: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย โทร.053 184 325
 

วันเทโวโรหนะ
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

วันเทโวโรหนะ คือ วันที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จหยั่งลงสู่โลกมนุษย์ภายหลังเสด็จโปรดพระพุทธมารดาในสวรรค์ชั้นดาวดีงส์ เป็นเวลา ๓ เดือน ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันตักบาตรเทโว 

   
 

ในวันออกพรรษา ตามประวัติกล่าวว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่เสด็จไปเพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาในดาวดึงส์พิภพ

ครั้นจวนถึงวันออกพรรษา เหล่ามหาชนผู้เฝ้าคอยรับเสด็จทราบจากพระโมคคัลลานะเถระ เมื่อ ครั้งแสดงฤทธิ์เหาะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ ดาวดึงส์พิภพว่าพระบรมศาสดาจะเสด็จสู่โลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะนคร อันเป็นเมืองที่พระสารีบุตรเถระจำพรรษาอยู่ มหาชนทั้งหลายจึงพร้อมใจกัน ออกเดินทางไปสู่เมืองดังกล่าว ฝ่ายท้าวสักเทวราช(พระอินทร์) เมื่อทราบพุทธประสงค์ดังนั้น จึงนิรมิตบันไดทิพย์ทั้ง ๓ คือ

  • บันไดแก้ว ให้อยู่ตรงกลาง สำหรับส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าลงจากดาวดึงส์
  • บันไดทอง ให้อยู่เบื้องขวา เป็นสำหรับท้าวสักกเทวราช และเทพยดาทั้งหลาย
  • บันไดเงิน ให้อยู่เบื้องซ้ายเป็นบันไดสำหรับหมู่พรหมทั้งหลายที่ตามส่งเสด็จ

เชิงบันได้ทิพย์ทั้ง ๓ นี้ได้ทอดจากยอดเขาสิเนรุราช หรือเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงสู่เมืองสังกัสสะนคร เมื่อได้เวลาเสด็จ พระบรม ศาสดาทรงประทับยืนท่ามกลางหมู่เทพยดา พระอินทร์ และพรหมทั้งหลาย แล้วทรงทำ “โลกวิวรณปาฏิหาริย์” คือ “ทรงเปิดโลก”ทั้ง ๓ อันได้แก่ เทวโลก ยมโลก และ มนุษย์โลก  ให้มองเห็นถึงกันหมด ด้วยพุทธานุภาพโดยทอดพระเนตรไปในทิศต่างๆ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่างทั้ง  ๑๐ ทิศ พร้อมกับเปล่งพระฉัพพรรณรังสี ๖ ประการ (รัศมีที่ออกมาจากพระวรกาย)

ในเวลานั้นทุกหนทุกแห่งสามารถมองทะลุเห็นกันได้โดยตลอด

  • เหล่าเทพยดาในสวรรค์มองเห็นมนุษย์ และ
  • สัตว์นรก มนุษย์ มองเห็นเทพยดาและสัตว์นรก
  • สัตว์นรกมองเห็นเทพยดาและมนุษย์ 

เมื่อทรงทำปาฏิหาริย์เปิดโลกแล้ว พระบรมศาสดาจึงเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์สู่เมืองสังกัสสะนคร
ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ และในการเสด็จลงจากเทวโลกในวันนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรม
โปรดเทวดาและมนุษย์ โดยตลอด เวลานั้นทรงตรัสถามปัญหาแก่บุคคลตั้งแต่ภูมิชั้นต้น ชั้นต่ำ
จนถึงภูมิชั้นสูง เมื่อทรงตั้งปัญหาถามในภูมิชั้นใด บุคคลผู้ได้ภูมิชั้นนั้นก็ตอบปัญหานั้นได้ แต่ก็ไม่อาจ
จะตอบปัญหาที่สูงกว่าภูมิของตนได้ ได้ทรงตรัสถามเรื่อยมาจนถึงภูมิของพระอัครสาวกเบื้องขวา
คือพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ตอบได้ แต่เมื่อทรงได้ตั้งปัญหาถามในชั้นพุทธภูมิที่สูงกว่าภูมิของ
พระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ตอบไม่ได้ ที่ตอบไม่ได้นั้นก็เพราะไม่ทราบพระพุทธอัธยาศัยว่า
จะมีพุทธอัธยาศัยให้ตอบโดยนัยไหน ท่านยกตัวอย่างปัญหาที่ถามในพุทธภูมิว่า
“บุคคลผู้ที่มีธรรมะอันนับ คือพิจารณารู้ตลอดแล้ว (หมายถึงพระอเสขบุคคล คือพระอรหันต์) กับบุคคลผู้ที่ยังเป็นเสขะ(คือยังต้องศึกษา หมายถึง ท่านผู้บรรลุภูมิพระโสดาบันขึ้นมา จนถึงภูมิของพระอนาคามี)บุคคลสองจำพวกนี้มีความประพฤติเป็นอย่างไร?

ปัญหานี้พระสารีบุตรไม่ทราบพระพุทธอัธยาศัยว่ามุ่งจะให้ตอบในนัยไหน แต่เมื่อพระพุทธเจ้า
ได้ประทานนัย มุ่งจะให้ตอบในนัยขันธ์ พระสารีบุตรก็เกิดปฏิภาณขึ้นจึงตอบได้ ในการตอบปัญหานั้น
จำจะต้องรู้ นัย คือ ความประสงค์ของปัญหาหรือของผู้ถาม เมื่อตอบให้ถูกตามประสงค์ก็เป็นอันใช้ได้ ดั่งปัญหาธรรมะว่า คนดีคือคนอย่างไร? ก็กว้างมาก ถ้าจะตอบยกเอาธรรมะในนวโกวาทมา ก็ได้เกือบจะทุกข้อ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องพิจารณาให้รู้ความประสงค์ของผู้ถามหรือของปัญหาว่า มุ่งจะให้ยกเอาธรรมข้อไหนขึ้นมาตอบ และเมื่อตอบให้ถูกความประสงค์ได้ก็เป็นอันใช้ได้ ตอบนิดเดียวก็ใช้ได้ แต่ถ้าตอบผิดความประสงค์ยกเอาธรรมะมาตอบทั้งเล่ม บางทีก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อมาถึงปัญหาที่เป็นพุทธภูมิ พระสารีบุตรก็จำจะต้องได้นัย และเมื่อได้นัยแล้วก็ตอบได้

ทางบันไดสวรรค์ที่ลงสู่ประตูเมืองสังกัสสะนครที่ตั้งอยู่เหนือกรุงสาวัตถี และสถานที่นั้นประชาชน ถือว่าเป็น ศุภนิมิต จึึงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น “พุทธบูชานุสาวรีย์” เรียกว่า “อจลเจดีย์”

ในวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์พิภพนั้น พุทธบริษัทจึงพร้อมใจกันใส่บาตรแด่พระพุทธองค์ พร้อมทั้งพระสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่ ณ ที่นั้น ซึ่งพุทธบริษัทที่มาร่วมในพิธีดังกล่าวก็ไม่ได้นัดหมายกัน ก่อนล่วงหน้า แต่ปรากฏว่าการใส่บาตรในวันนั้นเนืองแน่นไปด้วยผู้คน

ผู้คนเข้าไม่ถึงพระที่มารับบิณฑบาต ประชาชนจึงนำเอาข้าวสาลีของตนห่อหรือทำเป็นปั้นๆ แล้วโยนเข้าไปถวายพระ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยน ตลอดจนเป็นส่วนสำคัญของการตักบาตรเทโวโรหณะและเป็นประเพณีสืบต่อมา เพื่อรักษาจารีตที่ปรากฏขึ้นในวันนั้น พุทธบริษัทในภายหลังจึงนิยมสืบๆ กันมาจนเป็นประเพณี ว่าถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ควรทำบุญตักบาตรให้เหมือนครั้งดั้งเดิม ซึ่งเรียกกันว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” จนทุกวันนี้

สำหรับพิธีตักบาตรเทโวโรหณะที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ นิยมจัดทำขึ้นในวัด และถือเป็นหน้าที่ของ ทางวัดนั้นๆ และทายกทายิการ่วมกันจัดโดยมีวิธีการปฏิบัติสืบต่อกันมา

   
 

 


   

 



                 





    
        

                           
         
                               
         

 

            
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com
email : watthumprachiangrai@gmail.com