"ภัตตาหารมื้อแรก"
ความปรารถนาของนางสุชาดา
ณ หมู่บ้านอันตั้งอยู่ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ยังมีธิดาของเศรษฐีผู้หนี่งนามว่า สุชาดาในวัยสาวนางเคยอธิษฐานต่อเทวดาอันสิงสถิตอยู่ ณ ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งว่า
ถ้าข้าพเจ้าได้สามีอันมีฐานะและชาติตระกูลเสมอกันกับได้บุตรคนแรกเป็นผู้ชาย
จะกระทำบวงสรวงต่อรุกขเทวดา
เมื่อนางได้สมความประสงค์ทุกประการในเวลาต่อมา จึงปรารถนาที่จะกระทำพลีกรรม คือบวงสรวงตามปฏิญาณหรือคำสัตย์ที่ตั้งไว้
ประวัติ นางสุชาดา (มารดาพระมหาสาวก ยสะ)
เอตทัคคผู้ถึงสรณะก่อน
นางสุชาดาเป็นธิดาของเสนียะ(เสนานิกุฏุมพี) ผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา และเป็นมารดาของพระยสมหาสาวก
ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้านามว่า ปทุมุตตระ ได้มาตรัสรู้ในกรุงหังสวดี ในครั้งนั้นนางสุชาดาได้ไปฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ (พระพุทธ,พระธรรม,พระสงฆ์) ก่อนอุบาสิกาทั้งปวง เมื่อนางเห็นอุบาสิกานั้นได้รับการยกย่องนางปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป เพื่อให้สมปรารถนาในตำแหน่งนั้น
นางเวียนว่ายอยู่ในภพเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป บังเกิดในครอบครัวของกุฎุมพีชื่อเสนียะ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด เจริญวัยแล้วได้ทำความปรารถนาไว้ ณ ต้นไทรต้นหนึ่งว่า
ถ้าข้าพเจ้าได้สามีอันมีฐานะและชาติตระกูลเสมอกันกับได้บุตรคนแรก
เป็นผู้ชายจะกระทำบวงสรวงต่อรุกขเทวดา
เมื่อนางได้สมความประสงค์ทุกประการในเวลาต่อมา จึงปรารถนาที่จะกระทำพลีกรรม คือบวงสรวงตามปฏิญาณหรือคำสัตย์ที่ตั้งไว้ #องฺ.อ. ๑/๒/๘๓-๘๖; วินย. ๔/๒๗-๒๙; อป.อ. ๘/๑/๑๓๗-๑๔๐
"นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส"
ครั้นถึงเช้าวันเพ็ญวิสาขะ พระองค์ทรงทำทุกรกิริยาครบปีที่ ๖ ในวันวิสาขปุณณมีหรือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ อันเป็นวันครบรอบพระชันษา ๓๕ พรรษาของพระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษ
ซึ่งในครั้งนี้นางสุชาดามีความประสงค์จะทำพลีกรรมในวันเพ็ญเดือน ๖ นางจึงได้สั่งให้บ่าวไพร่ ให้ช่วยกันจัดแจงหุงข้าว มธุปายาส คือ หุงข้าวด้วยนมโค โดยวิธีการเตรียมทำข้าวมธุปายาสของนางมีดังนี้
นางให้เลี้ยงแม่วัวนมไว้ในป่าชะเอมจำนวน ๑,๐๐๐ ตัว
แล้วให้แม่วัวนม ๕๐๐ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑,๐๐๐ ตัวนั้น
แล้วให้แม่วัวนม ๒๕๐ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๕๐๐ ตัวนั้น
แล้วให้แม่วัวนม ๑๒๕ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๒๕๐ ตัวนั้น
แล้วให้แม่วัวนม ๖๓ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๒๕ ตัวนั้น
แล้วให้แม่วัวนม ๓๒ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๖๓ ตัวนั้น
แล้วให้แม่วัวนม ๑๖ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๓๒ ตัวนั้น
และในท้ายที่สุดนางให้แม่วัวนม ๘ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๖ ตัวนั้น
หลังจากนั้นนางก็จะนำแม่วัวนมทั้ง ๘ ตัว มารีดเอาน้ำนมและนำน้ำนมมาเคี่ยวจนข้นเป็นนมข้นหวาน ทำให้มีรสอร่อยมาก เรียกว่า "ขีรปริวรรต" และในวันที่นางให้รีดนมนั้น ลูกวัวไม่กล้าเข้าใกล้แม่วัวเหล่านั้นเลย พอนางสุชาดาน้อมภาชนะเข้าไปรองใต้ท้องแม่โคเท่านั้น น้ำนมก็หลั่งออกมาจากเต้านมของแม่วัวเอง นางเห็นความอัศจรรยดังนั้นก็เกิดความปิติยินดีอย่างยิ่ง จึงตักน้ำนมด้วยมือของตนเองใส่ลงในภาชนะใหม่ แล้วรีบก่อไฟด้วยมือของตนเอง
เมื่อนางกำลังหุงข้าวปายาสนั้นอยู่ ฟองใหญ่ ๆ ผุดขึ้นไหลวนเป็นทักษิณาวัฏ น้ำนมแม้จะแตกออกจากกัน แม้สักหยาดเดียวก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก ควันไฟแม้มีประมาณน้อยก็ไม่ตั้งขึ้นจากเตาไฟ
ในยามนั้น ท้าวจตุโลกบาลมาถือการอารักขาที่เตาไฟ ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกะทรงนำดุ้นฟืนมาใส่ไฟให้ลุกโพลงอยู่ เทวดาทั้งหลายรวบรวมเอาโอชะที่สำเร็จแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารมาใส่ลงในข้าวปายาสนั้น ด้วยเทวานุภาพของตน ๆ เสมือนคั้นรวงผึ้งซึ่งติดอยู่ที่ท่อนไม้ถือเอาต้นน้ำหวานฉะนั้น จริงอยู่ ในเวลาอื่น ๆ เทวดาทั้งหลายใส่โอชะในทุก ๆ คำข้าว แต่ในวันบรรลุพระสัมโพธิญาณ และวันปรินิพพานได้ใส่ลงในหม้อเลยทีเดียว
นางสุชาดาได้เห็นความอัศจรรย์มิใช่น้อย ซึ่งปรากฏแก่ตน ณ ที่นั้น ในวันเดียวเท่านั้น จึงเรียกนางปุณณาทาสีมาพูดว่า
"นี่แน่ะแม่ปุณณา วันนี้เทวดาของพวกเราน่าเลื่อมใส่ยิ่งนัก
เพราะว่าเราไม่เคยเห็นความอัศจรรย์เห็นปานนี้
ในเวลามีประมาณเท่านี้ เธอจงรีบไปปัดกวาดเทวสถานโดยเร็ว
นางปุณณาทาสีรับคำของนางแล้วรีบด่วนไปยังโคนไม้
ในตอนกลางคืนวันนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงเห็นมหาสุบินนิมิตร ๕ ประการ เมื่อทรงใคร่ครวญดู จึงทรงกระทำสันนิษฐานว่า วันนี้ เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อราตรีนั้นล่วงไป จึงทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระ ทรงคอยเวลาภิกขาจาร
พอเช้าตรู่ จึงเสด็จมาประทับนั่งที่โคนไม้นั้น ยังโคนไม้ทั้งสิ้นให้สว่างไสวด้วยพระรัศมีของพระองค์
ลำดับนั้น นางปุณณาทาสีนั้นมาได้เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งที่โคนไม้มองดูโลกธาตุด้านทิศตะวันออกอยู่ และต้นไม้ทั้งสิ้นมีวรรณะดุจทองคำเพราะพระรัศมีอันซ่านออกจากพระสรีระของพระองค์ นางปุณณาทาสีนั้นได้เห็นแล้วจึงมีความคิดดังนี้ว่า วันนี้เทวดาของเราเห็นจะลงจากต้นไม้มานั่งเพื่อคอยรับพลีกรรมด้วยมือของตนเอง จึงเป็นผู้มีความตื่นเต้น รีบมาบอกเนื้อความนั้นแก่สุชาดา
นางสุชาดาได้ฟังคำของนางปุณณาทาสีนั้นแล้วมีใจยินดีพูดว่า ตั้งแต่วันนี้ไป เจ้าจงตั้งอยู่ในฐานะเป็นธิดาคนโตของเรา แล้วได้ให้เครื่องอลังการทั้งปวงอันสมควรแก่ธิดา
และก็เพราะเหตุปัจจัยของพระองค์ท่านที่ในวันจะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะได้ถาดทองใบหนึ่งซึ่งมีราคาหนึ่งแสน ด้วยเหตุปัจจัยนั้นจึงทำให้นางสุชาดาทำความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักใส่ข้าวปายาสในถาดทอง นางมีความประสงค์จะให้นำถาดทองราคาหนึ่งแสนมาเพื่อใส่ข้าวปายาสในถาดทองนั้น จึงรำพึงถึงโภชนะที่สุกแล้ว ข้าวปายาสทั้งหมดได้กลิ้งมาตั้งอยู่เฉพาะในถาด เหมือนน้ำกลิ้งมาจากใบปทุมฉะนั้น ข้าวปายาสนั้นได้มีปริมาณเต็มถาดหนึ่งพอดี นางจึงเอาถาดใบอื่นครอบถาดใบนั้นแล้วเอาผ้าขาวพันห่อไว้ ส่วนตนประดับประดาร่างกายด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง เสร็จแล้วทูนถาดนั้นบนศีรษะของตนไปยังโคนต้นไทรด้วยอานุภาพใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์แล้วเกิดความโสมนัสเป็นกำลัง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา จึงโน้มตัวเดินไปตั้งแต่ที่ที่ได้เห็น ปลงถาดลงจากศีรษะแล้วเปิด(ผ้าคลุม)ออก เอาสุวรรณภิงคาร คนโทน้ำทองคำตักน้ำที่อบด้วยดอกไม้หอมแล้วได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ยืนอยู่
บาตรดินที่ฆฏิการมหาพรหมถวาย ไม่ได้ห่างพระโพธิสัตว์มาตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ขณะนั้นได้หายไป พระโพธิสัตว์ไม่ทรงเห็นบาตรจึงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกรับน้ำ นางสุชาดาจึงวางข้าวปายาสพร้อมทั้งถาดลงบนพระหัตถ์ของพระมหาบุรุษ พระองค์ทรงแลดูนางสุชาดา กำหนดพระอาการ นางจึงได้ทูลว่า
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันบริจาคแก่ท่านแล้ว
ท่านจงถือเอาถาดนั้นไปกระทำตามความชอบใจเถิด
ถวายบังคมแล้วทูลว่า
"มโนรถของดิฉันสำเร็จแล้ว ฉันใด
แม้ มโนรถของท่านก็จงสำเร็จ ฉันนั้น
นางบริจาคถาดทองซึ่งมีราคาตั้งหนึ่งแสน
เหมือนบริจาคใบไม้เก่าไม่เสียดายเลย แล้วหลีกไป"
ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา ถือเป็น ภัตตาหารมื้อแรก หรือ การถวายอันสำคัญ ก่อนที่พระบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อนางสุชาดาทูลลากลับไปแล้ว พระบรมโพธิสัตว์จึงเสด็จจากร่มนิโครธพฤกษ์ ทรงถือถาดมธุปายาสนั้นเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อทรงพระวรกายแล้วจึงประทับนั่งริมฝั่งแม่น้ำนั้น บ่ายพระพักตร์สู่ถิ่นบรูพา คือตะวันออก ทรงปั้นข้าวมธุปายาสเป็นปั้นๆ ได้ ๔๙ ปั้น แล้วเสวยจนหมด ซึ่งถือเป็นอาหารทิพย์อันจะคุ้มได้ถึง ๗ สัปดาห์ หรือ ๔๙ วัน ในการเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้
(องฺ.อ. ๑/๒/๘๓-๘๖; วินย. ๔/๒๗-๒๙; อป.อ. ๘/๑/๑๓๗-๑๔๐)
|