: : ยินดีต้อนรับเข้าสู่สถานปฏิบัติธรรม กับธรรมชาติที่สัปปายะ สงบ สะอาด ป่าไม้ ถ้ำ และภูเขา บนเนื้อที่ ๘๐ ไร่ ..วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ อ.พาน จ.เชียงราย
 

การอุปสมบทพระภิกษุ

การบรรพชา-อุปสมบท การบรรพชา-อุปสมบทพระภิกษุสงฆ์ ณ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ สำหรับท่านที่ประสงค์จะนำบุตรหลานเข้ารับการบรรพชา-อุปสมบท โดยมีพระครูจันทนิภากร (หลวงพ่อถวิล จนฺทสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ กรุณาติดต่อขอรายละเอียดโดยตรงที่ วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ หรือ โทร ๐๕๓ ๑๘๔ ๓๒๕   

เรื่องการบวช

        เรื่อง การบวช คำนี้ ออกมาจากคำว่า ปัพพัชชา มีคำแปลอย่างหนึ่งว่าการออก การออกที่เป็นการบวช หรือปัพพัชชานี้ ในเบื้องต้นก็เป็นการออกทางกาย คือ ออกจากเคหสถานบ้านเรือนมาเป็นผู้ไม่มีเรือน เพราะฉะนั้น จึงมีคำเรียกนักบวชว่า อนาคาริยะ ที่แปลว่า คนไม่มีเรือน คนไม่มีบ้าน เพราะว่าได้ออกจากบ้านเรือนมาแล้ว เมื่อออกมาเป็นอนาคาริยะ คือ คนไม่มีบ้านคนไม่มีเรือน

       ดังนี้แล้ว จึงต้องมีความเป็นอยู่เกี่ยวพันกับ นิสสัย ๔ ของบรรพชิต คือ ผู้บวช

สมเด็จพระญาณสังวร(เจริญ สุวฑฺฒโน)
๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๖

 

   

ความเป็นมา:
ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้ายังบำเพ็ญอยู่ในวิสัยแห่งพระโพธิสัตว์เป็นเจ้าชาย"สิทธัตถะ" ยังเป็นพระราชโอรส ได้เสวยสุขสมบัติอยู่ในพระราชวัง ๓ ฤดูได้เสด็จประพาสอุทยานก็ได้มีเทวดามานิมิตถึงเทวทูตทั้งสี่ได้แก่ คนแก่ชรา คนเจ็บป่วย คนตาย และนักบวชนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งในยุคนั้นเรียกว่า บรรพชิต ทรงได้พบเห็น นิมิตเหล่านั้นทรงเกิดความสะเทือนใจ ทรงเกิดความสังเวชเศร้าหมองขึ้นในจิตใจ

เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าเสด็จกลับมายังพระราชฐาน ทรงเกิดความเศร้าหมองจากสิ่งที่ได้พบเห็น ได้เสด็จเข้าสู่พระราชฐานที่ประทับ และทรงบรรทมอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นหมู่นางพระกำนัล ที่มีหน้าที่ขับกล่อมฟ้อนรำถวายต่างก็เอนกายลงนอน หลับไหลมิได้สติ เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าตื่นจากบรรทมก็ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นอาการวิปลาศ ขาดสติจากการนอนหลับไหลของนางพระสนมกำนัลเหล่านั้น แต่ละนางต่างก็แสดงอาการละเมอ บ้างก็นอนเกลือกกลิ้งมีน้ำลายไหล บ้างก็แสดงอาการอันไม่น่าดู เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงทรงรำพึงในพระทัยว่า “แต่ก่อนนั้น ห้องในประสาทที่ประทับช่างเลิศเลอ สวยงาม
มีเหล่านางในบาทบริจาริกาที่เคยสวยสดงดงามดุจนางเทพอัปสรสวรรค์ บัดนี้เห็นวิปลาสไปประดุจซากศพในป่าช้า” เมื่อดำริดังนั้นแล้วก็ได้มีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในกามคุณ ๕ ยิ่งนัก ทรงมีพระทัยโน้มเข้าหาการบรรพชา จึึงทรงดำริที่จะออกบรรพชาในคืนนี้ซึ่งเป็นคืนวันเพ็ญเดือน ๘ ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุ ๒๙ พระชันษา

   

พระโพธิสัตว์สิทธัตถะได้ทรงตัดสินพระทัยเด็ดเดี่ยวแล้วในการบรรพชาจึงทรงปรารถนาที่จะทรงเห็น พระโอรสเป็นครั้งสุดท้ายทรงเพ่งพิศพระโอรสด้วยเสน่หาอาลัยรัก หากทรงดำริว่า “แม้หากเราจะยกพระหัตถ์พระชนนีแล้วอุ้มเอาพระโอรสขึ้นมา พระนางก็จะตื่นฟื้นจากบรรทม อันตรายต่อการที่จะเสด็จออกบรรพชาก็จะพึงมี อย่าเลย ต่อเมื่อเราได้สำเร็จแก่พระโพธิญาณการตรัสรู้แล้วจึงจะกลับมาทัศนาลูกน้อยในภายหลัง”

เมื่อตัดสินพระทัยเช่นนั้น จึงมีรับสั่งใหันายฉันนะ ซึ่งเป็นมหาดเล็กได้จัดม้าถวาย ซึ่งนายฉันนะได้จัดเตรียมม้าชื่อ ม้ากัณฐกะ เป็นอัศวราชยาน และมหาดเล็กนายฉันนะก็ได้ติดตามเสด็จพระโพธิสัตว์ ออกจากพระราชวังไปทางประตูทิศตะวันออก มุ่งสู่แคว้นมคธ ในยามนั้นพญามารพยายามกล่าวห้ามขัดขวาง แต่ก็หาได้ทำให้พระองค์ท่านปลี่ยนแปลงพระทัยไม่ จึงได้ติดตามพระองค์ท่านประดุจเงา พระโพธิสัตว์ทรงควบม้าสิ้นระยะทาง ๓๐ โยชน์ มุ่งสู่ฝั่ง แม่น้ำอโนมา ตรัสว่า ชื่อแม่น้ำอโนมาเป็นมงคลนิมิต ซึ่งแปลว่า ไม่ต่ำทราม คือ ยอดเยี่ยม เป็นเลิศ

พระโพธิสัตว์ทรงเสด็จลงจากหลังม้า และทรงมอบเครื่องอาภรณ์และพญาม้ากัณฐกะให้นายฉันนะ ทรงดำริว่า “เกศานี้ไม่ควรแก่การดำรงเพศแห่งความเป็นสมณะ ผู้ที่จะตัดพระเกศาพระโพธิสัตว์ก็หามีไม่ จึงควรจะตัดเสียเอง” เมื่อดำริดังนั้นจึงทรงจับพระขรรค์ด้วยพระหัตถ์ขวา และจับจุกพระเกศาให้เหลือยาวประมาณ ๒ องคุลี เวียนทางขวาแนบชิดพระเศียร ทรงโยนจุกพระเกศาขึ้นไปบนอากาศ
แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า “หากเราได้เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้จุกพระเกศานี้ลอยอยู่กลางอากาศเถิด” ซึ่งในยามนั้นท้าวสักเทวราชได้ทรงรับพระเกศาไว้ด้วยผอบแก้ว แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ใน “พระเจดีย์จุฬามณี” และมหาพรหมนามว่า “ฆฎิการะ” ได้นำเอาผ้าทรงไปประดิษฐานไว้ที่ทุสสเจดีย์ในพรหมเทวโลก เมื่อทรงสำเร็จเป็นเพศบรรพชิตแล้ว ตรัสสั่งให้นายฉันนะผู้ติดตามพร้อมม้ากัณฐกะ กลับไปแจ้งข่าวการเสด็จออกบวชแก่พระราชบิดา

จากการที่พระองค์ได้ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตหรือเป็นนักบวชแล้ว พระองค์ได้ทรงทำการศึกษาในสำนักฤาษีต่างๆ ทรงบำเพ็ญเพียรอย่างหนักหน่วงเป็นเวลาถึง ๖ ปีเต็ม จนได้สำเร็จในพระโพธิญาณได้บรรลุมรรคผลวิเศษ รู้แจ้งแห่งญาณทัศนะ เข้าถึงความเป็นพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงได้บรรลุเป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์ สิ้นอาสวกิเลสทั้งหลาย ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพังพระองค์เอง ครั้นพบสัจธรรมความจริงนั้นแล้ว พระองค์จึงทรงนำสัจจธรรมนั้น มาเผยแผ่แก่มหาชนชาวโลกผู้ที่ยังไม่รู้ความจริงให้ได้ทราบตาม

โดยครั้งแรกนั้นได้ทรงประกาศสั่งสอนธรรมนั้นแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่เคยเฝ้าอุปัฏฐากดูแลพระองค์ในครั้งที่ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาก่อนที่จะได้ตรัสรู้ ซึ่งในการสั่งสอนธรรม เป็นปฐมเทศนากัณฑ์แรกเกี่ยวกับเรื่องอริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐสี่ประการนั้น หนึ่งในจำนวนนั้น คือ ท่านโกณฑัญญะพราหมณ์ ได้เข้าใจธรรมะ คือ ได้มองเห็น ธรรมตามธรรม

ขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมนี้อยู่ท่านโกณฑัญญะได้ส่องญาณตามไปจนเกิด “ธรรมจักษุ” หรือ ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงโดยเห็นแจ้งชัดว่า“สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา” เมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทรงทราบจึงเปล่งพระอุทานว่า “อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” เพราะพระองค์ทรงอุทานคำนี้ ภายหลังท่านโกณฑัญญะจึงได้นามใหม่ว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” จากนั้นโกณฑัญญะก็ทูลขออุปสมบท


ซึ่งพระพุทธเจ้าประทานอนุญาต โดยทำการอุปสมบทให้แบบ เอหิภิกขุ อุปสัมปทาน นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนาที่บวชตามพระพุทธองค์ จึงทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์

จากนั้นอีก ๕ วันทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรแก่นักบวชทั้งห้ารูปทำให้ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา จึงทูลขอบวชตาม ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงประทาน “เอหิภิกขุ” ให้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งการบวชของท่านเหล่านั้น เราเรียกว่า “การอุปสมบท”

ลักษณะและวิธีการขอบวช
การบวชในระยะแรกๆ นั้น พระองค์จะเป็นผู้ประทานการอุปสมบทให้สำหรับผู้ที่ต้องการเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา และเมื่อพระสงฆ์สาวกที่พระองค์ทรงประทานการอุปสมบทให้นั้น ได้จาริกเผยแผ่ธรรมไปยังที่ต่างๆ ที่ห่างไกลออกไป และมีผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสมากขึ้นและมาขอบวชเป็นจำนวนมาก เหล่าพระสงฆ์สาวกก็ต้อง นำเอาผู้มีจิตศรัทธาเหล่านั้นมาเข้าเฝ้าพระองค์เพื่อประทานการบวชให้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นถึงความยุ่งยากที่เกิดขึ้น จึงทรงอนุญาตให้เหล่าพระสงฆ์สาวกเป็นผู้ทำการอุปสมบท ให้ได้โดยตรงโดยไม่ต้องนำมาเฝ้าพระพุทธองค์ก็ได้ ซึ่งต่อมาเมื่อมีพระะสงฆ์สาวกมากขึ้น ก็ทรงมอบหน้าที่การอุปสมบทให้เหล่าพระสงฆ์เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งมีการ ตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ เช่น มีอายุครบหรือไม่ มีโรคประจำตัวร้ายแรงหรือไม่ มีหนี้สินติดตัวหรือไม่ มารดาบิดาอนุญาตหรือยัง ถ้าเห็นว่ามีคุณสมบัติที่ครบบริบูรณ์แล้วจึงจะให้อุปสมบท ถ้าไม่พร้อมก็บวชให้ไม่ได้

ซึ่งการอุปสมบทที่พระองค์ทรงบวชให้เองนี้มีหลายวิธี แต่วิธีบวชหลักๆ นั้นมีอยู่ด้วยกัน ๓ วิธี ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้คือ

  1. เอหิภิกขุอุปสัมปทา
    วิธีการอุปสมบทที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง คือในระยะแรกที่เพิ่งตรัสรู้ใหม่ๆ เมื่อได้แสดงธรรมให้ใครฟังแล้ว ผู้ฟังนั้นเกิดความเลื่อมใสศรัทธาทูลขอบวชตาม พระองค์ก็จะอนุญาตให้เป็นบรรพชิตได้ด้วยพระดำรัสที่ตรัสว่า "เอหิภิกขุ" “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” ดังนี้ ด้วยพระดำรัสที่ตรัสเพียงเท่านั้นก็ทำให้ผู้มาขอบวชสำเร็จเป็นบรรพชิตได้

    พระภิกษุที่บวชด้วยวิธีนี้มีมากในยุคแรกเท่าที่มีปรากฏเด่นชัดก็คือ เหล่าพระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูป พระยสะ กับเพื่อนอีก ๕๔ รูป พระภัททวัคคีย์ ๓๐ รูป พระชฏิล ๓ พี่น้อง และบริวาร ๑๐๐๐ รูป พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะพร้อมด้วยบริวาร ๒๕๐ รูป เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็ได้บวชด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ทั้งนั้น


  2. ติสรณคมนูปสัมปทา
    วิธีการอุปสมบทที่พระสงฆ์สาวก(เหล่านั้น)บวชให้ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเห็นความยากลำบากของพระสงฆ์สาวก ที่แยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนายังถิ่นไกลๆ เมื่อมีผู้เลื่อมใสมาขอบวช พระสาวกเหล่านั้น จะต้องนำพาผู้ต้องการบวชนั้นมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อให้พระองค์ทรงบวชให้ เป็นความลำบากแก่พระสงฆ์สาวกและผู้จะบวชเอง ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระสงฆ์สาวกและผู้ต้องการบวชเหล่านั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระสาวกทำการบวชให้ผู้มาขอบวชได้เลย โดยไม่ต้องพากกลับมาเฝ้าพระพุทธองค์์อีก ด้วยวิธีให้ผู้ต้องการบวชนั้นปลงผม และโกนหนวด นุ่งห่มผ้าเป็นปริมณฑล คือนุ่งห่มเรียบร้อยแล้วเข้ามากราบเท้าภิกษุทั้งหลายผู้จะให้บวช แล้วให้กล่าวคำรับไตรสรณคมน์ ๓ ครั้ง ดังนี้คือ

    นโม ตสฺส ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส  (ว่า ๓ จบ)
      
    พุทฺธํ   สรณํ   คจฺฉามิ
    ธมฺมํ   สรณํ   คจฺฉามิ
    สงฺฆํ   สรณํ   คจฺฉามิ
               
    ทุติยมฺปิ  พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ
    ทุติยมฺปิ  ธมฺมํ  สรณํ  คจฺฉามิ
    ทุติยมฺปิ  สงฺฆํ  สรณํ คจฺฉามิ                   
                    
    ตติยมฺปิ  พุทธํ  สรณํ  คจฺฉามิ
    ตติยมฺปิ  ธมฺมํ  สรณํ  คจฺฉามิ
    ตติยมฺปิ  สงฺฆํ  สรณํ  คจฺฉามิ


    กล่าวจบเพียงเท่านี้ก็ถือว่าผู้นั้นได้อุปสมบทในพระศาสนาสมบูรณ์แล้ว (อย่างไรก็ตามในตอนหลัง เมื่อทรงอนุญาตการอุปสมบทให้เป็นภารกิจของพระภิกษุสงฆ์แล้ว ได้เปลี่ยนวิธีการรับไตรสรณคมน์นี้ มาเป็นการบวชให้สามเณรแทน)

  3. ญัตติจตุตถกรรมวาจา (ใช้ในปัจจุบัน)
    วิธีการอุปสมบทที่พระสงฆ์จะต้องร่วมกันให้การอุปสมบทด้วยวิธีสวดกรรมนั้น ๔ จบ คือ 
    ครั้งแรกสวดญัตติ คือ ประกาศกรรมนั้นให้สงฆ์ทราบเพื่อร่วมกันทำกิจนั้น(หรือคำเผดียงสงฆ์) ๑ จบ 
    ส่วนครั้งที่สองสวดอนุสาวนา
    (ขอมติ) อีก ๓ จบ คือสวดประกาศขอปรึกษาหารือและข้อตกลงกับสงฆ์ในที่ประชุมนั้น (ว่าจะรับผู้นั้นเข้าเป็นพระภิกษุหรือไม่) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คำขอมติสงฆ์ นั่นเอง ถ้าหากภิกษุในที่ประชุมนั้นรูปใดรูปหนึ่งทักท้วงขึ้นมา คือไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุอะไรก็ตาม ผู้ขออุปสมบทนั้นก็จะบวชไม่ได้เพราะไม่เป็นมติเอกฉันท์ของคณะสงฆ์ บุคคลที่จะบวชได้คณะสงฆ์ทุกรูปจะต้องยอมรับ คือนิ่งเงียบ ไม่ทักท้วงตลอดการสวดญัตติ และอนุสาวนา ๓ ครั้ง จึงจะถูกต้องเป็นการบวชโดยที่ประชุมสงฆ์ยอมรับ

พระอุปัชฌาย์
การบวชด้วยวิธีนี้จะมีภิกษุรูปหนึ่งนำผู้จะบวช(อุปสัมปทาเปกขะ) เข้าไปหาสงฆ์ เราเรียกภิกษุผู้นำพานั้นว่า "อุปัชฌาย์" เมื่อพระที่เป็นพระอุปัชฌาย์นำผู้จะบวชเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์จะสมมติให้ภิกษุรูปหนึ่ง(ในปัจจุบันสมมติสองรูป) ซึ่งมีความฉลาดรอบรู้เป็นกรรมวาจาจารย์ สอบถามอันตรายิกธรรมกับผู้นั้น เมื่อเห็นว่าทุกอย่างเรียบร้อยถูกต้องครบถ้วนดีแล้ว ก็จะสวดอนุสาวนาขอมติจากคณะสงฆ์ว่าจะยินยอมรับหรือไม่ ถ้าสงฆ์นิ่งเงียบก็ถือว่ายอมรับ ผู้นั้นก็สำเร็จเป็นภิกษุได้ในเวลาที่สวดกรรมวาจาจบลงในครั้งที่ ๑

หลังจากสวดจบแล้ว ต่อไปเป็นหน้าที่ของภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์จะต้องบอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง  คือ นิสสัย  ๔ และอกรณียกิจ ๔  รวมเป็นอนุศาสน์  ๘

นิสสัย ๔
หรือ
ปัจจัยเป็นเครื่องอาศัยที่จำเป็นสำหรับผู้บวช คือ

  • บิณฑบาตเป็นวัตร คือกิจที่จะต้องบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์และแสวงหาอาหาร
  • นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ปัจจุบันคือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลจีวรโดยปริมณฑล คือ เรียบร้อย
  • อยู่โคนต้นไม้ คือ เป็นผู้ออกจากเรือนไม่มีเรือนอยู่ จึงอยู่ป่าอาศัยโคนต้นไม้
  • ใช้ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คือเป็นผู้สละเรือนแม้เจ็บไข้อาพาธต้องใช้สมุนไพรเป็นยา หรือหมักดองสมุนไพรเพื่อรักษาตนเอง

อกรณียกิจ ๔ 
หรือ กิจที่พระภิกษุสงฆ์ไม่พึงกระทำ คือ

  • ปาณาติบาต คือ การฆ่าสัตว์ หรือทำชีวิตของสัตว์อื่นให้ลำบากหรือล่วงไป
  • ลักทรัพย์ คือ การลักขโมย หรือถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
  • การเสพเมถุนธรรม
  • การอวดอุตริมนุษย์ธรรม คือ อวดคุณวิเศษอันไม่มีในตน

เมื่อพระอุปัชฌาย์บอกอนุศาสน์ ๘ อย่าง แก่ภิกษุผู้บวชใหม่นั้นเพื่อมิให้ประพฤติผิดพระธรรมวินัยและจะต้องดูแล ภิกษุนั้นพร้อมกับสั่งสอนธรรมไปตลอดอย่างน้อย ๕ ปี แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องจะด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น พระอุปัชฌาย์ ย้ายที่อยู่หรือมรณภาพไป ภิกษุผู้บวชใหม่นั้นจะต้องหาภิกษุอื่นที่มีความฉลาดเป็นที่อาศัยแทน ขอให้ท่านเป็นอาจารย์บอกสอนธรรมแทนพระอุปัชฌาย์ท่านนั้นไป จนกว่าอายุพรรษาจะครบ ๕ ปี เมื่อพ้น ๕ พรรษาแล้ว จึงถือว่าเป็นผู้มีความรู้ในธรรมวินัยพอรักษาตัวเองได้ ไม่ต้องถือนิสัยในอุปัชฌาย์หรืออาจารย์ต่อไปก็ได้เรียกว่า นิสัยมุตตกะ   

ประเภทของสงฆ์
คำว่า สงฆ์ นั้นแปลว่า หมู่ ในที่นี้หมายถึง การกสงฆ์ คือ หมู่ของภิกษุผู้กระทำกรรม มีจำนวนอย่างต่ำตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป และได้มีกำหนดไว้โดยย่อ ดั่งนี้

  • จตุวรรคสงฆ์ คือ สงฆ์ที่มีจำนวนภิกษุผู้ประชุมกัน ๔ รูป นี้เป็นการกสงฆ์ ที่สามารถทำสังฆกรรมทั่วๆ ไป เว้นแต่สังฆกรรมที่ระบุจำนวนมากกว่า

  • ปัญจวรรคสงฆ์ คือ สงฆ์มีจำนวน ๕ รูปประชุมกัน นี้ สามารถทำสังฆกรรม ได้แก่ปวารณาออกพรรษา อุปสมบทกุลบุตรในปัจฉิมชนบทประเทศ ถ้าต่ำกว่านี้ทำไม่ได

  • ทสวรรคสงฆ์ สงฆ์มีจำนวนภิกษุประชุมกัน ๑๐ รูปขึ้นไป สามารถทำสังฆกรรม คือ อุปสมบทกุลบุตรในมัชฌิมชนบทหรือมัชฌิมประเทศ ถ้าต่ำกว่านี้ทำไม่ได้

  • วีสติวรรคสงฆ์ สงฆ์มีจำนวนภิกษุ ๒๐ รูปขึ้นไป สามารถทำสังฆกรรม คือการให้อัพภานแก่ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส และอยู่ปริวาส มานัต ครบกำหนดแล้ว มาขอให้สงฆ์จำนวนนี้สวดชักเข้าหมู่ตามเดิม ถ้าจำนวนต่ำกว่านี้ทำไม่ได้

การบวชในปัจจุบัน

  1. ในปัจจุบันการอุปสมบท หรือการบวชที่มีปฏิบัติกันมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
    ๑. ารอุปสมบท หรือบวชพระภิกษุ ซึ่งทำการบวชด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจา
    ๒. การบรรพชา หรือบวชเป็นสามเณร สำหรับผู้ที่มีอายุยังไม่ครบบวช ซึ่งทำการบวชด้วยการรับไตรสรณคมน์ 

    วิธีการบรรพชาและอุปสมบททั้งสองอย่างนี้มีรายละเอียดดังนี้

การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
คุณสมบัติของผู้จะบวช ๕ ประการ

  1. วัตถุสมบัติ คือ คุณสมบัติของผู้จะบวชจะต้อง
    ๐ เป็นมนุษย์เท่านั้น
    เป็นเพศชาย
    ๐ มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์นับตั้งแต่ในครรภ์มารดาเป็นหลัก
    ไม่เป็นมนุษย์วิบัติ คือ ถูกตอน หรือเป็นบัณเฑาะ(กระเทย)
    ๐ ไม่ทำผิดร้ายแรง คือ มาตุฆาต-ปิตุฆาต หรือฆ่ามารดา หรือบิดาของตนมาก่อน
    ๐ ไม่เคยทำผิดต่อพระศาสนามาก่อน เช่นฆ่าพระอรหันต์ หรือเคยต้องอาบัติปาราชิกมาแล้วตั้งแต่บวชครั้งก่อน หรือเมื่อก่อนขณะที่บวชอยู่ได้ไปเข้ารีตเดียรถีย์มา


    อาการข้อห้ามเหล่านี้ถ้าสงฆ์บวชให้โดยไม่รู้ความจริง การบวชของผู้นั้นก็ไม่สำเร็จเป็นพระภิกษุได้ เมื่อรู้ภายหลัง จะต้องให้สึกไปเสีย


    นอกจากนี้ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่ห้ามบวชเหมือนกัน แต่ก็ไม่ถึงกับอุปสมบทไม่ได้ ยังอุปสมบทได้  แต่บุคคลประเภทนี้เป็นหน้าที่ของพระภิกษุอุปัชฌาย์จะต้องคัดเลือกให้ดีเสียก่อน ถ้ารู้แต่แรกห้ามมิให้บวช ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คนที่บิดามารดายังไม่ได้อนุญาต คนที่รับราชการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางการหรือหน่วยงาน  คนที่มีอาญาแผ่นดินติดตัวมา คนที่มีร่างกายพิการต่างๆ รวมถึงเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย เป็นโรคติดต่อชนิดร้ายแรง โจรที่มีชื่อเสียงมาก่อน  คนที่หนีหนี้มาบวช คนที่เป็นทาสผู้อื่น คนไม่มีอัฏฐบริขาร คนไม่มีพระอุปัชฌาย์ ในคนจำพวกนี้ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่รู้แล้วให้อุปสมบท มารู้เข้าภายหลังก็ไม่ควรให้สึก เมื่อบวชแล้วก็อนุโลมให้เลยตามเลย

  2. ปริสสมบัติ 
    ซึ่งในส่วนนี้กำหนดหมายถึงพระภิกษุสงฆ์ที่จะเข้าร่วมทำการอุปสมบทให้ หมายถึงพระอันดับให้ผู้ขอบวช คือ อุปสัมปทาเปกขะนั้น ภิกษุจะต้องเข้าประชุมสงฆ์ให้ครบตามจำนวน คือ
    ในมัธยมประเทศ หรือประเทศที่เจริญแล้ว และสามารถหาพระภิกษุสงฆ์ได้ง่าย กำหนดให้ต้องมีพระภิกษุสงฆ์เข้าร่วมสังฆกรรมอย่างน้อย ๑๐ รูป ขึ้นไป
    ในปัจจันตประเทศ หรือประเทศที่เป็นชนบท หาภิกษุสงฆ์ในการเข้าร่วมสังฆกรรมได้น้อย กำหนดให้ต้องมีพระภิกษุสงฆ์เข้าร่วมอย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป

    ส่วนในประเทศไทยปัจจุบันนี้ถือว่าพระศาสนามั่นคงบริบูรณ์มีพระภิกษุสงฆ์จำนวนมาก จัดอยู่ในมัธยมประเทศ จึงกำหนดให้ใช้ภิกษุสงฆ์เข้าร่วมสังฆกรรม ๑๐ รูปขึ้นไป ถ้ามีภิกษุน้อยกว่ากำหนดถือว่าเป็นปริสสมบัติบกพร่อง เป็นปริสวิบัติไป ทำการอุปสมบทไม่ขึ้น ซึ่งกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้นิยมใช้ภิกษุเข้าร่วมในการทำสังฆกรรมจำนวนประมาณ ๒๕ รูปขึ้นไป หรือบางครั้งก็แล้วแต่ความประสงคของเจ้าภาพจะกำหนดจำนวน


  3. สีมาสมบัติ ภิกษุสงฆ์ที่จะเข้าร่วมในการให้อุปสมบทนี้ จะต้องประชุมทำสังฆกรรมพร้อมกันในสีมาเดียวกันเท่านั้น จะแยกกันทำไม่ได้ แม้ในเขตชุมนุมสงฆ์ หรือเขตสีมานั้นจะมีภิกษุสงฆ์ครบตามจำนวนที่กำหนดก็ตาม แต่ทั้งหมดก็ต้องมาประชุมรวมกันในเขตสีมานั้นอย่างพร้อมเพรียงกัน ถ้าภิกษุรูปใดมาไม่ได้จะต้องมอบฉันทะมาบอก มิเช่นนั้นการอุปสมบทนั้นก็ไม่สำเร็จ กลายเป็นสีมาวิบัติไป หรือแม้เป็นการชุมนุมในสถานที่มิใช่สีมาก็ให้การ อุปสมบทไม่ไดเช่นกัน เว้นไว้แต่ว่าในสถานที่เช่นนั้นไม่มีสีมา หรือไม่มีอุโบสถ คณะสงฆ์จะต้องสมมติสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งกำหนดเป็นเขตสีมาเสียก่อน จึงทำการให้อุปสมบทได้

  4. บุพกิจ คือ ข้อที่ผู้จะทำการบวชจะต้องกระทำให้สำเร็จก่อนที่จะขออุปสมบท เริ่มตั้งแต่แสวงหาภิกษุผู้ฉลาด มีความรู้ที่พอจะบอกสอนตนเองได้ ซึ่งเรียกว่า“พระอุปัชฌาย์” ซึ่งพระอุปัชฌาย์นี้จะเป็นผู้นำผู้ขอบวชนั้นเข้าไปหาสงฆ์ ขอให้พระสงฆ์ทำการอุปสมบทให้ หลังจากการที่พระสงฆ์ได้บวชให้แล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ที่จะต้องคอยบอกสอนพระธรรมวินัย ตลอดจนสอนกรรมฐานให้ เพื่อให้รู้จักขนบธรรมเนียมการปฏิบัติตน และเจริญธรรมในทางศาสนาต่อไป นอกจากนั้นแล้วผู้บวชจะต้องเตรียมเครื่องอัฐบริขาร ๘ ให้พร้อม คือ

    อัฐบริขาร ๘
    ๐ ผ้าจีวร
    ๐ สังฆาฏิ
    ๐ สบง
    ๐ บาตร
    ๐ มีดโกน
    ๐ กรองน้ำ(ธรรมกรก)
    ๐ ด้ายเย็บผ้าและเข็มเย็บผ้า
    (ถ้าไม่มีเป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ต้องจัดหาให้) พร้อมทั้งปลงผมและหนวดให้เรียบร้อย ซึ่งบุพกิจเหล่านี้ ต้องทำให้เสร็จก่อนที่จะเข้าไปหาสงฆ์เพื่อทำการอุปสมบท ซึ่งในการบวชนั้นต้องให้ผู้บวชเปล่งวาจาขอบวชด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้บวชอ้างความไม่พอใจภายหลัง ซึ่งมีพุทธบัญญัติห้ามบวชให้แก่บุคคลผู้ไม่ร้องขอ


  5. กรรมวาจาสมบัติ คือ การสวดประกาศกรรมวาจาในท่ามกลางสงฆ ์เมื่อพระที่เป็นอุปัชฌาย์ ได้นำผู้ที่จะบวชเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์แล้ว คณะสงฆ์ก็จะสมมติให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่สวดตั้งญัตติ ประกาศเรื่องสังฆกรรมนั้นให้สงฆ์รับทราบ (คำเผดียงสงฆ์) เพื่อร่วมกันทำกิจนั้นต่อไป แล้วซักถามผู้นั้นถึงความพร้อมต่างๆ เช่น อันตรายิกธรรมและข้อห้าม เป็นต้น ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถบวชได้ ท่านก็จะเรียกเข้าไปในท่ามกลางสงฆ์ แล้วสวดขอมติต่อคณะสงฆ์ ๓ ครั้ง (สวดอนุสาวนา) ถ้าสงฆ์ในที่นั้นฟังแล้วมีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่เห็นด้วยทักท้วงขึ้นมา ผู้นั้นก็จะบวชไม่ได้ แต่ถ้าสงฆ์ทั้งหมดนิ่งเงียบแสดงว่าทั้งหมดยอมรับการบวชนั้น ตลอดเวลาที่สวดอนุสาวนาไปก่อนจะครบ ๓ ครั้ง ภิกษุยังนิ่งเงียบอยู่ ครั้นครบ ๓ ครั้งตรงกับคำว่า โสภาเสยฺย ครั้งที่ ๓ ภิกษุจะทักท้วงขึ้นอีกไม่ได้แล้ว ถือว่าการบวชนั้นสมบูรณ์

    เนื่องจากการให้อุปสมบทนี้ผู้สวดจะต้องสวดให้ถูกอักขระของภาษามคธ พร้อมทั้งออกชื่อของพระอุปัชฌาย์และอุปสัมปทาเปกขะด้วย ซึ่งเป็นภาษามคธทั้งสิ้น ดังนั้นในปัจจุบันเพื่อป้องกันการสวดผิดพลาด ออกอักขระไม่ถูกต้องจึงนิยมสมมติให้มีผู้สวด ๒ รูป โดยรูปแรก เรียกว่า พระกรรมวาจาจารย์ รูปที่สองเรียกว่า พระอนุสาวนาจารย์ โดยทั้งสองจะต้องสวดพร้อมกันตั้งแต่สวดญัตติ สวดถามอันตรายิกธรรมและสวดอนุสาวนา ทั้งนี้ก็เพราะต้องการให้คำสวดนั้นสมบูรณ์ไม่ตกหล่น ถ้ารูปหนึ่งสวดผิดออกสำเนียงไม่ชัด ก็ยังเหลืออีกรูปหนึ่ง เป็นการทำให้การสวดนั้นมั่นคงชัดเจนมากขึ้น


    หลังจากที่พระกรรมวาจาจารย์สวดจบลง ก็เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์จะต้องบอกสอนอนุศาสน์ ๘ อย่าง ซึ่งเรียกว่านิสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ แก่ผู้บวชใหม่ เพื่อให้รู้ธรรมเนียมที่สำคัญในการประพฤติตนในศาสนาต่อไป

    คุณสมบัติทั้ง ๕ ประการที่ได้แสดงไว้นี้ ถือว่าเป็นคุณสมบัติของผู้ที่จะบวชต้องมีห้ครบ ถ้าไม่ครบถูกต้องตามนี้แม้ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ทำให้การบวชนั้นเป็นโมฆะ บวชมิได้


    ในส่วนของวิบัติ ๕ ประการ ก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคุณสมบัติ ๕ ประการนั่นเอง เช่น มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปี, เคยต้องปาราชิกมาแล้ว เคยฆ่าบิดามารดาของตนเองมาก่อน มีพระภิกษุเข้าร่วมทำการบวชให้ไม่ครบองค์ ไม่ได้บวชในสีมา ไม่มีพระอุปัชฌาย์ ไม่มีบริขาร ขณะสวดไม่ได้ออกชื่อผู้บวช ไม่ได้ออกชื่อพระอุปัชฌาย์ หรือมีพระที่นั่งอันดับนั้นคัดค้านการบวชนั้น สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจัดเป็น วิบัติ
     ของการบวชทั้งสิ้น

การถืออุปัชฌาย์
พระพุทธองค์ ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในสังฆกรรม มีการอุปสมบทเป็นต้น ในชั้นแรก ได้เล่าถึงการทรงสั่งให้พระที่บวชเข้ามาถืออุปัชฌาย์ก่อนปรารภเหตุว่า พระที่บวชเข้ามานั้นนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เข้าไปบิณฑบาตในบ้านไม่เรียบร้อย มีความประพฤติต่างๆ ไม่เรียบร้อยในเวลานั้น ซึ่งในพระบาลีไม่ได้เล่าว่าบวชด้วยวิธีไหน แต่ว่าในครั้งนั้นยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ก็น่าจะยังให้บวชกันด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือ ติสรณคมนุปสัมปทา

พระพุทธเจ้าได้ทรงปรารภเหตุนั้น จึงได้ทรงสั่งให้พระภิกษุทั้งหลายถือ อุปัชฌายะ ที่แปลว่า ผู้เข้าไปเพ่ง โดยความก็คือผู้ดูแล วิธีที่ให้ถืออุปัชฌายะนั้น ในช่วงแรกน่าจะเช่นเดียวกับการจัดให้มีพระพี่เลี้ยงที่ใช้กันอยู่ในบัดนี้ แปลว่า พระที่บวชเข้ามาต้องมีภิกษุผู้บวชมานานเป็นผู้ดูแลอีกส่วนหนึ่ง เรียกผู้ดูแลนั้นว่า “อุปัชฌายะ”

 
   


การอุปสมบทบรรพชาที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
สำหรับวัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ หากกุลบุตรท่านใดที่ประสงค์จะบรรพชา-อุปสมบท
จะจัดการจัดการบรรพชา-อุปสมบทแบบสงบ เรียบง่าย ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่ให้ถูกต้องตามหลักพระวิันัยทุกประการ ซึ่งหากบิดา-มารดาร ที่ประสงค์จะทำการบรรพชา-อุปสมบทให้กับกุลบุตร ที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญนั้น กรุณาติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ หรือ สอบถามทางโทรศัพท์ไปที่ โทร.๐๕๓-๑๘๔ ๓๒๕ เพื่อที่จะได้ทราบรายละเอียดวัน เวลา กำหนดการ และสิ่งที่จะต้องเตรียมก่อนการอุปสมบทบรรพชา

 


   

 



                 





    
        

                           
         
                               
         

 

                    
วัดถ้ำพระบำเพ็ญบุญ
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ประจำจังหวัดเชียงราย
ศูนย์พัฒนาคุณธรรม-จริยธรรมประจำจังหวัดเชียงราย
๓๙๕ หมู่ ๑๑ ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ๕๗๒๕๐
โทรศัพท์ (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕ โทรสาร (๐๕๓)๑๘๔ ๓๒๕

website : www.watthumpra.com
email : iw.watthumpra@gmail.com