง พุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ภายหลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จสู่ปรินิพพานแล้วประมาณ ๗๐๐ ปี   โดยปรากฏหลักฐานว่าในอินเดียโบราณสมัย ก่อนหน้านั้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓-๖ ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชยังไม่มีการสร้างรูปเคารพของพระพุทธเจ้าในรูปที่เป็นมนุษย์  แต่จะใช้รูปที่เป็นสัญลักษณ์แทนโดยเฉพาะพุทธประวัติที่ปรากฏอยู่ตามศาสนสถาน เช่น ที่สถูปสาญจีและตามเจติยสถานต่างๆ หากเป็นรูปตอนประสูติ จะแสดงด้วยรูปพระนางสิริมหามายาทรงยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ รูปตอนตรัสรู้แสดงด้วยต้นโพธิ์และบัลลังก์ และรูปตอนปฐมเทศนาแสดงด้วยธรรมจักรกับกวางหมอบ แสดงให้เห็นว่า ยังไม่มีประเพณีการสร้างพระพุทธรูปหรืออาจยังเป็นข้อห้ามอยู่

หลักฐานการสร้างพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียปรากฏขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๗ โดยเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะที่แคว้นคันธารราฐ ราวๆ พ.ศ. ๖๖๓-๗๐๕  ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรมาซิโดเนีย ทางตอนเหนือของประเทศกรีซ ได้สร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่่ครอบคลุมคาบสมุทรบอลข่าน อียิปต์ ตุรกี และเปอร์เซีย จนมาถึงดินแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียที่แคว้น คันธารราฐ ในพุทธศตวรรษที่ ๓ คติการสร้างรูปเคารพเป็นพระพุทธรูปจึงน่าจะได้แรงบันดาลใจจากอิทธิพลของชาวกรีก ที่แพร่หลายตั้งแต่ในครั้งนั้น และนำเอาคติความเชื่อต่างๆ เข้ามาผสมผสานกับความเชื่อเดิมของ ชาวพื้นเมือง ส่งผลให้นำความนิยมในการสร้างรูปเคารพเทพเจ้าของชาวกรีกมาสร้างเป็นพระพุทธรูปขึ้น ดังนั้นพระพุทธรูปสมัยคันธารราฐซึ่งเป็นสมัยแรกสุดที่มีการสร้างพระพุทธรูป จึงมีลักษณะเป็นแบบชาวกรีกค่อนข้างมาก ทั้งรูปร่างหน้าตาและลักษณะการ ครองจีวร

การสร้างพระพุทธรูปไม่ใช่การสร้างรูปเหมือนของพระพุทธเจ้าแต่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์  ดังนั้นลักษณะของพระพุทธรูปในแต่ละสกุลช่างและแต่ละสมัยจึงแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าพระพุทธรูปจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันแต่ในการสร้างพระพุทธรูป จะมีสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกว่ารูปนั้นเป็นพระพุทธองค์ เรียกว่า มหาปุริลักษณะ หรือ ลักษณะของมหาบุรุษรวม ๓๒ ประการ เช่น มีขนระหว่างคิ้ว เรียกว่า อุณาโลม มีส่วนบนของศีรษะนูนสูงขึ้นคล้ายสวมมงกุฎเรียกว่า อุณหิส หรืออุษณีษะ หรือพระเกตุมาลา นอกจากนี้ยังมีพระรัศมีที่เปล่งออกมาจากพระเศียรของพระพุทธรูป ทำเป็นตุ่มกลมคล้ายดอกบัวตูม หรือชูสูงขึ้นคล้ายเปลวไฟ

หากจะถามว่าพระพุทธรูปเริ่มเข้ามาปรากฏในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใดนั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งได้มีการค้น พบพระพุทธรูปในประเทศไทยรุ่นเก่าแก่สุด คือ พระพุทธรูปสมัยอมราวดี (ศิลปะอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๗-๙) และศิลปะสมัยคุปตะ (ศิลปะอินเดีย ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก จึงสันนิษฐานว่าเป็นสิ่งที่ ชาวอินเดียนำติดตัวเข้ามาพร้อมกับการเดินทางค้าขาย และน่าจะเป็นผู้ที่นำเอาพระพุทธศาสนา เข้ามาเผยแผ่ในดินแดนแถบนี้ด้วย

ส่วนการสร้างพระพุทธรูปในดินแดนไทยน่าจะเกิดขึ้นราวๆ พุทธศตวรรษ ที่ ๘-๙ ในสมัยก่อนทวารวดี  โดยได้พบหลักฐานการสร้างศาสนสถานพระพุทธรูปและรูปพระสงฆ์ที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง
จังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะของพระพุทธรูปและรูปพระสงฆ์ที่พบนี้ สามารถเปรียบเทียบได้ ใกล้เคียงกับศิลปะอมราวดี จึงกำหนดอายุอยู่ในราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๘-๙ และเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าดินแดนไทยเริ่มรับ พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท และรู้จักการสร้างศาสนสถานและพระพุทธรูปเป็นครั้งแรกแล้วในช่วงระยะเวลานี้
ก่อนที่จะพัฒนาเป็น ศิลปกรรมในสมัย ทวารวดีที่แพร่หลายในที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยในช่วงระหว่าง พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖

มติมหาเถรสมาคมเรื่องการสร้างพระพุทธรูป

มติมหาเถรสมาคม
ครั้งที่ ๔/๒๕๔๕

*************************

สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมมติที่ ๘๐/๒๕๔๕
เรื่อง การสร้างพระพุทธรูป ปูชนียวัตถุ และรูปปั้นต่างๆ ที่ใช้ประดับตกแต่งสถานที่
                ในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๔/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เลขาธิการมหาเถร สมาคมเสนอว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคมได้ปรารภว่ามีวัดบางแห่งได้สร้างพระพุทธ รูป ปูชนียวัตถุ และรูปปั้นต่างๆ ซึ่งเป็นรูปปั้นที่ไม่เหมาะสมกับจารีตประเพณี อันเป็นสาเหตุให้เกิดการ วิพากษ์ วิจารณ์ในหมู่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป วัดต่างๆ จึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินการจัด สร้างลงไป เห็นสมควรเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา

                ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติดังนี้
                ๑.วัดที่จะสร้างพระพุทธปฏิมา ให้ปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๙/๒๕๔๑ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑ ว่า พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะที่เกษมสูงสุด บุรพาจารย์ที่สร้างพระพุทธปฏิมาพึงพิจารณาด้วยความรอบคอบ ให้วัดทุกวัดปฏิบัติตามจารีตประเพณีดังกล่าวโดยเคร่งครัด
                ๒.วัดที่จะสร้างปูชนียวัตถุ หรือรูปเคารพ ให้ปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๒๒/๒๕๔๔ เมื่อ วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๔ ว่า การสร้างปูชนียวัตถุ หรือรูปเคารพภายในวัด ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับพระประธานภายในพระอุโบสถหรืออุโบสถ ถ้าจะสร้างให้ใหญ่ ต้องรายงานเจ้าคณะผู้ปกครอง ตามลำดับจนถึง เจ้าคณะใหญ่ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงจะดำเนินการสร้างได้
                ส่วนวัดใดที่มีความประสงค์จะสร้างรูปเคารพ หรือรูปปั้นอื่นใดควรยึดถือและปฏิบัติตามมติ มหาเถร สมาคมทั้ง ๒ ข้อดังกล่าวโดยอนุโลม และให้กรมการศาสนาแจ้งเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อแจ้งให้วัด ทุกวัดในเขตปกครองทราบและถือปฏิบัติโดยทั่วกัน

นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์
                                                (นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์)
                                                  รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน
                                                       อธิบดีกรมการศาสนา

     
       

"อานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป"
"พุทธะปูชา มะหาเตชะวันโต" แปลว่า "การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก""การสร้างพระพุทธรูปจัดว่าเป็นพุทธบูชา ถ้าในกรรมฐานจัดว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน (การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "การสร้างพระพุทธรูปเป็นพุทธบูชาเป็นพุทธานุสสติในกรรมฐาน ๔๐ กอง

หลวงพ่อปานวัดบางนมโคแนะนำว่าควรหันหน้าพระบูชาไปทางทิศตะวันออก หรือทิศเหนือ ไม่ควรหันหน้าพระบูชาไปทางทิศตะวันตก หรือทิศใต้ เพราะจะทำให้สตางค์ไม่เหลือใช้  ส่วนอานิสงส์การสร้างแท่นพระนั้นก็มีอานิสงส์เหมือนกับการสร้างพระพุทธรูป คือแท่นพระพุทธรูปเขาบกพร่องอยู่เราทำให้เต็มอย่างที่นางวิสาขาหรือพระสิวลีได้เคยทำมาในอดีตชาติ มีอานิสงส์ใหญ่มากจะเกื้อหนุนให้รวย วาสนาบารมีสูง การสร้างแท่นพระหนุนพระพุทธรูป ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าให้สูง จะทำให้ฐานะของเราดีขึ้น"   นี่จึงเป็นพระธรรมเทศนาบทหนึ่งเรื่องอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปจากหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

 
   

สร้างพระปฏิมา...ก่อเกื้อพระศาสนา
ในชีวิตหนึ่ง.....ที่เกิดมา..
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านบอกว่า...
อย่าเพียงแค่สูดลมหายใจทิ้ง...นั่นหมายถึง..
อย่าเกิดมาเพียงเพื่อสูดลมหายใจเข้าไป..
แล้วก็หายใจรดออกมา..เป็นลม...เท่านั้น
แต่จงหายใจเข้า-ออก ที่คำนึงถึงประโยชน์
ที่จะต้องทำให้แก่มวลมนุษย์..และสรรพสัตว์ร่วมโลก
พึงทำสิ่งที่ผู้อื่นทำได้ยาก...
โดยไม่คำนึงถึงกำไรและผลตอบแทน
เพราะในชีวิตหนึ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์...ประเสริฐที่สุด
และ...การเกิดในทุกชาติ...เป็นทุกข์ร่ำไป
หาความสุขได้น้อย..หรือแทบจะมิได้เลย
หรือที่ได้อยู่..ก็เป็นความสุขที่ไม่ิจิีรังยั่งยืน
พึงนึกเสมอว่า...ชีวิต..เมื่อลืมตาตื่น
ก็พบแต่ทุกข์เป็นส่วนใหญ่
จนเมื่อหลับตาลง..
ก็ยังมีความทุกข์นั้นเข้าไปครอบงำจิตใจ
ตลอดเวลาหลับ
ความสุขจึงมิเคยอยู่กับใครนาน...

ท่านเน้นย้ำ...
พึงสั่งสมความดีให้นำติดตัวติดใจไปเสมอ
นึกถึงเมื่อไรก็จะมีแต่ความสุขใจ...เย็นใจ
หากเกิดมาแล้ว...ในชีวิตหนึ่ง..
มิได้พระนิพพาน..เป็นผล
ก็พึงได้บุญกุศล...
คุณความดี...เป็นเครื่องนำไป
พึงทำสิ่งที่ผู้อื่นทำได้ยาก...
พึงสละสิ่งที่ผู้อื่นสละได้ยาก
นั่นคือ..สละความตระหนี่ถี่เหนียว
..สละความเห็นแก่ตัว
คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลักใหญ่..
เป็นหลักชัยของชีวิต
พระพุทธศาสนา...เป็นหลักใหญ่..
เป็นประโยชน์ก่อเกื้อให้แก่ทุกสรรพชีวิต
โดยไม่เลือกชนชั้น...และวรรณะ...

การสร้างพระปฏิมาองค์หนึ่ง...
ให้ผู้คนได้ยึดไว้เป็นที่พึ่งที่ระลึก
จึงเป็นกุศลที่งดงาม...
ก่อเกื้อเป็นประโยชน์
เกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนา...และผู้คน
ในชีวิตหนึ่งนี้...ท่านได้มีโอกาสทำสิ่งนั้นหรือยัง?
หากท่านมีศรัทธา...มาร่วมสร้างพระปฏิมากร
สัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์
ประดิษฐานไว้ในอุโบสถสักองค์หนึ่งเถิด
จะมาก...หรือน้อย...ก็ยังได้มีส่วนร่วม
ในการก่อสร้างกุศล...คุณความดี...
ฝากไว้ในพระพุทธศาสนา..
และในชีวิตหนึ่งนี้....
เพียงท่านมีจิตศรัทธา...
สร้างพระปฏิมากร...
เป็นพระประธาน..
ประดิษฐานไว้ในอุโบสถ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ 

ปิดทองพระพุทธรูป
พระประธานอุโบสถ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ทำการปิดทองพระพุทธรูป พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต ได้มีขึ้นในวันจันทรที่ ๒๓-๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นี้ โดยได้รับความเมตตาจากท่านเจ้าคุณ พระพิพิธพัฒนาทร วัดปริวาศ กรุงเทพฯ ได้เมตตานำคณะพระภิกษุสงฆ์และศิษยานุศิษย์ขึ้นไปทำการปิดทองพระพุทธรูปให้เป็นเวลา ๓ วัน

ซึ่งขั้นตอนการปิดทองนั้นในวันจันทร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน เมื่อคณะเดินทางไปถึงประมาณบ่าย ๓ โมง ก็ได้ทำนั่งร้านและทาสีลงรักเป็นอันดับแรก โดยสีแรกที่ลงนั้นก็เป็นพื้นสีแดง จากนั้นรอจนกระทั่งสีแห้งประมาณ ๖ โมงเย็น ก็ลงสีอีกหนึ่งรอบ รอจนสีรองพื้นแห้งก็ลงพื้นสีเหลืองเป็นสีสุุดท้ายในเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม จากนั้นท่านก็ทิ้งไว้รอให้รองพื้นแห้งในวันรุ่งขึ้น ซึ่งในวันที่ ๒๔ นี้ ท่านเริ่มลงมือทำงานกันตั้งแต่ ๖ โมงเช้าเป็นต้นไป โดยเริ่มปิดทองตั้งแต่พระเกศ พระเศียร และท่านเจ้าคุณได้ทำการปิดทองพระพักตร์ ส่วนพระภิกษุสงฆ์ท่านก็ได้ช่วยกันปิดทองจากด้านบนสุดลงสู่ด้านล่าง ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ปิดทองด้านบนก็ขึ้นอยูบนนั่งร้าน ส่วนด้านล่างก็มีอีกหนึ่งส่วนที่ทำการปิดทอง โดยเมื่อพระภิกษุท่านปิดทองจนได้เวลาพอสมควร ก็เวียนเปลี่ยนให้คณะลูกศิษย์ ฝ่ายฆราวาสขึ้นไปทำการปิดทองแทนคือท่านจะทำการปิดทองทั้งวันโดยไม่มีการหยุดพัก เมื่อพระภิกษุต้องฉันเพลคณะศิษย์ก็สับเปลี่ยนขึ้นไปทำการปิดทองต่อจนเวลา ๓ ทุ่ม ในวันรุ่งขึ้น ๖ โมงเช้า ก็ทำการปิดฐานพระพุทธรูปจนแล้วเสร็จ

   

พิธีสมโภชน์พระพุทธรูป
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เวลาประมาณ ๑๓ น. การปิดทองพระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิตได้สำเร็จลงอย่างงดงาม พระภิกษุสงฆ์จึงได้กราบนิมนต์ ท่านพระครูจันทนิภากร (หลวงพ่อถวิล จันทะสะโร) ซึ่งเป็นเจ้าภาพฝ่ายสงฆ์ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เพื่อทำการสมโภชน์พระพุทธรูป โดยท่านเจ้าคุณพระพิพิทพัฒนาทร เป็นประธานนำคณะพระภิกษุสงฆ์ ๙ รูป สวดสมโภชน์ให้อย่างเรียบง่ายและเรียบร้อยลงด้วยดี ซึ่งหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร กราบถวายเครื่องไทยทานจตุปัจจัยแด่หมู่สงฆ์ทั้งสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้นในเวลา ๑๕ น. วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน

ในนาม วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ขอกราบอนุโมทนาขอบพระคุณแด่ท่านเจ้าคุณ พระพิพิธพัฒนาทร และคณะพระภิกษุสงฆ์พร้อมศิษยานุศิษย์ทีมงาน วัดปริวาศ กรุงเทพฯทุกท่าน ที่ได้เมตตา ได้ทำการปิดทองพระพุทธรูป "พระสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต" ซึ่งเป็นพระประธาน ในอุโบสถของ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ และขอขอบพระคุณมายังท่านเจ้าภาพปิดทองทุกท่าน นำโดย คุณประชุม มาลีนนท์ ที่เป็นเจ้าภาพปิดทองในครั้งนี้ ขอกุศลทั้งมวล จงเป็นพลวปัจจัย เป็นนิสสัยเสริมส่งให้มีความสุขทุกสถานและทุกเวลาทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้นเทอญฯ 

 
   

 













            
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com
email : watthumprachiangrai@gmail.com