วันอาสาฬหบูชา
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
(หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ในปีอธิกมาส)
อาสาฬห เป็นชื่อเรียกของเดือน ๘ ส่วนคำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก อาสาฬหปุรณมีบูชา
แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน ๘ ดังนั้นวันอาสาฬหบูชาจึงตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
(หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลัง ในปีอธิกมาส)
วันอาสาฬหบูชา นี้ถือเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หรือ เทศนาครั้งแรก
ที่มีชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งแปลว่า "พระสูตรของการหมุนวงล้อแห่งพระธรรม
ให้ดำเนินไป โดยเป็นการแสดงพระธรรมเทศาสนาครั้งแรกเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่
โกณฑัญญะ วัปปะ
ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
โดยทรงแสดงเทศนานี้ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี
ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้
ความเป็นมา :
ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าทรงบำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเข้าถึง
ความเป็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้ชอบ โดยพระองค์เองในวันรุ่งเดือน ๖ ณ ใต้ร่มมหาโพธิบัลลังก์
ทรงหมดสิ้นซึ่งอาสวะกิเลส เมื่อพระพุทธองค์ทรง บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
ได้ทรงเสวยวิมุตติสุขเนิ่นนานอยู่ทรงคำนึงว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ล้ำลึกนักยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม
จึงท้อพระทัยที่จะสั่งสอนสัตว์ ฝ่ายท้าวสหัมบดีพรหมทรงวิตกว่าพระพุทธองค์จะทรงละเลยกิจที่
พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตได้ทรงปฏิบัติ
คือ ทรงจะแสดงพระสัทธรรมโปรดหมู่เวไนยสัตว์
ในภพทั้งหลาย (พรหมภูมิ สวรรค์ภูมิ มนุษย์ภูมิ) ด้วยเมื่อพระโพธิสัตว์ทรงบรรลุธรรมแล้ว
จะทรงน้อมพระทัยไปสู่การเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
เหตุนั้นท้าวสหัมบดีพรหม จึงได้ชักชวน
หมู่พรหมและทวยเทพในภพสวรรค์เสด็จมาชุมนุมต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา
แล้วกล่าวคำทูลอารธนาให้ทรง แสดงธรรมว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดแสดงธรรมเถิด
พระพุทธองค์ทรงพิจารณาหมู่เวไนยสัตว์
พระพุทธองค์ได้ทรงตรึกตรอง ทรงคำนึงว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม
จึงยังทรงมิได้รับคำทูลอารธนาทีเดียว แต่ได้ทรงพิจารณาโดยพระญาณก่อนว่า เวไนยสัตว์นั้น
จำแนกเหล่าใดที่จะรองรับพระสัทธรรมได้เพียงใด จำนวนเท่าใด ทรงจำแนกด้วยพระญาณว่า
เหล่าเวไนยสัตว์บุคคลที่จะรับพระสัทธรรมได้และไม่ได้มีอยู่ ๔ จำพวกเปรียบได้ดังดอกบัวสี่เหล่า
อันหมายถึง ปัญญา วาสนา บารมี
และอุปนิสัย ที่สร้างสมมาแต่อดีตของบุคคล ซึ่งบัว ๔ เหล่านั้นคือ
- ดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว รอแสงพระอาทิตย์จะบานวันนี้
- ดอกบัวที่ปริ่มน้ำ จะบานวันพรุ่งนี้
- ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ยังอีก ๓ วันจึงจะบาน
- ดอกบัวที่เพิ่งงอกใหม่จากเหง้าในน้ำ จะยังไม่พ้นภัยจากเต่าและปลา
บุคคลที่เปรียบได้กับดอกบัวดอกที่ ๑,๒,๓ นั้นสามารถให้อนุศาสโนวาทแล้วสามารถบรรลุมรรค
ผล นิพพาน ได้เร็วช้าต่างกันก็ด้วยปัญญา วาสนา บารมี และอุปนิสัยที่ต่างกัน ซึ่งจำแนกเป็น
พุทธเวไนย์ สาวกเวไนย์์ ธาตุเวไนย์ ตามลำดับ ส่วนบุคคลซึ่ง เปรียบเป็นบัวประเภทที่ ๔
ไม่สามารถบรรลุอะไรได้ในชาตินี้ ด้วยขาดซึ่งปัญญา แต่จะเป็นอุปนิสัย วาสนา บารมีต่อไป
ในภาย ภาคหน้า เมื่อทราบด้วยพระญาณดังนั้นแล้ว ด้วยพระกรุณาคุณ ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้
ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมีอยู่บ้าง เมื่อเล็งเห็น เหตุนี้ จึงตกลงพระทัยจะสอนธรรมให้แก่สัตว์ทั้งปวง
จึงรับอารธนาของท้าวสหัมบดีพรหม
พระพุทธเจ้าทรงนึกถึงผู้ที่ควรโปรดก่อนคือ อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส ผู้เป็นอาจารย์
แต่ท่านเหล่านี้ก็สิ้นชีวิต ไปแล้วจะมีอยู่ ก็แต่ปัญจวัคคียทั้ง ๕ มีชื่อว่า
- โกณฑัญญะ
- วัปปะ
- ภัททิยะ
- มหานามะ
- อัสสชิ
ซึ่งท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ปัญจวัคคีย์ ซึ่งท่านผู้นี้ได้เป็นพราหมณ์คนหนึ่งในจำนวน
พราหมณ์ ๑๐๘ คน ที่มาประชุม ทำนายพระลักษณะ เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประสูติแล้ว ๕ วัน
พราหมณ์เหล่านี้พากันทำนายว่าพระองค์จะมีคติ
เป็็น ๒ คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็น
พระเจ้าจักรพรรดิ
พระราชาเอกในโลก แต่ถ้าออกทรงผนวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก
ส่วนท่านโกณฑัญญะเป็นพราหมณ์หนุ่ม ที่สุดในหมู่พราหมณ์นั้นได้ทำนายไว้ คติเดียวว่า
จะเสด็จออกทรงผนวช จะได้เป็นศาสดาเอกในโลก เพราะฉะนั้นจึงได้คอยฟังข่าวพระโพธิสัตว์
อยู่เสมอ จนเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกทรงผนวช ท่านโกณฑัญญะก็ได้ชักชวนบุตรของพราหมณ์
ที่มาประชุมทำนายพระลักษณะในคราวนั้นได้อีก ๔ คน รวมเป็น ๕ ออกคอยติดตามพระโพธิสัตว์
และเมื่อพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญ ทุกรกิริยาก็เป็นที่สบอัธยาศัยของท่านทั้ง ๕
ซึ่งนิยมในทางนั้น
ก็พากันไปคอยเฝ้าปฏิบัติ ครั้นพระองค์ได้ทรงเลิกละเสียท่านทั้ง ๕ นั้น ก็เห็นว่าพระองค์
ได้ทรงเวียนมาเป็นผู้มักมาก จะไม่สามารถตรัสรู้พระธรรมได้ ก็พากันหลีกไปพักอยู่ที่ตำบล
อิสิปตนมฤคทายวันนั้น ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ได้บำเพ็ญจนสำเร็จเป็นพระอนุตรสัมพุทธเจ้าแล้ว
จึงพิจารณาที่จะแสดงธรรมโปรด ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก่อน จึงเสด็จออกเดินจากควงไม้พระศรีมหาโพธิ์
ที่ประทับอยู่ มุ่งพระพักตร์เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
การที่เสด็จจากตำบลพระศรีมหาโพธิ์ จนกระทั่งถึงกรุงพาราณสี แสดงให้เห็นพระวิริยอุตสาหะ
อันแรงกล้า และการตั้งพระทัย แน่วแน่ที่จะประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์เป็นพวกแรกอย่างแท้จริง
เพราะระยะทางระหว่าง ตำบลพระศรีมหาโพธิ์ถึงพาราณสีนั้นไกลมาก ซึ่งการเสด็จดำเนินด้วย
พระบาทเปล่าอาจใช้เวลาหลายวัน แต่ปรากฏว่าพอตอนเย็น วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน อาสาฬหะ นั้น
พระพุทธองค์ก็เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นที่อยู่ของปัจจวัคคีย์
|
|
|
|
ทรงโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
เมื่อเหล่าปัญจวัคคีย์มองเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล ก็นัดหมายกันว่าจะไม่ทำการลุกต้อนรับ
ไม่ให้ทำการอภิวาทและไม่ รับบาตรจีวร แต่ให้ปูอาสนะไว้ ถ้าทรงประสงค์จะนั่งก็นั่ง
แต่ถ้าไม่ประสงค์ก็แล้วไป แต่ครั้นพระองค์เสด็จถึง ต่างก็ลืมกติกาที่ตั้งกันไว้ พากันลุกขึ้น
และอภิวาทกราบไหว้ และนำน้ำล้างพระบาท
ตั่งรองพระบาท ผ้าเช็ดพระบาท มาคอยปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าได้ เสด็จประทับบนอาสนะ ทรงล้างพระบาทแล้วเหล่าปัญจวัคคีย์ก็เรียกพระองค์
ด้วยถ้อยคำตีเสมอ คือเรียกพระองค์ว่า อาวุโส ที่แปลว่า ผู้มีอายุ หรือแปลอย่าง
ภาษาไทยว่า คุณ
โดยไม่มีความเคารพ พระองค์ตรัสห้ามและทรงบอกว่าพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วจะแสดงอมตธรรมให้ท่านทั้งหลายฟัง เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจฟังและปฏิบัติโดยชอบก็จะเกิดความรู้จนถึงที่สุดทุกข์ได้
เหล่าปัญจวัคคีย์ก็กราบทูลคัดค้านว่า เมื่อทรงบำเพ็ญทุกรกิริยายังไม่ได้ตรัสรู้ เมื่อทรงเลิกเสียจะตรัสรู้ได้อย่างไร?
พระพุทธเจ้าก็ยังตรัสยืนยันเช่นนั้นและเหล่าปัญจวัคคีย์ก็คงคัดค้านเช่นนั้น
ถึง ๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสให้ระลึกว่า แต่ก่อนนี้พระองค์ได้เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้หรือไม่
เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ระลึกได้ว่าพระองค์ไม่เคยตรัสพระวาจาเช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้ยินยอมเพื่อ
จะฟังพระธรรม พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเห็นว่าเหล่าปัญจวัคคีย์พากันตั้งใจเพื่อจะฟังพระธรรมของ
พระองค์แล้ว จึงได้ทรงแสดง ปฐมเทศนา คือ เทศนาครั้งแรก โปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ พระองค์
ได้ทรงแสดงปฐมเทศนานี้ในวันรุ่งขึ้นจากที่เสด็จไปถึง คือได้ทรงแสดงใน วันเพ็ญ เดือน
อาสาฬหะ หรือ เดือน ๘ ก่อนวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน ซึ่งเป็นวันที่ประกอบพิธี อาสาฬหบูชาดังที่ได้กำหนดตั้งขึ้นเป็นวันบูชาวันหนึ่ง
ทรงแสดงปฐมเทศนา
ปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนับเป็นเทศนากัณฑ์แรกที่ทรงแสดงทางที่พระองค์ทรงปฏิบัติ
ได้ทรงแสดงธรรมที่ได้ ตรัสรู้ ได้ทรงแสดง ญาณ คือ ความรู้ของพระองค์ที่เกิดขึ้นในธรรมนั้นโดยใจความปฐมเทศนานี้
- ตอนที่ ๑
พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ทางที่บรรพชิต คือ นักบวชซึ่งมุ่งความหน่าย มุ่งความสิ้นราคะ คือ ความติด ความยินดี มุ่งความตรัสรู้ มุ่งพระนิพพาน ไม่ควรซ่องเสพอันได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค คือความประกอบตนด้วยความสุข สดชื่นอยู่ในทางกาม และ อัตตกิลมถานุโยค คือ ประกอบการทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อนเปล่า เหล่านี้เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นของต่ำทรามเป็นกิจของปุถุชน มิใช่กิจของบรรพชิตผู้มุ่งผลแห่งที่สุด
- ตอนที่ ๒
ได้ทรงแสดงธรรมะที่ได้ตรัสรู้ เมื่อละทางทั้งสองข้างต้น และมาเดินทางสายกลาง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา" คือข้อปฏิบัติที่เป็นกลางที่เป็นข้อปฏิบัติอันสมควร
แล้วทรงแสดงทางสายกลาง หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ ได้แก
- สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบ
- สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ
- สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ
- สัมมากัมมันตะ คือ ทำการงานชอบ
- สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ
- สัมมาวายามะ คือ มีความเพียรชอบ
- สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ
- สัมมาสมาธิ คือ ตั้งใจชอบ
แล้วสรุปรวมลงซึ่งองค์ประกอบทั้ง ๘ นั้น ด้วย อริยสัจ ๔ ซึ่งแปลว่า ความจริงของบุคคล
ผู้ประเสริฐ
๔ ประการ ได้แก่
- ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ กล่าวโดยย่อ คือ ขันธ์ที่ยึดถือไว้ทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์
- มุทัย หรือ ทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ทรงชี้ถึงตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของใจ
เป็นเหตุแห่งทุกข์
- นิโรธ หรือ ทุกขนิโรธ คือความดับทุกข์ คือดับตัณหาเสียได้ไม่อาลัยพัวพันในตันหา
ก็ถึงความดับทุกข์
- มรรค หรือ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
- ตอนที่ ๓
พระพุทธองค์ได้ทรงชี้แจงว่าที่เรียกว่า ตรัสรู้นั้น คือ รู้อะไร มีลักษณะเช่นไร คือ ต้องเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นว่านี่เป็นทุกข์ เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ควรละ เป็นนิโรธความดับทุกข์
ควรทำให้แจ้ง เป็น มรรค ทางให้ถึงความดับทุกข์ ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้อบรมให้มีขึ้นได้บริบูรณ์แล้ว
เพราะฉะนั้น ญาณ คือ ความตรัสรู้ที่ประกอบด้วย สัจจญาณ คือ รู้ในความจริงว่า นี่เป็นเหตุแห่งความทุกข์
ส่วนหนึ่งเป็น กิจจญาณ คือความรู้ในกิจ คือหน้าที่ ที่จะปฏิบัติทำให้ดับทุกข์ ส่วนหนึ่งเป็น กตญาณ คือ
ความรู้ในการทำกิจเสร็จแล้ว
คือรู้แจ้งแห่งมรรค ดับทุกข์ได้หมดจดเพราะฉะนั้น
ในพระสูตรจึงแสดงว่า
ความตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นปัญญาญาณ คือ
ความหยั่งรู้ ที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ คือ ต้องรู้ในอริยสัจ ๔ นั้นโดยเป็นสัจญาณโดยเป็นกิจจญาณ โดยเป็นกตญาณ ๓ คูณ ๔
ก็เป็น ๑๒ มีอาการ ๑๒ เป็นความรู้ที่วนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดังกล่าวนี้ จึงเรียกว่า เป็นความตรัสรู้ จึงเรียกว่าเป็น พุทธะ คือ เป็นผู้ตรัสรู้ ถ้าจะเรียกปัญญาของพระองค์ท่านก็เป็นโพธิ ที่แปลว่า ความตรัสรู้
พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่าเมื่อรู้ถึงสิ่งเหล่านี้แล้วย่อมได้ชื่อว่าตรัสรู้โดยชอบถึงความหลุดพ้น และสุดชาติ
สุดภพเป็นแน่แท้ ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ ท่านโกณฑัญญะได้ส่องญาณไปตาม
จนเกิด ธรรมจักษุ หรือดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญารู้เห็นความจริงโดยเห็นแจ้งชัดว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดาเมื่อนั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเปล่งพระวาจาอุทานว่า
อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญแปลว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ
เพราะพระองค์ทรงอุทานคำนี้ ภายหลังท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า อัญญาโกณฑัญญะ จากนั้น ท่านโกณฑัญญะก็ทูลขออุปสมบท ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตโดยทำการอุปสมบทให้แบบ เอหิภิขุอุปสัมปทา
นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์ จึงทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓
คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จากนั้นอีกห้าวันทรงแสดง อนัตตลักขณสูตร แก่นักบวชทั้งห้ารูปทำให้ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา
กล่าวโดยสรุป วันอาสาฬหบูชาเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น ดังนี้
- เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือทรงแสดงพระธรรมเป็นครั้งแรก ซึ่งพระธรรม
ที่ทรงแสดงในครั้งนั้นมีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งมีใจความสำคัญ คือ หลักธรรมเรื่อง
อริยสัจ ๔
- เป็นวันที่มีพระอริยสงฆ์สาวกบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก เนื่องจากท่านโกณฑัญญะได้ฟัง
พระธรรมเทศนากัณฑ์นั้นแล้วเกิดดวงตาเห็นธรรม จึงกราบทูลขอบวชซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงอุปสมบทให้ ดังนั้น พระโกณฑัญญะ จึงนับเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา
- เป็นวันแรกที่บังเกิดพระสังฆรัตนตรัย ทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ อันได้แก่ พระพุทธรัตนะ
พระธรรมรัตนะ และ พระสังฆรัตนะ
ธรรมเนียมปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา
ประเทศไทยได้เริ่มกำหนดให้พิธีวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก
เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดย พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรี
ช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะ สังฆมนตรี ให้เพิ่ม วันศาสนพิธีเพื่อทำพุทธบูชาขึ้นอีกวันหนึ่ง
คือวันธรรมจักร หรือ วันอาสาฬหบูชา เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง
ธรรมจักกัปปวัตนสูตร
จากนั้นคณะสังฆมนตรีได้ลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา
โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๑ และในวันเดียวกันนั้น ได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้
โดยให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน กล่าวคือ
- เมื่อถึงวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ (หนังสัปดาห์ก่อนวันอาสาฬหบูชา) ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่ภิกษุสามเณร
อุบาสก อุบาสิกาในวัด ให้ทราบล่วงหน้าว่าวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ที่จะมาถึงข้างหน้านี้
เป็นวันทำพิธีอาสาฬหบูชา ถวายแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพิธีวิสาขบูชา
- เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ให้ภิกษุ สามเณร ตลอดจนศิษย์วัด คนวัด ช่วยกันปัดกวาด
ปูลาดเสนาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะ เช่นเดียวกับทำงานวิสาขบูชา
- ให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถเป็นพิเศษเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประกาศวันธรรมจักร
ให้ปรากฏแก่มหาชน และเป็นการเตือนให้ระลึกถึงสัจธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง
ไว้ในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
- วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันจัดพิธีอาสาฬหบูชา จะกำหนดให้เวลาเช้าและบ่ายมีธรรมสวนะ
ตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกามาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถหรือพระเจดีย์ จากนั้นจึงจุดธูปเทียนแล้ว ถือรวมกับดอกไม้ ยืนประนมมือสำรวมจิต
โดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานจะนำกล่าวคำบูชาจบแล้วทำประทักษิณ(เวียนเทียน)
- เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบแล้ว ให้ภิกษุสามเณรเข้าไปในพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัย
ทำวัตรค่ำแล้วสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำ
- ต่อจากนั้น ให้พระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แล้วให้ พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตรทำนองสรภัญญะ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชน
- เมื่อสวดจบแล้วให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัย สวดมนต์ สนทนาธรรมบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามสมควรแก่อัธยาศัย
อนึ่ง เวลาที่ใช้ในการประกอบพิธีอาสาฬหบูชาไม่ควรเกินเวลา ๒๔.๐๐ น. เพื่อให้พระภิกษุ
และสามเณรได้มีเวลาพักผ่อน เนื่องจากในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันเข้าปุริมพรรษา
และเป็นวันประชุมอธิษฐานพรรษาของพระสงฆ์อีกด้วย
|