สังเขปประวัติ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
วั ด ถ้ำ พ ร ะ บำ เ พ็ ญ บุ ญ
๐ ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕
๐ ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เป็นวัดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุและที่ดินของกรมป่าไม้ บ้านถ้ำพระ(ห้วยหลวง-บ้านนิคมแม่ลาว) เลขที่ ๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง
อำเภอพาน
จังหวัดเชียงราย๕๗๒๕๐
โทรศัพท์-โทรสาร (๐๕๓) ๑๘๔ ๓๒๕-๖
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับแต่งตั้งเป็น
- ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕
- ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม ประจำจังหวัดเชียงราย
- วัดในสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
- หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อ.บ.ต.ธารทอง
- วัดกลุ่มเป้าหมายหมู่บ้านรักษาศีล ๕ จัดดำเนินการตามโครงการแผ่นดินธรรม
แผ่นดินทอง
หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘
- "สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ๔๕ สำนัก" พุทธศักราช ๒๕๕๔
ในวาระครบ ๒๖๐๐ ปีพุทธชยันตี
จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานมอบเกียยรติบัตร
- รับรางวัลสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่นเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๔
- รับรางวัลหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อ.ป.ต.)ดีเด่น
๑๖ จังหวัดหนเหนือ
คณะสงฆ์ภาค ๔
โดยพระวิสุทธิวงศาจารย์
เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ
ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
จ.นครสวรรค์
- ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นวัดในประวัติศาสตร์ ที่ให้การสนับสนุน โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานที่ปรึกษาโครงการ
สภาพพื้นที่
สภาพพื้นที่โดยประมาณ ๘๐ ไร่ และสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาจัดซื้อเพิ่มเติม อยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุญาตจัดสรรให้ถูกต้อง พื้นที่ทั้งหมดมีสภาพเป็นป่าภูเขาหิน มีถ้ำต่างๆ อีกประมาณ ๔-๕ ถ้ำ มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาประมาณ ๒๓๐ ครอบครัว อยู่ห่างจากถนนพหลโยธินสาย เชียงราย-พาน กม.๘๐๒-๘๐๓ ระยะทางเข้าสู่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญประมาณ ๖ กิโลเมตร เส้นทางจากถนนพหลยโยธินเข้าสู่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็นถนนซีเมนต์จนถึงสถานปฏิบัติธรรม วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ได้ถูกค้นพบและก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณในราวปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ โดยชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า ถ้ำพระ ทั้งนี้เพราะในอดีตนั้นมีพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ปางต่างๆ
อยู่ในถ้ำเป็นจำนวนมากโดยก็มิมีใครทราบว่าพระพุทธรูปโบราณเหล่านี้มาจากไหน
จึงเป็นที่เรียกกันของชาวบ้านว่า ถ้ำพระ"
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีพระสายปฏิบัติกรรมฐานแวะเวียนมาพักปฏิบัติธรรม สับเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยมา
ผู้เริ่มบุกเบิกถ้ำพระเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
เริ่มบุกเบิกถ้ำพระ
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ พระถวิล จนฺทสโร (พระครูจันทนิภากรสถานภาพปัจจุบัน) ท่านได้ไปพำนัก ปฏิบัติธรรมกับ ท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ หรือ ท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ แห่ง วัดชลประทานรังสฤกษ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากนั้นท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์ได้ส่งพระถวิล จนฺทสโร ให้ไปศึกษา อบรมหลักสูตรพระธรรมทายาทกับท่านพุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์- ปัจจุบัน ท่านมรณภาพแล้ว) ที่สวนโมกขพลาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พระถวิล จนฺทสโร เมื่อจบหลักสูตรพระธรรมทายาทที่สวนโมกขพลารามแล้วนั้น จึงได้เดินทางกลับสู่วัดชลประทานรังสฤกษ์ จากนั้นท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย ์(ท่านปัญญา นันทภิกขุ) ท่านเริ่มทำโครงการ พระธรรมทายาท อบรมพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นนักเผยแผ่ธรรมที่ดี เป็น ธรรมทายาท มิใช่ อามิสทายาท ของพระบรมศาสดา ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นที่พระถวิล จนฺทสโร ได้รับมอบหมายให้เป็นพระเลขาส่วนตัวของท่านเจ้าคุณพระธรรมโกศาจารย์หรือท่านเจ้าคุณปัญญา นันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤกษ์ ให้ช่วยเดินทางสู่การเผยแผ่ธรรม ในสายงานเผยแผ่ธรรมของท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ เป็นพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรุ่นแรกๆ ที่นำพระภิกษุสงฆ์ขึ้นไปเผยแผ่ธรรมภาคเหนือ คือ เชียงราย
พระถวิล จนฺทสโร ท่านจึงได้นำคณะภิกษุสงฆ์เดินทางขึ้นไปเผยแผ่ธรรมอยู่ที่เชียงราย จนเสร็จสิ้นภารกิจด้านการเผยแผ่พระธรรมทายาทเขตภาคเหนือ
พระถวิล จนฺทสโร ได้เดินทางกลับสู่วัดชลประทานรังสฤกษ์ และได้กราบขออนุญาตกับท่านเจ้าคุณปัญญานันทภิกขุ เพื่อขอออกจาริกธุดงค์กลับไปเชียงรายอีกครั้งตามลำพังองค์เดียว ท่านได้ออกจาริกธุดงค์แสวงบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ไปพักบำเพ็ญเพียรทางจิตภาวนาตามป่าเขา ตามถ้ำต่างๆ และได้จาริกธุดงค์แสวงบุญย้อนกลับไปภาคเหนือโดยมีจุดหมายมุ่งตรงคือ..เชียงราย และได้ไปพักอยู่ช่วยเผยแผ่ธรรมที่เชียงรายอีก ๑ ปี จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ จากนั้นท่านรู้สึกเบื่อหน่ายต่อภาระเหล่านี้จึงได้สละตำแหน่งและลาออกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านดู่ มอบหมายหน่าที่และสิ่งต่างๆ ของวัดบ้านดู่ให้พระภิกษุองค์ต่อไป จากนั้นจึงเก็บกลด บาตร ไตรจีวรแล้วออกจาริกธุดงค์ โดยท่านได้จาริกเข้าไปปฏิบัติธรรมที่ธุดงค์สถาน "ถ้ำพระ"
ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ พระถวิล จนฺทสโร ได้จาริกธุดงค์มุ่งสู่การปฏิบัติธรรมโดยได้ไป พักค้างปักกลดที่ถ้ำพระ อีกครั้ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นถ้ำพระยังเป็นป่ารกชัฏ ภูเขาหิน มีแต่ถ้ำ ยังไม่ได้ตั้งเป็นวัด เป็นเพียงธุดงค์สถานถ้ำพระ ท่านได้มาแวะพักปฏิบัติธรรมที่ ถ้ำพระ โดยท่านปักกลดพักค้างอยู่ในถ้ำพระ ซึ่งเป็นถ้ำอยู่บนภูเขา ในเวลานั้นยังเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ สถานที่แห่งนี้เป็นที่สัปปายะ เงียบสงบ อยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร ท่านได้มาพักปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระแห่งนี้เป็นเวลาประมาณ ๗ วัน ท่านได้นิมิตฝันไปว่ามีโยมคุณยายผู้หญิงท่านหนึ่ง แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายโบราณแบบล้านนาทางเหนือมาเข้านิมิตฝัน หญิงผู้นี้นิมนต์ให้ท่านอยู่จำวัดที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ การมานิมิตฝันนั้นได้เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา ๓ คืน พระถวิล จนฺทสโร ท่านก็มิได้รับกิจนิมนต์นั้น
พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้ออกจาริกธุดงค์ต่อไปอีก โดยจาริกไปพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ป่าช้าผีดิบบ้านคลองเตย อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ท่านก็ได้นิมิตฝันว่าท่านได้เหาะเข้ามาอยู่ยังสถานปฏิบัติธรรมถ้ำพระ อีกครั้งหนึ่งก่อนออกพรรษาปีพุทธศักราช ๒๕๓๑
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑-๓๒ นั้น ท่านก็ได้เดินทางจาริกธุดงค์ย้อนกลับขึ้นมาทางภาคเหนืออีกครั้ง โดยมีจุดหมายปลายทางคือ เชียงราย ในครั้งนี้ท่านได้แวะเข้ามาพักปฏิบัติธรรมที่ ถ้ำพระ นับแต่นั้นมาท่านก็อยู่จำพรรษาในสถานที่ถ้ำพระแห่งนี้ (รายละเอียดส่วนนี้อ่านได้ในประวัติหลวงพ่อถวิล จนฺทสระ)
ถ้ำพระและป่ารกชัฏ
ถ้ำพระ แห่งนี้ แต่แรกนั้นยังเป็นทุ่งโล่งที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาหิน มีป่าไม้ปกคลุมโดยรอบ มีถ้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ๓-๔ ถ้ำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุและที่ดินของกรมป่าไม้ เหตุที่ชาวบ้านเรียกพื้นที่แห่งว่า "ถ้ำพระ"
สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกพื้นที่แห่งว่า"ถ้ำพระ" เพราะในอดีตนั้นถ้ำแห่งนี้มีพระพุทธรูปโบราณอยู่ในถ้ำ เป็นจำนวนมาก โดยชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มาจากไหน มาอยู่ในถ้ำแห่งนี้ได้อย่างไร จึงทำให้ชาวบ้านพากันเรียกขานว่าเป็น ถ้ำพระ แต่ในปัจจุบันบริเวณปากถ้ำหลายแห่งปิดตัวลงเองโดยอัตโนมัติ เหลือไว้เฉพาะพื้นที่บริเวณโพรงถ้ำเป็นพื้นที่สำหรับให้สงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมเท่านั้น
พระถวิล จนฺทสโร เมื่อท่านตัดสินใจที่จะตั้งสำนักปฏิบัติธรรมในที่แห่งนี้ด้วยเห็นเป็นที่สัปปายะ เงียบสงบร่มรื่น ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๓ ก.ม. เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต และ ยังมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์สำหรับการปฏิบัติธรรมนั้นเอง ขณะนั้นได้มีผู้มีจิตศรัทธาเดินทางมาขอจัดทำผ้าป่าสร้างศาลาธรรมหลังเล็กๆ ถวายให้กับพระถวิล จนฺทสโร ศาลาธรรมหลังแรกของสถานปฏิบัติธรรมถ้ำพระจึงถูกจัดสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ด้วยแรงงานจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงแห่งนั้น ด้วยความประหยัดแต่มุ่งเน้นประโยชน์สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา
ท่านได้ชักชวนเชิญชวนสาธุชนมาร่วมปฏิบัติธรรมซึ่งก็มีสาธุชนมาร่วมปฏิบัติธรรมร่วมร้อยชีวิต เมื่อได้ผลดังนั้นท่านจึงดำริจัดงานปฏิบัติธรรม ปริวาสกรรม เพื่อสงเคราะห์แด่หมู่สงฆ์ ทั้งยังเมตตานำพระภิกษุสงฆ์และสาธุชนร่วมปฏิบัติธรรมมาโดยตลอดนับแต่นั้นจวบจนปัจจุบัน และเมตตาตั้งชื่อสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า ธุดงค์สถานถ้ำพระ
ธุดงค์สถานถ้ำพระ ในพื้นที่แห่งนี้ยังไม่มีอาคารที่พักเพื่อรองรับผู้ปฏิบัติธรรม พระถวิล จนฺทสโร ท่านจึงได้ขอรอมฟางข้าวจากชาวบ้านที่ทำนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวก็จะเหลือฟางข้าวทิ้งไว้ ท่านจึงขอนำมาทำเป็นที่พัก โดยมีชาวบ้านใกล้ถ้ำพระได้เข้ามาช่วยกันจัดทำศาลามุงฟาง นำไม้ไผ่มาตอกเป็นเสา สานไม้ไผ่เป็นโครงเพื่อทำฝาผนังจากฟางข้าง ทุกสิ่งที่ประกอบเป็นห้องพักจึงทำมาจากฟางข้าวของชาวนาในละแวกรอบถ้ำพระแห่งนั้น โดยได้แรงกายและน้ำใจจากชาวบ้าน ที่ต้องการให้มีพระภิกษุสงฆ์ได้มาอยู่จำพรรษา นำปฏิบัติธรรม การสร้างห้องพักมุงฟางจึงเกิดขึ้นมา ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยผู้ที่ประสงค์จะร่วมปฏิบัติธรรมก็ไม่มีท่านใดรังเกียจห้องพักมุงฟางแห่งนี้ แต่ในครั้งแรกกลับมีผู้มาเข้าร่วมปฏิบัติธรรมจำนวนมากพอควร ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้พระถวิล จนฺทสโร ท่านได้มองเห็นแนวทางในการที่จะส่งเสริมให้สาธุชนได้ร่วมปฏิบัติธรรม ปลูกฝังศีลธรรมให้กับสาธุชนญาติธรรม ท่านจึงได้กราบนิมนต์พระภิกษุสงฆ์และชักชวน เชิญชวนญาติธรรมให้มาร่วมปฏิบัติธรรม
ศาลามุงฟางและทุ่งโล่ง
ศาลามุงฟาง
ฟางข้าวได้ถูกดัดแปลงนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่้าและก่อประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ด้วยในเวลานั้นถ้ำพระ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องใช้แสงสว่างจากแสงเทียน แต่แล้วก็เกิดเหตุขึ้นเมื่อผู้สูงอายุที่มาร่วมปฏิบัติธรรมได้ทำเทียนล้ม จึงเกิดไฟลุกไหม้ติดฟางเป็นที่โกลาหลขึ้น
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ในขณะนั้นท่านจึงเริ่มพัฒนาโดยการยืมและเช่าเต้นท์มากางกันแดด-ฝน เป็นที่พักให้กับผู้ปฏิบัติธรรม โดยเริ่มโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เป็นการอบรมเด็กที่มารับการบรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งก็ได้มีญาติธรรมที่เคยมาร่วมปฏิบัติธรรมนำบุตรหลานมาบรรพชาภาคฤดูร้อนเป็นจำนวนมาก ญาติธรรมและสามเณรจึงมีที่พักเป็นเต้นท์ผ้าใบ พระภิกษุสงฆ์ก็ใช้กลดกางรอบสระน้ำ แต่ปัญหาคงยังไม่จบลงโดยง่าย เพราะเมื่อใช้เต้นท์กาง ครั้นพอฝนตกลงมาพร้อมด้วยลมพัดจึงทำให้น้ำฝนไหลนองเข้าเต้นท์ที่พัก ลมแรงพัดตีเต้นท์กระจุยกระจาย จนทำให้เณรร่วมร้อยชีวิตต้องช่วยกันหอบผ้าและกลดวิ่งหนีฝนที่ไหลเข้าเต้น์กันอย่างชุลมุนวุ่นวาย
"สร้างลานธรรม"
การจัดสร้าง"ลานธรรม"
พระถวิล จนฺทสโร ท่านเห็นว่าพื้นที่โดยรอบของถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็นถ้ำและภูเขาหิน รายล้อมไปด้วยป่าอันร่มรื่น จึงมีดำริในการจัดพื้นที่เพื่อให้มีสถานที่สำหรับให้พระภิกษุสงฆ์และสาธุชน ได้มีสถานที่ปฏิบัติธรรมเป็นกิจลักษณะ ท่านจึงประชุมขอแรงจากชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์ ได้ช่วยกันจัดระเบียบพื้นที่ถ้ำพระขึ้นใหม่ โดยการถากถางจัดการความรกชัฏเหล่านั้น แล้วจัดสร้างที่ปฏิบัติธรรมโดยท่านประสงค์จะสร้าง "ลานปฏิบัติธรรม" ขึ้นบนเชิงเขาแห่งนี้
การจัดทำสถานลานปฏิบัติธรรมแห่งนี้นั้น หลวงพ่อท่านได้เมตตาเล่าไว้ว่า ท่านได้นิมิตฝันว่า สถานลานธรรมที่จะดำเนินการสร้างขึ้นในที่แห่งนี้นั้น รูปแบบของสถานลานธรรมจะเกิดขึ้นบนเชิงเขา โดยมีบันไดทางขึ้นสองข้างเป็นรูปทรงกลมดั่งรอยเท้าช้างเป็นทางเดินซ้าย-ขวา ตรงกลางเป็นกระบะใหญ่เพื่อปลูกดอกไม้ให้สวยงาม ด้านบนเป็นรูปครึ่งวงกลมลดลั่นเป็นชั้นๆ ตามลำดับ อุปมาเปรียบได้ดั่งลำดับชั้นของการปฏิบัติธรรมตามลำดับขั้นตอน อุปมาบันไดคือทางเดินเข้าสู่หนทางแห่งมรรค-ผล
- ลานธรรมชั้นแรก..อุปมาคือพระโสดาบัน
- ลานธรรมชั้นสอง..อุปมาคือพระสกิทาคามี
- ลานธรรมชั้นสาม..อุปมาคือพระอนาคามี
- ลานธรรมชั้นสี่..คือพระอรหันต์ และ
- ตรงใจกลางสูงสุดของลานธรรมมีพระพุทธรูป เป็นพระประธานตั้งอยู่ในซุ้ม อุปมาดั่งเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และมีซุ้มอาสนะมุงฟางเพื่อให้พระสงฆ์แสดงธรรม
เมื่อท่านได้นิมิตฝันเช่นนั้น จึงได้เล่าความฝันให้กับคณะพระภิกษุสงฆ์้ลูกศิษย์ได้ฟัง พระภิกษุสงฆ์ท่านจึงรับอาสาได้ร่วมกันวาดภาพตามนิมิตฝันของหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ในเวลานั้น เพื่อใช้เป็นแผนผังในการดำเนินการจัดสร้าง "ลานปฏิบัติธรรม" ขึ้นบนเชิงเขาแห่งนี้
สร้างศาลาปฏิบัติธรรม
สร้างศาลาปฏิบัติธรรมจันทนิภากร ๑
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านจึงดำริที่จะจัดสร้างศาลาปฏิบัติธรรมขึ้น
ทั้งนี้ก็เพราะท่านเห็นถึงความลำบากของญาติธรรม
ซึ่งบางครั้งที่ใช้เต้นท์กางเป็นที่พัก แต่เมื่อฝนตกลงมาอย่างหนักก็ทำให้น้ำเจิ่งนอง เต้นท์ที่พักถูกลมพายุตีจนกระเจิง ผ้าห่ม ที่นอน หมอน
มุ้ง ต่างก็เปียกฝนจนเกิดความเสียหายหลายครั้ง ความมุ่งมั่นที่ท่านจะสร้างศาลาขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมรวมถึงเป็นที่พักมีอยู่ตลอดเวลา แต่ความลำบากยุ่งยากก็เกิดขึ้นเป็นเครื่องทดลองตลอดเวลานั้นอีกเช่นกัน ทั้งนี้ด้วยท่านเป็นพระที่อยู่ป่าไม่มีปัจจัยที่จะใช้สร้าง การจะสร้างศาลาหลังนี้คงต้องใช้งบประมาณหลายล้านบาท
ปีนั้นเองได้มีกลุ่มท่านผู้มีจิตศรัทธาโดยท่านเหล่านี้ได้เดินทางไปเที่ยวเชียงราย ในช่วงวันหยุดสงกรานต์และได้โทรศัพท์ไปสอบถามถึงหนทางที่จะไปสู่ ถ้ำพระ พร้อมแจ้งความประสงค์ว่าในวันที่ ๑๙ เมษายน เวลา
๕ โมงเย็น ทางคณะจะแวะไปทอดผ้าป่า เพราะเป็นทางผ่าน ซึ่งหลวงพ่อท่านก็รับฟังและก็รับรู้ไว้เพียงนั้น เพราะผู้ที่โทรศัพท์ไปก็ไม่ได้รู้จักหลวงพ่อและไม่เคยเดินทางไปที่แห่งนี้มาก่อน จึงไม่มีอะไรเป็นเรื่องรับรองว่าจะเป็นดังนั้นหรือไม่ แต่เมื่อถึงกำหนดทั้งคณะก็มาตามที่นัดหมายไว้ ทั้งคณะได้ขึ้นสู่ศาลาหลังเล็กและก็ตั้งต้นผ้าป่าอย่างง่ายๆ ร่วมลงขันช่วยกันรวบรวมปัจจัย เป็นจำนวนเงิน
๑ ล้านบาท โดยไม่มีเงื่อนไขทั้งสิ้น หลวงพ่อเองก็คิดไม่ถึงว่าทุกท่านเหล่านี้จะสร้างกุศลอย่างง่ายๆ ไม่มีพิธีกรรมใดๆ ไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน การทอดผ้าป่าถวายปัจจัยจึงเกิดขึ้นโดยไม่มีกำหนดการใด ทำบุญทอดผ้าป่าเสร็จก็พากันเดินทางต่อไป เป็นที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง
ปัจจัยเหล่านั้นเป็นต้นบุญเบื้องต้นที่ทำให้ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้ริเริ่มก่อสร้าง ศาลาปฏิบัติธรรมจันทนิภากร๑ ขึ้นมา เมื่อศาลาปฏิบัติธรรมเริ่มก่อสร้างรากฐาน
ก็ทำให้ศรัทธาญาติธรรมคือ คุณแม่วิภา พิสิฐบัณฑูลร์ ได้เป็นเจ้าภาพร่วมมุงหลังคา ร่วมถวายกระเบื้องปูพื้น พร้อมญาติธรรมผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันถวาย
ปูน
อิฐ
หิน ทราย กระทั่งเข้าสู่ปีที่ ๔ ศาลาหลังนี้จึงสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี
ใช้อรรถประโยชน์ได้อย่างสูงสุดในกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตราบจนปัจจุบัน
"อุโบสถถ้ำ"
"อุโบสถถ้ำ"
ถ้ำพระ เป็นที่สัปปายะ มีถ้ำตามธรรมชาติจำนวน ๔-๕ ถ้ำ ดังนั้นท่านจึงใช้ "ถ้ำ" สมมติเป็นอุโบสถชั่วคราว ทั้งนี้ ถ้ำพระ ยังไม่มีอุโบสถใช้ แต่การจัดทำสังฆกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้อุโบสถในการทำสังฆกรรม ถ้ำที่ใช้เป็นอุโบสถชั่วคราวก็คับแคบ บรรจุพระภิกษุสงฆ์ในการทำสังฆกรรมได้ประมาณ ๒๐-๓๐ รูป และในระหว่างจำพรรษา "ถ้ำ" ก็มีน้ำเจิ่งนอง ซึ่งเมื่อพระภิกษุสงฆ์ใช้ ถ้ำ ในการทำสังฆกรรม เช่นบวชพระ พื้นถ้ำก็ชื้นแฉะไปด้วยน้ำ ก่อให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง พระครูจันทนิภากร (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) เืมื่อได้นำปฏิบัติธรรมและเผยแผ่ธรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่พระภิกษุสงฆ์ ผู้จาริกแสวงบุญและธุดงค์แวะเวียนมาปฏิบัติธรรมยังสถานที่แห่งนี้ ท่านได้ริเริ่มจัดงาน "ปริวาสกรรม" เพื่อสงเคราะห์แด่หมู่พระภิกษุสงฆ์
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้เปลี่ยนชื่อถ้ำพระ เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาจากเดิมที่เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เป็น วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ให้ถูกต้องตามกฏของมหาเถรสมาคม
ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการแต่งตั้งจาก กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
เป็น ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดเชียงราย แห่งที่ ๕ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี และได้รับแต่งตั้งเป็น "ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม
ประจำจังหวัดเชียงราย" เพื่อเป็นสถานที่อบรมข้าราชการ
หน่วยงาน
รัฐวิสาหกิจ อบรมผู้นำ อ.บ.ต. และผู้นำชุมชนในจังหวัดเชียงรายอีกประการหนึ่งด้วย
ดำริสร้างอุโบสถ
สร้างอุโบสถ
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านมีดำริที่จะสร้างอุโบสถขึ้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ก่อให้เกิดความจำเป็นที่ท่านดำริก่อสร้างอุโบสถเพื่อเป็นประโยชน์โดยตรงไว้ในพระพุทธศาสนา และเพื่อประโยชน์ใหญ่แด่หมู่พระภิกษุสงฆ์ที่จำเป็นต้องใช้อุโบสถในการทำสังฆกรรม ไม่เพียงเฉพาะงานปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นสถานที่บรรพชา-อุปสมบท แก่ผู้ที่ประสงค์จะบรรพชา-อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญแห่งนี้
อุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ จึงมากด้วยประโยชน์คุณูปการดังกล่าว อุโบสถ เป็น วิสุงคามสีมา เพื่อยังประโยชน์สำหรับสืบทอดพระพุทธศาสนาและเกื้อกูลแด่หมู่สงฆ์ สามเณร ชีพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงพระธรรมวินัย และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เป็นอานิสงส์อย่างยิ่งแห่งการ สร้างอุโบสถ ซึ่งเป็น วิหารทาน มีอานิสงส์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสรรเสริญถึงอานิสงส์แห่งบุญ และแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องการสร้างวัดหรือส่วนประกอบของวัด เช่น ที่ดินหรือศาสนวัตถุต่างๆ โบสถ์ วิหาร ศาลา
กุฏิสงฆ์ เสนาสนะถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
ไว้ดังนี้
อานิสงส์แห่งวิหารทาน
- "ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง" (สังยุตตนิกาย)
- "ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ย่อมมีบุญเจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน เขาทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลและเป็นผู้ไปสวรรค์"(วนโรปสูตร)
- พระพุทธองค์ทรงยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า การถวายวิหาร(วัด) ที่อยู่อาศัยแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นสมุฏฐาน ก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งผู้รับและผู้ถวาย
ซึ่งทรงแสดงอานิสงส์ไว้ว่าเป็นยอดของสังฆทานและเป็นปัจจัยให้ประสบความเกษมศานต์ จนบรรลุถึงพระนิพพาน (วิหารทานกถา) โดยตรัสไว้ว่า
"วิหารย่อมป้องกันหนาว ร้อน และเนื้อร้าย นอกจากนั้นยังป้องกันงูและยุง
ฝนในสิสิรฤดู นอกจากนั้นวิหารยังป้องกันลมและแดดอันกล้าที่เกิดขึ้นได้ การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณาและเพื่อเห็นแจ้ง
พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุนั้นแล คนผู้ฉลาดเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ตน พึงสร้างวิหารอันรื่นรมย์ให้ภิกษุทั้งหลายผู้พหูสูต อยู่ในวิหารนี้เถิด อนึ่งพึงมีใจเลื่อมใสถวายข้าว น้ำ ผ้าและเสนาสนะอันเหมาะสมแก่พวกเธอ ในพวกเธอผู้ซื่อตรง พราะพวกเธอย่อมแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบรรเทาสรรพทุกข์แก่เขา เขารู้ทั่วถึงแล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพานในโลกนี้"
ทานํ สคฺคสฺส โสปนํ ทานกุศลจัดว่าเป็นบันได้ขั้นแรกที่จะนำขึ้นสู่สวรรค์
ทานํ ปาเถยฺยมุตตมํ ทานกุศลจัดว่าเป็นเสบียงอันประเสริฐ
ทานํ อุชุคตํ มคฺคํ ทานกุศลจัดว่าเป็นทางสายตรงไปสู่พระนิพพาน
ทานํ โมกฺขปทํ วรํ ทานกุศลจัดว่าเป็นบาทให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น
การสร้างวัด สร้างอุโบสถของพระสงฆ์หรือของอุบาสกอุบาสิกาต่อพุทธศาสนาก็ดี
จัดเป็นวิหารทาน เป็น ทานอันเลิศ ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก
การสร้างอุโบสถวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ นำโดยคณะศรัทธา คุณประชุม มาลีนนท์ พร้อมครอบครัว มาลีนนท์ และคณะ ได้เป็นเจ้าภาพต้นบุญในการดำเนินการริเริ่มก่อสร้างอุโบสถหลังดังกล่าวนี้ โดยได้มอบหมายให้ คุณพรเดช อุยะนันทน์ เป็นวิศวกรดูและควบคุมแนะนำการจัดสร้าง ร่วมด้วยคุณศิริชัย รณเกียรติ, คุณศรีชัย รุจิรวัฒนกุล และคุณจมร ปรปักษ์ปลัย สถาปนิกจากกรมศิลปากรเป็นผู้ถวายการออกแบบอุโบสถ
สถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์
โดยรูปแบบอุโบสถนั้นออกแบบเป็นอุโบสถแบบ ๒ ชั้น ศิลปล้านนาประยุกต์ มีความกว้าง ๑๓ เมตร ความยาว ๓๓ เมตร สามารถรองรับการทำสังฆกรรมสำหรับพระสงฆ์ลงทำสังฆกรรมได้ประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ รูป
ซึ่งก็เป็นอุโบสถที่มีขนาดกระทัดรัด งดงามเย็นตา เย็นใจ
การสร้างอุโบสถหลังนี้ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านดำริให้ปรับพื้นที่โล่งบนภูเขาสูง ให้เป็นพื้นที่ราบเพื่อสำหรับใช้เป็นที่ตั้งของโบสถ์ ซึ่งเดิมบริเวณที่จะทำการปลูกสร้างอุโบสถนั้นเป็นที่ดินเชิงเขา
ท่านได้ทำการปรับหน้าดินให้ราบ แล้วนำดินส่วนที่ปรับออกมานั้นนำไปถมที่ลุ่มน้ำขังบริเวณหน้าวัดเพื่อใช้้สำหรับเป็นที่จอดรถ หรืออาจจะทำเป็นลานปฏิบัติธรรมในอนาคตภายหน้า
ในการนี้ยังได้รับความเมตตาจาก พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสังวโร ได้มีเมตตาช่วยเหลือกิจกรรมการก่อสร้างอุโบสถหลังนี้ให้ดำเนินการลุล่วงด้วยดีตลอดมา
อุโบสถชั้นบน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระประธาน"พระพุทธสุวรรติโลกนาถปุญญาวาสสถิต"และพื้นที่บริเวณชั้นบนนี้เพื่อทำสังฆกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ส่วน
อุโบสถชั้นล่าง
เป็นที่สำหรับอบรมการปฏิบัติธรรมที่เป็นหมู่คณะ หรือปรับทำเป็นห้องสมุดในอนาคตส่วนหนึ่งเพื่อเก็บรวบรวมหนังสือธรรมะต่างๆ ให้ผู้ที่สนใจได้เล่าเรียนอ่านประดับความรู้
สร้างพระประธานอุโบสถ
|
|
ทุ่งลุมพลี สถานที่ทำพิธีหล่อพระประธาน |
|
พิธีเททองหล่อ"พระพุทธสุวรรติโลกนาถปุญญาวาสสถิต"
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร เมื่อทำการก่อสร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว จึงมีดำริในการจัดสร้างพระพุทธรูปพระประธานเพื่อประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โดยคุณประชุม มาลีนนท์ พร้อมครอบครัวมาลีนนท์และสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาได้รับเป็นเจ้าภาพจัดสร้าง โดยได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงประทานพระนามพระพุทธรูปที่ พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต และทรงพระเมตตาประทานพระสารีริกธาตุเพื่อบรรจุไว้ในพระเศียรและส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูป และได้จัดพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป เมื่อ วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรทรงม้า ทุ่งลุมพลี ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
พิธียกช่อฟ้าอุโบสถ
พิธียกช่อฟ้าอุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เมื่อได้ทำการก่อสร้างอุโบสถเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ซึ่งเป็นประธานสงฆ์และเจ้าอาวาสวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ จึงได้จัดพิธีกรรมยกช่อฟ้าอุโบสถ อันเป็นส่วนประกอบของอุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
พิธีอัญเชิญวิสุงคามสีมา
พิธีอัญเชิญวิสุงคามสีมา
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
การขอพระราชทานวิสุงคามสีมานั้นเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพื่อถวายที่ดินบริเวณนั้น ให้เป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา คือ เขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ซึ่งคำว่า วิสุง แปลว่า ต่างหาก ส่วนคำว่า คาม แปลว่า บ้าน
การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำการใดๆ บนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อมีพระบรมราชานุญาตพระราชทานที่ดินนั้นเป็น เขตพุทธาวาสแก่หมู่สงฆ์แล้ว ที่ดินที่พระราชทานนั้นก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระพุทธศาสนา ซึ่งใครๆ จะทำการซื้อ ขาย จำหน่าย จ่ายโอน มิได้โดยเด็ดขาด ถือเป็นเขตพุทธาวาส คือ เป็นอาวาสหรือเขตแดนของพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนา หรือเป็นสิทธิของพระภิกษุสงฆ์โดยถูกต้องสมบูรณ์
พิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิตอุโบสถ
พิธีผูกพัทธสีมา..ฝังลูกนิมิตอุโบสถ
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ประธานสงฆ-์เจ้าอาวาส วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วนั้น จึงได้จัดพิธีกรรมทางศาสนาด้วยการจัดทำพิธีกรรม ฝังลูกนิมิต เพื่อเป็นการบ่งบอกเขตของวิสุงคามสีมาหรือ เขตวัด ให้ถูกต้อง ตามหลักกฏหมายของบ้านเมือง หรือผูกพัทธสีมา โดยเจ้าภาพลูกนิมิตเอกนำโดย คุณไพรวงษ์-คุณภัสสรา เตชะณรงค์และครอบครัวเตชะณรงค์ ตามด้วยเจ้าภาพส่วนอื่นอีกหลายท่าน
คำว่า สีมาแปลว่าเขตแดน ที่พระพุทธองค์ได้กำหนดไว้มี ๘ ประการ และเรียกเครื่องหมายบอกเขตแดนนี้ว่า นิมิต" โดยในสมัยพุทธกาลใช้เครื่องหมายตามธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ต้นไม้ แต่นิมิตเหล่านี้ทำให้การกำหนดเขตแดนที่จะทำสังฆกรรมของสงฆ์ทำได้ยาก และมักคลาดเคลื่อน
ต่อมาจึงได้มีการพัฒนากำหนดนิมิตขึ้นใหม่อีกประเภทหนึ่งขึ้นแทน
คือ เป็นนิมิตที่จัดสร้าง หรือทำขึ้นเฉพาะเช่น ขุดบ่อน้ำ คูน้ำ สระน้ำ
และพัฒนามาใช้ก้อนหิน ที่ทำเป็นลูกกลมๆ เป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทน และเรียกกันว่า ลูกนิมิตดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีการเรียกเขตแดนที่ใช้ทำสังฆกรรมนี้ว่า อุโบสถ หรือ โบสถ์
ซึ่งสมัยก่อนโบสถ์คงมีลักษณะตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็นถาวรวัตถุเช่นปัจจุบัน และเมื่อมี ลูกนิมิตเป็นเครื่องหมายบอกเขต ต่อมาก็มีพิธีที่เรียกว่าการ ฝังลูกนิมิต ขึ้นด้วย
สร้างอาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรม
สร้างอาคาร ๓ ชั้น ที่พักผู้ปฏิบัติธรรม
จากการที่ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญโดยพระครูจันทนิภากร(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) มุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมไปในหลักของวิปัสสนากรรมฐานและสมถกรรมฐาน ตามหลักของพระพุทธศาสนา กอร์ปกับวัดยังมีสถานที่อันสัปปายะ สงบเงียบ สะอาด และวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญยังได้รับแต่งตั้งเป็น "ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม
ประจำจังหวัดเชียงราย" เพื่อเป็นสถานที่อบรมข้าราชการ
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อบรมผู้นำ อ.บ.ต. และผู้นำชุมชนในจังหวัดเชียงรายอีกประการหนึ่ง ทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น หน่วยอบรมประชาชน ประจำตำบล อ.บ.ต.ธารทอง และเป็นวัดกลุ่มเป้าหมายจัดดำเนินการตามโครงการ "แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง" หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ นั้น จึงทำให้มีสาธุชน อุบาสก-อุบาสิกาเดินทางเข้าไปปฏิบัติธรรมตลอดปี ที่พักผู้ปฏิบัติธรรมจึงไม่เพียงพอที่จะรองรับสาธุชน
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร จึงดำริจัดสร้าง อาคารจันทนิภากร ๒ เป็นที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติขึ้น ได้รับการถวายแบบอาคารจาก คุณพรเดช อุยะนันนท์ และยังปวารณาดูแล ให้คำปรึกษาในการก่อสร้างอาคาร รูปแบบเป็นอาคาร ๓ ชั้น มีจำนวนห้องพัก ๓๒ ห้อง แต่ละห้องบรรจุผู้เข้าปฏิบัติธรรมให้พักได้ห้องละ ๘-๑๐ ท่าน เมื่อเริ่มจัดสร้างจึงได้มีสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมบริจาคช่วยอุดหนุนในการจัดสร้างตามกำลังทรัพย์ สร้างความสะดวกปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติธรรมได้เป็นสัดส่วน โดยอาคารหลังนี้ได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๗ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๑ ปี อาคารจึงเสร็จสมบูรณ์ สามารถใช้เป็นที่พักสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมได้อย่างสะดวกปลอดภัยดียิ่ง
สร้างอาคารโรงทาน
การสร้างโรงทานพระ(ธรรม)ทำ
หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร มีดำริในการจัดสร้างโรงทานวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ สำหรับเป็นที่พักฉันภัตตาหาร สืบเนื่องเมื่อมีงานปฏิบัติธรรมแล้วเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนัก จนทำให้พระภิกษุสงฆ์และสาธุชนได้รับความลำบาก ไม่มีพี่พักเพื่อสำหรับนั่งฉันภัตตาหาร และสาธุชน อุบาสก-อุบาสิกาผู้ปฏิบัติธรรมก็ได้รับความเดือดร้อน ต้องพากันวิ่งหลบฝนเป็นทีโกลาหล สถานที่รองรับภายในวัดโดยส่วนมากเป็นพื้นที่โล่งสำหรับตั้งโต๊ะให้นั่งใต้ต้นไม้ แต่เมื่อมีฝนตกลงมาก็ทำให้พื้นที่เหล่านั้นเปียกแฉะไม่สามารถใช้งานได้
การก่อสร้างศาลาโรงฉัน โรงทาน จึงเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐ โดยหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านได้เมตตาขอแรงจากพระภิกษุสงฆ์ภายในวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ และจ้างแรงงานชาวบ้านอีกบางส่วนเพื่อร่วมกันดำเนินการก่อสร้างศาลาโรงทานหลังนี้ และได้รับสนับสนุนจากท่านผู้มีจิตเมตตาในบางหน่วยงาน และจากศรัทธาสาธุชนที่ได้เข้าไปร่วมปฏิบัติธรรม ที่เห็นถึงความจำเป็นของการก่อสร้างโรงทานหลังนี้ การก่อสร้างจึงดำเนินการเรื่อยมา กระทั่งเริ่มใช้งานได้บางส่วนและยังต้องปรับปรุงจนกว่าจะแล้วเสร็จต่อไป
ขอเชิญร่วมบุญสร้าง
พระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง)
ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
อ.พาน จ.เชียงราย
|
|
แบบพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) |
|
"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสรรเสริญและแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องการสร้างวัดหรือส่วนประกอบ
ของวัด เช่น ที่ดิน หรือศาสนวัตถุต่างๆ โบสถ์ วิหาร ศาลา พระพุทธรูป
กุฏิสงฆ์ เสนาสนะถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประพฤติดี
ปฏิบัติชอบ ไว้ดังนี้
- ทานํ สคฺคสฺส โสปนํ ทานกุศลจัดว่าเป็นบันได้ขั้นแรกที่จะนำขึ้นสู่สวรรค์
- ทานํ ปาเถยฺยมุตตมํ ทานกุศลจัดว่าเป็นเสบียงอันประเสริฐ
- ทานํ อุชุคตํ มคฺคํ ทานกุศลจัดว่าเป็นทางสายตรงไปสู่พระนิพพาน
- ทานํ โมกฺขปทํ วรํ ทานกุศลจัดว่าเป็นบาทให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น
การสร้างวัด สร้างโบสถ์ ศาลา พระพุทธรูป อาคารที่พัก
เพื่อถวายไว้กับวัดในพระพุทธศาสนาโดยพระสงฆ์องค์เจ้าก็ดี หรืออุบาสกอุบาสิกาต่อพุทธศาสนาก็ดี จัดเป็นทานอันเลิศ
ตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในพระไตรปิฎก
...พุทธคยา..คือสถานที่ตรัสรู้..ครั้งที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียร สั่งสมอบรมบารมีมายาวนานกระทั่งพระบารมีเต็มล้น จึงทรงเลือกสถานที่สำหรับบำเพ็ญเพียรครั้งสุดท้ายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สถานที่อันเป็นมงคลนั้นในปัจจุบันคือ พุทธคยา
...พุทธคยา..จึงเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียร เป็นสถานที่พระโพธิสัตว์ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือทางพ้นทุกข์ สำเร็จเป็นพระพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถือเป็นก้าวแรกแห่งการค้นพบพระสัทธรรม ก่อเกิดเป็นพระพุทธศาสนาที่ยั่งยืนสืบมาตราบกระทั่งปัจจุบัน
...พุทธคยา..จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทรงค้นพบหนทางอันประเสริฐแห่งการพ้นทุกข์, อริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบคือทุกข์, สมุทัย, นิโรธ, มรรคหรือทุกข์, เหตุแห่งทุกข์, ทางแห่งการดับทุกข์, แนวปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์, พุทธคยาจึงเป็น ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถานสำคัญในพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนสถานอันเป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นองค์ประกอบ ๑ ใน ๖ ประการของศาสนา
...พุทธคยา(จำลอง)..สัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้กำลังจะถูกจัดสร้างขึ้นโดยหลวงพ่อถวิล จันทสโร ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โดยหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ได้มุ่งเน้นให้วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม-เผยแผ่ธรรม ปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์หรืออริยสัจ ๔ จะมีการจัดสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) ประดิษฐานไว้เพื่อให้สาธุชนที่เดินทางเข้าไปปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ปฏิบัติตนเพื่อสั่งสมแนวทางแห่งการพ้นทุกข์ในที่สุด
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ แห่งนี้ เป็นสถานที่ หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ท่านมุ่งเน้น นำในการปฏิบัติธรรม อันจะนำประโยชน์สุขมาสู่พระภิกษุสงฆ์และสาธุชน ที่มุ่งหวังหนทางแห่งความพ้นทุกข์ การดำริสร้างพระมหาสถูปเจดีย์พุทธคยา(จำลอง) อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการตรัสรู้ของ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อสาธุชน ได้ใช้เป็นที่ไหว้พระ สวดมนต์ ฝึกทำสมาธิ จึงถูกดำริให้สร้างขึ้นที่นี่ด้วย
จึงขอเชิญชวนสาธุชนท่านผู้มีจิตศรัทธา มาร่วมกันสร้างศาสนสถานอันเป็นบุญ ให้เกิดประโยชน์ในพระพุทธศาสนาโดยตรง ท่านที่ประสงค์จะร่วมทำบุญ ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ติดต่อร่วมบุญเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีได้ที่:
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โทร.๐๕๓-๑๘๔ ๓๒๕ หรือ
ร่วมสร้างบุญในนามชื่อบัญชี :
กองทุนสร้างสถูปเจดีย์พุทธคยา
ธนาคาร: กรุงไทย, สาขา: พาน
เลขที่ : 522-0-45008-5
ผลงานและเกียรติคุณ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
วัดในสังฆราชูปถัมภ์
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงรับวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญไว้เป็น วัดในสังฆราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
|
|
|
รับรางวัล
วัดดีเด่นประจำจังหวัดเชียงราย
เป็น ๑ ใน ๕๐
วัดดีเด่นทั่วประเทศในปีพุทธชยันต |
|
|
วัดดีเด่นประจำจังหวัด
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการแต่งตั้งเป็นวัดดีเด่นประจำจังหวัดเชียงราย โดยการสำรวจคัดเลือก
จากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดและได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นสำนักปฏิบัติธรรมดีเด่น จากสำนักงานพระพุทธศานาแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ โดยพระครูจันทนิภากร(หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) เข้ารับใบประกาศเกียรติคุณ
"วัดดีเด่นประจำจังหวัดปีพุทธศักราช ๒๕๕๔
จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
ได้มีเมตตามอบให้กับวัดทั้งสิ้นจำนวน ๔๕ วัด
ความตามเอกสารของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้แจ้งไว้ดังปรากฏนี้ :
ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีนโยบายส่งเสริมพัฒนาในเชิงยกระดับให้มีคุณภาพ และ มาตรฐานในการดำเนินกิจการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยประสานแจ้ง
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ให้สำรวจและพิจารณาคัดเลือกสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด เพื่อเสนอเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ นั้น
บัดนี้ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแต่งตั้ง ได้พิจารณาคัดเลือกสำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัด ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด สมควรได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นสำนักปฏิบัติธรรม ประจำจังหวัดดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๔
จำนวน ๔๕ แห่ง เรียบร้อยแล้ว จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันดังต่อไปนี้
- วัดปุรณาวาส ต.ศาลาธรรมสพน์ อ.ทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
- วัดโสมนัสวิหาร
ต.วัดโสมนัสวิหาร อ.ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ10100(ธ)
- วัดปทุมวนาราม ถ.พระราม 1 ต.ปทุมวัน อ.ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 (ธ)
- วัดวังขนายทายิการาม ต.วังขนาย อ.ท่าม่วง กาญจนบุรี 71110
- วัดประชานิยม 84 ถ.ถีนานนท์ ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง กาฬสินธุ์ 46000 (ธ)
- วัดเขาดิน ต.บางวัว อ.บางปะกง ฉะเชิงเทรา 24130
- วัดกรุณา ต.บางหลวง อ.สรรพยา ชัยนาท 17150
- วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ 395 ม.11 ต.ธารทอง อ.พาน เชียงราย 57250
- วัดพระธาตุดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง เชียงใหม่ 50000
- วัดห้วยจระเข้ 447 ถ.พิพิธประสาท ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง นครปฐม 73000
- วัดน้อยโพธิ์คำ ต.ในเมือง อ.เมือง นครพนม 48110
- วัดป่าหนองหิน ต.จักราช อ.จักราช นครราชสีมา 30230 (ธ)
- วัดพระมหาธาตุ ต.ในเมือง อ.เมือง นครศรีธรรมราช 80000 (ธ)
- วัดชลธาราวาส (วัดร่อน) 81 ม.2 ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ นราธิวาส 96130
- วัดขุนก้อง 224 ถ.โชคชัย-เดชอุดม ต.นางรอง อ.นางรอง บุรีรัมย์ 31110
- วัดซอยสามัคคี ต.คูคต อ.ลำลูกกา ปทุมธานี 12150
- วัดเขาอิติสุคโต ต.หัวหิน อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ 77110
- วัดตาลเอน ม.1 ต.ตาลเอน อ.บางปะหัน อยุธยา 13220
- วัดอนาลโยทิพยาราม ต.สันป่าม่วง อ.เมือง พะเยา 56000 (ธ)
- วัดสวนร่มบารมี 99 ม.1 ต.วงฆ้อง อ.พรหมพิราม พิษณุโลก 65180
- วัดลิ้นช้าง ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง เพชรบุรี 76160
- วัดพระบาทมิ่งเมือง ต.ในเวียง อ.เมือง แพร่ 54000
- วัดรัตนวราราม ต.ท่ามะเดื่อ อ.บางแก้ว พัทลุง 93140
- วัดบรรพตมโนรมย์ ต.ในเมือง อ.เมือง มุกดาหาร 49000
- วัดขุนพรหมดำริ ต.ท่าสองคอน อ.เมือง มหาสารคาม 44000
- วัดเมืองยะลา ต.สะเตง อ.เมือง ยะลา 95000
- วัดสุวรรณคีรีวิหาร ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง ระนอง 85000
- วัดมาบข่า ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา ระยอง 21180
- วัดสิริจันทรนิมิตร ต.เขาพระงาม อ.เมือง ลพบุรี 15160 (ธ)
- วัดพระเจดีย์ซาวหลัง 268 ม.12 ต.ต้นธงชัย อ.เมืองลำปาง ลำปาง 52000
- วัดพระธาตุดอยเวียง ต.บ้านธิ อ.บ้านธิ ลำพูน 51180
- วัดเกียรติแก้วสามัคคี ต.ศรีแก้ว อ.ศรีรัตนะ ศรีสะเกษ 33240
- วัดอาจาโรรังสี 109 ม.4 ต.ไร่ อ.พรรณานิคม สกลนคร 47130 (ธ)
- วัดทรายขาว ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง สงขลา 90000
- วัดลาดเป้ง ต.นางตะเคียน อ.เมือง สมุทรสงคราม 75000
- วัดโยธินประดิษฐ์ ต.สำโรง อ.พระประแดง สมุทรปราการ 10130
- วัดสิงห์สุทธาวาส ต.โพสังโฆ อ.ค่ายบางระจัน สิงห์บุรี 16150
- วัดพยัคฆาราม ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี 72140
- วัดพัฒนาราม ต.ตลาด อ.เมือง สุราษฎร์ธานี 84000
- วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร ต.จรัส อ.บัวเชด สุรินทร์ 32230 (ธ)
- วัดยอดแก้ว ต.จุมพล อ.โพนพิสัย หนองคาย 43120
- วัดพัฒนาราม ต.ตลาด อ.เมือง สุราษฎร์ธานี 84000
- วัดบ้านแขม ต.หัวดอน อ.เขื่องใน อุบลราชธานี 34150
- วัดนาหลวงถ้ำเก้ง ภูย่าอู่ บ้านนาหลวง ม.4 ต.คำด้วง อ.บ้านผือ อุดรธานี 41160
- วัดบ้านเก่าบ่อ ต.หนองแก้ว อ.หัวตะพาน อำนาจเจริญ 37240
ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
รับรางวัลหน่วยอบรมประจำตำบล(อ.ป.ต.)ดีเด่น
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อ.บ.ต.ธารทอง และได้รับคัดเลือกให้เป็นหน่วยอบรมดีเด่นประจำตำบล โดยได้รับรางวัล หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อ.ป.ต.)ดีเด่น ๑๖ จังหวัดหนเหนือคณะสงฆ์ภาค ๔ โดยพระวิสุทธิวงศาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือเมตตาเป็นประธานในการมอบรางวัล
ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.นครสวรรค์ โดยหลวงพ่อถวิล จนฺทสโร ประธานสงฆ์เป็นองค์แทนรับรางวัลในนามวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
หน่วยอบรมศีล ๕
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับมอบหมายให้เป็นสถานที่เป็นหน่วยอบรมโครงการศีล ๕ สัญจรบวรธรรม เป็นวัดกลุ่มเป้าหมายจัดดำเนินการตามโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง
หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรม
ประจำจังหวัดเชียงราย
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับแต่งตั้งเป็นสถานที่อบรมคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย เพื่อให้บริการอบรมข้าราชการ
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาต่างๆ
หน่วยอบรมองค์การบริหารตำบล
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ได้รับแต่งตั้งเป็นสถานที่อบรมผู้นำ อ.บ.ต. และผู้นำชุมชนในจังหวัดเชียงราย
กิจกรรมประจำปี
กิจกรรมประจำปี
- งานปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุทั่วประเทศ วันที่ ๑-๑๐ กุมภาพันธ์ ของทุกปี
- งานปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุทั่วประเทศ ก่อนกำหนดการเข้าพรรษาของพระภิกษุ ๑๕ วัน ของทุกปี (โดยนับจากวันแรกของปฏิทินการเข้าพรรษาประจำปีนั้นๆ ย้อนหลังลงมา ๑๕ วัน ตรงกับวันไหนก็ถือเอาวันที่นั้นเป็นวันแรกของการขอเข้าอยู่ปริวาสกรรมก่อนเข้าพรรษาจำนวน ๑๐ วัน ทั้งนี้เมื่อออกอัพภานก็จะมีเวลาเหลืออีก ๕ วันก่อนเข้าพรรษาไว้เพื่อความสะดวกสำหรับ
พระภิกษุที่จะตัดสินใจเดินทางไปอยู่จำพรรษายังวัดใดวัดหนึ่งในพรรษานั้นๆ ของพระภิกษุ
- จัดปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ๓-๕ วัน ตลอดปี
- จัดปฏิบัติธรรมวันหยุดสงกรานต์ ๓-๕ วัน และสรงน้ำพระมุทิตาจิตในวันที่ ๑๖ เมษายน
- จัดปฏิบัติธรรมวันวิสาขบูชาของทุกปีสำหรับประชาชนทั่วไปทุกหมู่เหล่า
- จัดปฏิบัติธรรมวันแม่แห่งชาติ ๓-๕ วัน เป็นประจำทุกปี
- จัดปฏิบัติธรรมวันพ่อแห่งชาติ ๓-๕ วัน เป็นประจำทุกปี
- จัดอบรมสำหรับหน่วยงานข้าราชการตามที่หน่วยงานต่างๆ ได้กำหนดมา
- จัดอบรมสำหรับองค์กรเอกชนต่างๆ ตามที่องค์กรได้กำหนดมา
- จัดอบรมสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตามที่สถาบันการศึกษาได้กำหนดมา
โดยได้มีครู คณาจารย์ นำนักเรียน นิสิต นักศึกษามาให้ทางศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ
จัดอบรมคุณธรรม-จริยธรรมและความประพฤติเป็นประจำตลอดทั้งปี ทั้งนี้เพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจเยาวชนของชาติ
ให้มีความประพฤติดี มีระเบียบวินัย และมองเห็นโทษภัยที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
- เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ารับการปฏิบัติธรรม ๓-๕-๗ วัน ตลอดทั้งปี
ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดประมาณ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คน
- จัดปฏิบัติธรรมวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม-๑ มกราคม ทุกปี
- จัดดำเนินการหน่วยอบรมโครงการศีล ๕ สัญจรบวรธรรม เป็นวัดกลุ่มเป้าหมายจัดดำเนินการตามโครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง
หมู่บ้านรักษาศีล ๕ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘
ศาสนวัตถุภายในวัด
ศาสนวัตถุภายในวัด
- อุโบสถ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ ขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ความยาว ๓๓ เมตร จำนวน ๑ หลัง
ก่อสร้างเป็นศิลปแบบล้านนาประยุกต์ ออกแบบถวายโดยคุณจมร ปรปักษ์ประลัย สถาปนิกของกรมศิลปากร
และได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
โปรดประทานตราสัญลักษณ์ ญ.ส.ส. เพื่ออัญเชิญขึ้นประดับหน้าบันอุโบสถ
- พระพุทธรูป จำนวน ๙ องค์ โดยพระพุทธรูปองค์ประธานในอุโบสถได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกโปรดประทานพระนามที่ พระพุทธสุวรรณติโลกนาถปุญญาวาสสถิต และโปรดประทานตราสัญลักษณ์ ญ.ส.ส.
เพื่ออัญเชิญขึ้นประดับบนผ้าทิพย์ฐานรองพระพุทธรูป
- ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป จำนวน ๔ ซุ้ม, พระพุทธรูปประธาน จำนวน ๙ องค์
ประดิษฐานตรงจุดที่สำคัญ เช่น ในถ้ำ ลานปฏิบัติธรรม, ศาลาจันทนิภากร ๑, ศาลาธรรม ๑ ฯลฯ
- สันติธาตุเจดีย์ เป็นพระธาตุเจดีย์ จำนวน ๑ องค์ ซึ่งได้บรรจุพระธาตุไว้ตรงปลายยอดสันติธาตุเจดีย์
- ศาลาปฏิบัติธรรมจำนวน ๒ หลัง
๐ ศาลาปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
แห่งที่ ๕ หรือ ศาลาปฏิบัติธรรมจันทนิภากร ๑ มีขนาดพื้นที่ กว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๖๐ เมตร เป็นศาลาปฏิบัติธรรมที่สามารถบรรจุผู้ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ ๑,๐๐๐-๑,๒๐๐ คน ซึ่งใช้สำหรับการจัดอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในช่วงฤดูฝน หรือการจัดอบรมเป็นหมู่คณะของหน่วยงานต่างๆ
๐ ศาลาปฏิบัติธรรม ๑ เป็นศาลาเล็กบรรจุผู้ปฏิบัติธรรมได้ประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ คน สำหรับปฏิบัติธรรมระยะสั้นหรือที่มีผู้ร่วมปฏิบัติะรรมน้อยกว่า ๑๐๐ คน แต่ในปัจจุบันนี้ทางวัดได้ใช้เป็นหอฉัน และใช้ศาลาจันทนิภากร ๑ ในการปฏิบัติธรรมแทน
- ลานปฏิบัติธรรม ๑ แห่ง หรือ ลานธรรม"
เป็นลานโล่งขั้นบันได ภายใต้ป่าโปร่งเป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม มีลมพัดเย็นสบาย เป็นสถานที่สัปปายะ เหมาะสำหรับใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น
การอบรมการปฏิบัติธรรม การจัดอยู่ปริวาสกรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์จากทั่วประเทศในช่วง ๑-๑๐ กุมภาพันธ์ และปริวาสกรรมก่อนเข้าพรรษา ๑๕ วัน
สำหรับพระภิกษุสงฆ์ การจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรมวันหยุดนักขัตฤกษ์ต่างๆ
- กุฏิประธานสงฆ์ จำนวน ๑ หลัง
สำหรับใช้ประโยชน์เพื่อไว้เป็นที่ต้อนรับพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่
พระเถระที่เมตตามาเป็นประธานเจ้าพิธีในกิจกรรมต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา
- กุฏิพระสงฆ์จำนวน ๒๗ หลัง
สำหรับไว้ต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ที่แวะเวียนเดินธุดงค์มาพักปฏิบัติธรรมที่
ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญแห่งนี้
- กุฏิแม่ชี จำนวน ๙ หลัง
เพื่อสำหรับไว้เป็นพักของแม่ชีและอำนวยความสะดวกแก่อุบาสกอุบาสิกาที่มารักษาศีล
ปฏิบัติธรรม(บวชชีพราห์ม)หรือเนกขัมมะที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติแห่งนี้
- อาคารที่พักผู้ปฏิบัติธรรม จันทนิภากร ๒ เป็นอาคาร ๓ ชั้น จำนวน ๓๒ ห้อง
เป็นอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ เพื่อใช้สำหรับไว้เป็นที่พักผู้ปฏิบัติธรรม
- แท่นฐานซุ้มสำหรับปักกลดของพระภิกษุสงฆ จำนวน ๒๐๐ แท่น
เพื่อสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ปักกลดปฏิบัติธรรมและการอยู่ปริวาสกรรม
เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนที่ตกลงมานองพื้น ไหลทะลักเข้าไปภายในซุ้มกลดของพระภิกษุสงฆ์
- โรงทานจำนวน ๑ หลัง
เพื่อสำหรับใช้เป็นโรงทานเตรียมภัตตาหารในยามที่มีการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแด่่พระภิกษุ สามเณร
อุบาสก อุบาสิกา ที่แวะเวียนมาปฏิบัติธรรม
- ถังกรองน้ำ ๒ ถัง แท็งค์น้ำจำนวน ๕๑ แท็งค์
สำหรับใช้ประโยชน์ในการอุปโภคภายในสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้
- สระน้ำ จำนวน ๒ สระ
เพื่อเก็บกับน้ำประปาภูเขา สำหรับใช้ในการอุปโภคภายในสถานที่ปฏิบัติธรรมนี้
- ห้องน้ำห้องสุขา ประมาณ ๘๐ ห้อง
แยกเป็นของพระภิกษุสงฆ์ และอุบาสก อุบาสิกาออกจากกัน
ในปัจจุบันนี้จะมีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา เนกขัมนารี นักเรียน นิสิต
นักศึกษา
ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเดินทางมาปฏิบัติธรรมอยู่เสมอตลอดทั้งปี
นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ นำพนักงาน นิสิต นักศึกษา นักเรียนมาเข้ารับอบรบเป็นหมู่คณะมิได้ขาด หากหน่วยงานใดประสงค์จะเข้ารับการอบรมคุณธรรม-จริยธรรม ขอทราบรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ โทร. 053 184 325
|