: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย
 

บรรพชาสามเณร
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ

 
   

สามเณร
การบรรพชาเป็นสามเณรมีมาแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสให้พระสารีบุตรพุทธสาวก ทรงบรรพชาให้กับ สามเณร "ราหุล" ผู้เป็นพุทธบุตรนับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา และ ถือเป็นประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่มารดา-บิดานำบุตรหลานที่เป็นชาย อายุยังไม่ถึงเบญจเพศ คือ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เข้าไปรับการ บรรพชาเป็นสามเณร ซึ่งแต่โบราณกาลมานั้น การที่จะได้เล่าเรียนเขียนอ่านตำรับตำรา ต้องอาศัยวัดเป็นสถานที่เล่าเรียนให้กับกุลบุตร และจำเป็นต้องบรรพชาเป็น สามเณร ก่อนจึงจะได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระเถระ เพื่อที่จะได้เข้าไปอยู่ในวัด ตามธรรมเนียมวัดจึงเป็นทั้งบ้าน โรงเรียน และศูนย์ฝึกหัดฝีมือทุกแขนงของ สามเณร

 
   

ประวัติความเป็นมา:
ในระหว่างพรรษาที่ ๓  ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท เมื่อเสด็จไปถึงมีพุทธบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นประธานพร้อมด้วยพระญาติได้ถวายการต้อนรับ และจัดให้ประทับที่อารามของเจ้าศากยะองค์หนึ่งชื่อว่า นิโครธ จึงได้เรียกว่า นิโครธาราม

ในวันที่ ๗ พระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าไปทรงรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ พระนางยโสธราพิมพา ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระโอรสราหุล พระโอรสของพระโพธิสัตว์เมื่อก่อนทรงผนวช ได้ทรงแต่งพระราหุลออกมามารับให้กราบทูลพระราชบิดาทำนองว่ากราบทูลขอพระราชสมบัติ พระโอรสราหุลขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๗ ขวบ ได้ออกมากราบทูลขอมรดก พระพุทธเจ้าก็ทรงมีพุทธดำริว่า ทรัพย์ที่เป็นโลกียะนั้นเป็นของที่ไม่ยั่งยืนต่ว่าอริยทรัพย์เป็นสิ่งยั่งยืนกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อทรงมากราบทูลขอมรดกจึงทรงได้โปรดประทานอริยทรัพย์ให้ บรรดาสมบัติใดๆ ในโลกนี้ก็ตามเมื่อครอบครองแล้วก็ยังไม่พ้นซึ่งความทุกข์ ไม่พ้นจากความเกิด ความแก่และความตาย ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสังสาร สมบัติชนิดเดียวที่พระองค์จะทรงพระราชทานให้ได้ก็คืออริยสมบัติ คือ สมบัติภายในซึ่งเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น คือ พระนิพพาน

พระพุทธองค์ได้ทรงนำพระราหุลใหตามเสด็จไปนิโครธารามด้วย และเมื่อถึง นิโครธารามแล้ว ทรงโปรดให้พระสารีบุตร บรรพชาพระราหุล เป็นสามเณรราหุล จึงนับเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา และก็ใช้วิธีบวชด้วยให้ถึงสรณะ ๓ (คือรับไตรสรณคมน์) สืบต่อมาจนทุกวันนี้

วิธีการบวชนั้นก็คือ ให้ผู้จะบวชนั้นปลงผมและหนวด (ปัจจุบันปลงคิ้วด้วย; ซึ่งเห็นจะมีเฉพาะในเมืองไทยซึ่งมีประวัติของการที่ต้องให้ปลงคิ้ว ต้องหาอ่าน ในประวัติศาสตร์ไทยในยุคสมัยขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ผู้จะบวชสามเณร ครองผ้าจีวรเหมือนกับการอุปสมบทแล้วเข้าไปไหว้ (กราบ) ภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์ แล้วรับไตรสรณคมน์จากท่าน จากนั้นก็รับสิกขาบท คือ รับศีล ๑๐ ข้อ ซึ่งวิธีการก็คือ

       

ขั้นตอนการบรรพชาสามเณร

  • รับไตรสรณคมน์
    นโม ตสฺส ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส(ว่า ๓ จบ)
    พุทฺธํ สรณํ คจฺฉาม
    ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
    สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

    ทุติยมฺปิ พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ
    ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉาม
    ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉาม

    ตติยมฺปิ พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ
    ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
    ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

ส่วนการรับสิขาบท คือ ศีล ๑๐ ข้อ ของสามเณรก็คือ

  1. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิขาปะทัง สะมาทิยามิ(ข้าพเจ้าสมาทานสิกขาบท เว้นจากการฆ่าสัตว์)
  2. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ(เว้นจากการลักทรัพย์)
  3. อพรัหมะจะริยา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ(เว้นจากการประพฤติล่วงพรหมจรรย์)
  4. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากการพูดเท็จ)
  5. สุราเมระยะมัชชะป มาทัฏฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สมาทิยามิ(เว้นจากการดื่มสุรา)
  6. วิกาละโภชนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ(เว้นจากการบริโภคอาหารยามวิกาล)
  7. นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ(เว้นจากการดู การรื่นเริง)
  8. มาลาคันธะ วิเลปะนะธาระณะ มัณฑะนะวิภูสะนัฎฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (เว้นจากกานตกแต่งร่างกายทัดทรงด้วยเครื่องประดับ และลูบไล้ด้วยของหอม)
  9. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ(เว้นจากการนั่งนอนบนที่นอนสูง)
  10. ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (เว้นจากการรับเงินทอง)

เพียงเท่านั้นก็เป็นอันเสร็จพิธีบรรพชาสามเณร ในการบวชนี้จะมีบริขารครบหรือไม่ก็ได้ จะทำพิธีบวช ที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นพัทธสีมาไม่ต้องทำเป็นพีธีสงฆ์ไม่ต้องมีการสวดญัตติและอนุสาวนา เพียงแต่รับไตรสรณคมน์กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ได

เหตุให้ต้องได้รับอนุญาตจากมารดา- บิดา
ในระหว่างพรรษาที่ ๓ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเสด็จไปถึง (ธมฺมปท.๖/๓๑-๓๔) พระญาติมีพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาเป็นประธาน ก็ถวายการต้อนรับและจัดให้ประทับที่นิโครธาราม

ในวันที่ ๓ ที่ประทับอยู่ที่นั่นเป็นวันประกอบพิธีวิวาหมงคลและพิธีมงคล ขึ้นตำหนักอภิเษกของพระราชกุมารทรงพระนามว่า นันทะ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระน้านางมหาปชาบดี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเรือนหรือตำหนักของพระนันทราชกุมาร พระนันทราชกุมารก็ทรงรับบาตรของพระพุทธเจ้า และก็เสด็จตามส่งพระพุทธเจ้าออกมา ฝ่ายพระนันทะก็ทรงถือบาตรตามพระพุทธเจ้าเรื่อยมา และก็ทรงนึกเรื่อยมาว่พระพุทธเจ้าจะทรงรับบาตรที่นี่ที่นั่น พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงรับบาตรคืน ก็ต้องถือบาตรตามพระพุทธเจ้าเรื่อยมาจนถึงนิโครธาราม ครั้นถึงนิโครธารามแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามพระนันทะว่าจะบวชไหม พระนันทะทูลตอบว่าจะบวช ด้วยไม่กล้าจะขัดพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าก็โปรดให้สงฆ์บวชพระนันทะเป็นภิกษุ

ต่อมาในวันที่ ๗ ได้เสด็จเข้าไปทรงรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ พระนางยโสธราพิมพา ซึ่งเป็นพระมารดาของ พระโอรสราหุลพระราชโอรสของพระโพธิสัตว์เมื่อก่อนทรงผนวช ทรงแต่งพระราหุลออกมาให้กราบทูลพระราชบิดาำ ทำนองว่ากราบทูลขอพระราชสมบัติ พระราหุลเวลานั้นมีพระชนม์ ๗ ขวบ ออกมาทูลขอมรดก

พระพุทธเจ้าก็ทรงนำพระราหุลไปนิโครธารามด้วย และเมื่อถึงนิโครธารามแล้วก็โปรดให้พระสารีบุตร บรรพชาพระราหุลเป็นสามเณรด้วยใช้วิธีให้รับสรณะ ๓ คือ วิธีอุปสมบทด้วยถึงสรณะ ๓ ที่ทรงเลิกไปแล้วนั้นมาใช้บรรพชาสามเณร พระราหุล จึงเป็นสามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธดำริว่า่ทรัพย์ที่เป็นโลกียะนั้น เป็นของที่ไม่ยั่งยืน แต่ว่าอริยทรัพย์เป็นสิ่งยั่งยืนกว่า เพราะฉะนั้นเมื่อมากราบทูลขอมรดกจึงได้ประทานอริยทรัพย์ให้

ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา เมื่อได้ทรงทราบดังนั้นก็ทรงมีความทุกข์เป็นอย่างยิ่ง ได้รีบเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วก็ทูลถึงความทุกข์ในพระราชหฤทัยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกทรงผนวชนั้นก็ทรงประสบความทุกข์์อย่างใหญ่เป็นครั้งแรก ครั้นเมื่อพระนันทะทรงออกผนวชอีก ก็ทรงประสบความทุกข์เป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังหวังอยู่ว่า ยังมีพระราหุลจะทรงเป็นผู้สืบพระราชวงศ์ต่อไปแต่มาครั้งนี้พระราหุลมาทรงบรรพชาอีก ก็ยิ่งทรงประสบความทุกข์อย่างหนักเป็นครั้งที่ ๓ เพราะฉะนั้นก็ทรงขอประทานพรพระพุทธเจ้าข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า ได้ทรงล่วงพรเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาก็ทูลโดยความว่า
ก็มิใช่จะเป็นการบังคับ เมื่อทรงเห็นสมควรก็ประทาน เมื่อไม่ทรงเห็นสมควรก็อย่าประทาน พระพุทธเจ้าก็ทรงให้พระเจ้าสุทโธทนะตรัสว่า จะทรงขออะไร พระเจ้าสุทโธทนะก็ได้ทูลขอพรข้อหนึ่งว่า

“ต่อไปเมื่อพระสงฆ์จะบวชผู้ใดให้ผู้้นั้นได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาก่อน เพราะได้ทรงปรารภถึงความทุกข์ที่เกิดแก่พระองค์ครั้งนี้ว่ามากมายนัก ก็อย่าให้ความทุกข์เช่นนี้ เกิดขึ้นแก่มารดาบิดาอื่นเลย พระพุทธเจ้าก็ทรงมีพระบรมนุญาตและก็ได้ทรงตรัสสั่งพระสงฆ์ว่า จะบวชให้ใครต่อไปนับจากนั้นก็ต้องให้ผู้นั้นได้รับอนุญาตจากมารดาบิดาเสียก่อน” ตลอดมาถึงบัดนี้

   

นี่จึงเป็นมูลเหตุเบื้องต้นนับแต่นั้นมา ที่มีข้อกำหนดว่าเมื่อผู้ประสงค์จะบรรพชาเป็นสามเณร หรือ อุปสมบทเป็นพระภิกษุจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดา-มารดาเสียก่อน จึงจะดำเนินการได้ เว้นไว้แต่มารดา-บิดาไม่มีชีวิตอยู่ ดังนั้นเมื่อจะทำการบรรพชาหรืออุปสมบทพระสงฆ์ ผู้จะทำการให้ก็จะถามก่อนเป็นอันดับแรกว่า บิดา-มารดา ท่านได้อนุญาตหรือยังหากว่ายังก็ให้ไปขออนุญาตก่อน

 
   

 

 


   

 



                 





    
        

                           
         
                               
         

 

            
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย  :  ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐ โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com / www.watthampra.com             email :
info@watthumpra.com / watthampra@hotmail.com