"ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา"

พระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษต้องการแสวงหาหนทางตรัสรู้ ในลำดับแรก จึงทรงกระทำตามคตินิยมของพวกนักบวชในสมัยนั้นโดยการทรมานเป็น ๓ วาระ คือ

วาระที่ ๑  ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์(ฟัน), กดพระตาลุ (เพดานปาก)
ด้วยพระชิวหา(ลิ้น)ไว้ให้แน่นจนพระเสโท (เหงื่อ)ไหลโซมจาก
              พระกัจฉะ(รักแร้) ครั้นทรงเห็นว่าการกระทำเช่นนี้มิใช่หนทางตรัสรู้
              จึงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ ๒ ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะ-ปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) แม้ได้เสวย
               ทุกข์ทรมานอย่างแรงกล้าก็มิได้ทรงย่อท้อ ครั้นทรงเห็นว่าการกระทำ
               เช่นนี้ มิใช่หนทางตรัสรู้จึงเปลี่ยนวิธีอื่นต่อไป
วาระที่ ๓ ทรงอดพระกระยาหาร ทรงผ่อนการเสวย ลดอาหารให้น้อยลง ๆ
              จนในที่สุดไม่เสวยเลย จนพระวรกายซูบผอมเหี่ยวแห้ง พระฉวีเศร้าหมอง
               พระอัฐิและพระนหารุ(กระดูกและเส้นเอ็น) ปรากฏทั่วพระวรกาย
               แม้เสวยทุกข์ทรมานอย่างแรงกล้าก็มิได้ทรงย่อท้อ จนวันหนึ่ง
               ทรงอ่อนพระกำลังอิดโรยโหยหิวจนหมดสติล้มลง

ขณะนั้นเทพยดาองค์หนึ่งสำคัญผิดคิดว่าพระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษสิ้นพระชนม์แล้ว จึงรีบนำความไปทูลเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ แต่พระเจ้าสุทโธทนะทรงมั่นพระทัยว่า ตราบใดที่พระโอรสยังมิได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ด่วนทำลายพระชนม์ชีพลงอย่างแน่นอน

"มัชฌิมาปฏิปทา “ทางสายกลาง"

ครั้นฟื้นคืนสติ พระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษทรงพิจารณาในปฏิปทา คือ การประพฤติหรือทางดำเนิน ในทุกรกิริยาที่ได้กระทำมาแล้วว่า ถึงบุคคลทั้งหลายหรือผู้ใดในโลกนี้จะกระทำยิ่งกว่าพระองค์ก็หาไม่ แล้วไฉนยังไม่อาจบรรลุพระโพธิญาณ คือ ปัญญาที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงดำริว่าหนทางนี้คงไม่ใช่วิธีการที่จะตรัสรู้ธรรม แล้วจะมีหนทางอื่นหรือไม่

ขณะนั้น สมเด็จอมรินทราธิราช หรือพระอินทร์ ทรงทราบข้อปริวิตกของพระบรมโพธิสัตว์จึงนำพิณทิพย์สามสายมาดีดถวาย
   สายหนึ่งขึงไว้ตึง เมื่อดีดสายจึงขาด

   สายหนึ่งขึงไว้หย่อน เมื่อดีดจึงไม่มีเสียง
   สายหนึ่งขึงไว้พอดี ไม่ตึงไม่หย่อนเมื่อดีดก็บังเกิดเสียงไพเราะจับใจ
พระบรมโพธิสัตว์ได้สดับเสียงพิณทรงหวนรำลึกถึงพิณที่พระองค์เคยทรงมาแต่ปางก่อน ทรงพิจารณาว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือการปฏิบัติตามทางสายกลางนั้นเอง คือ หนทางพระโพธิญาณ

เมื่อพระมหาโพธิสัตว์พิจารณาได้ดังนี้ พระองค์ก็ทรงเสวยอาหารเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพื่อให้ร่างกายฟื้นสมบูรณ์ขึ้น เมื่อร่างกายพอสมบูรณ์ขึ้น ฝ่ายเบญจวัคคีทั้ง ๕ เมื่อเห็นพระองค์ล้มเลิกในการทรมานตนในการแสวงหาโมกขธรรม  ก็คิดไปว่าเจ้าชายสิทธัตถะะจะทรงยกเลิกในการแสวงหาโมกขธรรม  และเลิกการออกบวชเพื่อกลับไปครองราชย์สมบัติแน่ จึงได้ลาและหลีกจากเจ้าชายสิทธัตถะะไป  ปล่อยให้พระองค์อยู่เพียงผู้เดียวตามลำพัง