"ความปรารถนาของ
พระเจ้าพิมพิสาร"
พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ครองนครราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ ทรงเป็น อทิฏฐสหาย คือ สหายที่ไม่เคยพบเห็นกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ
เมื่อยังทรงเป็นพระราชกุมาร พระองค์เคยทรงตั้งความปรารถนาไว้ ๕ ประการ คือ
- ขอให้ได้อภิเษกในราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ
- ขอให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาสู่แว่นแคว้นมคธ
- ขอให้ได้เข้าไปนั่งใกล้พระอรหันต์
- ขอให้พระอรหันต์นั้นทรงแสดงธรรมโปรด และ
- ขอให้ได้รู้ธรรมของพระอรหันต์นั้น
เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้รับรายงานจากเหล่าราชบุรุษว่า ชาวเมืองต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงบรรพชิตผู้หนึ่ง ที่เข้ามาบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ เป็นผู้ที่มีรูปลักษณะงดงามประหนึ่งเทพยดา พระองค์จึงสั่งให้สะกดรอยตามเพื่อสืบข่าว ครั้นเหล่าราชบุรุษกกลับมากราบทูลว่า บรรพชิตผู้นั้นเป็นนักบวชผู้มีจริยวัตรสงบเสงี่ยมงดงามสมเพศบรรพชิต พระองค์มีพระประสงค์จะเข้าเฝ้า จึงเสด็จด้วยพระราชยานออกจากพระนครมุ่งหน้าสู่บัณฑวบรรพต
ครั้นได้สนทนากับพระบรมโพธิสัตว์ ทราบว่าเป็นเจ้าชายแห่งศักยราชสกุลจากกบิลพัสด์ผู้เป็น อทิฏฐสหาย พระเจ้าพิมพิสารเข้าใจว่าเจ้าชายสิทธัตถะคงจะทรงพิพาทกับพระประยูรญาติด้วยเรื่องราวสมบัติ เป็นเหตุให้เสด็จออกบรรพชา จึงตรัสชักชวนให้เสวยราชสมบัติอยู่ในแคว้นมคธ โดยจะแบ่งราชสมบัติให้ครอบครอง แต่พระบรมโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ ด้วยพระองค์ได้สละราชสมบัติออกบรรพชาเพื่อหาทางหลุดพ้นจากสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิด มุ่งแสวงหาพระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ญาณ คือ ความเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมทั้งปวงโดยแท้ พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงกราบทูลอนุโมทนาว่า
พระองค์จะต้องได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโดยเที่ยงแท้
ถ้าได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ขออัญเชิญพระองค์
ทรงพระกรุณาเสด็จมาแสดงธรรมโปรดข้าพเจ้าและชาวราชคฤห์ด้วย
ครั้นพระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษทรงรับปฏิญาณว่า สาธุ แล้ว มหาราชแห่งมคธจึงเสด็จกลับพระนคร
ประวัติพระเจ้าพิมพิสาร
พระเจ้าพิมพิสาร เป็นพระราชาแห่งแคว้นมคธ ซึ่งเป็นแคว้นที่ใหญ่และมีอำนาจมากที่สุดแคว้นหนึ่งในสมัยพุทธกาลมีเมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์ พระองค์ได้ครองราชสมบัติอยู่เป็นเวลา ๕๒ ปี(๑๔ ปีก่อนพุทธศักราช-พ.ศ. ๕๓)
พระเจ้าพิมพิสารมีอัครมเหสีพระนามว่า โกศลเทวีหรือ เวเทหิ ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล (หรือ ปสันชิต) พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้พระกนิษฐาของพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมเหสีเช่นกัน
พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งซึ่งประสูติจากพระนาง เวเทหิ คือ พระเจ้าอชาตศัตรู และเป็นรัชทายาท ก่อนประสูติ ในขณะทรงพระครรภ์พระนางเวเทหิ ทรงมีอาการแพ้พระครรภ์ ทรงกระหาย อยากเสวยพระโลหิตจากพระพาหาข้างขวาของพระสวามี พระเจ้าพิมพิสารจึงกรีดเอาพระโลหิตของพระองค์ ให้พระนางเวเทหิเสวย โหราจารย์ได้ทำนายว่า พระโอรสพระองค์นี้ของพระองค์จะกระทำ ปิตุฆาต คือ ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร
แม้จะได้ทรงสดับคำทำนายที่ร้ายแรงเช่นนั้น พระเจ้าพิมพิสารก็ยังทรงรักใคร่พระราชโอรสมาก และแม้พระนางเวเทหิจะได้ทรงพยายามทำลายพระครรภ์ที่ "มัททกุจฉิทายวัน" ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขาภูเขาคิชฌกูฏ เป็นสถานที่พระนางเวเทหิ ทรงรัดพระครรภ์ เพื่อหวังทำลายพระครรภ์ด้วยคำทำนายของโหราจารย์ว่าเด็กที่เกิดมาจะทำ ปิตุฆาต คือฆ่าบิดา แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบก็ทรงห้ามเสียและโปรดให้ดูแลรักษาพระครรภ์เป็นอย่างดี เมื่อพระราชโอรสประสูติแล้ว ได้ทรงขนานพระนามว่า อชาตศัตรู (ผู้เกิดมาไม่เป็นศัตรู)
เมื่อเจ้าชายอชาตศัตรูเจริญวัยขึ้น ได้ถูกพระเทวทัตซึ่งได้บวชแล้วปฏิบัติจนได้ฌานและแสดงฤทธิ์ให้ปรากฏแก่เจ้าชายอชาตศัตรู จนทำให้พระองค์ท่านเลื่อมใสในพระเทวทัตจึงถูกพระเทวทัตชักชวนให้หลงผิดกระทำปิตุฆาต ทั้งนี้ก็ด้วยความมักใหญ่ใฝ่สูง และความทเยอทยานของพระเทวทัต ที่ต้องการจะปกครองสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า จึงวางแผนหวังใช้ความมีอำนาจของเจ้าชายอชาตศรัตรูเป็นเครื่องมือ โดยพระเทวทัตยุยงให้เจ้าชายอชาตศรัตรู ทรงกระทำปิตุฆาต เพื่อยึดครองราชสมบัติจากพระราชบิดา คือ พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเริ่มแรกพระเจ้าอชาตศัตรูมีพระบัญชาให้ขังพระราชบิดาของพระองค์ไว้ในคุก โดยให้อดอาหารและน้ำ และห้ามมิให้คนอื่นเข้าพบนอกจากพระนางเวเทหิ ทั้งนี้พระเจ้าอชาตศรัตรูประสงค์ให้พระราชบิดาอดอาหารหิวโหยจนสวรรคต ถึงอย่างนั้นพระนางเวเทหิก็ได้แอบนำอาหารไปถวาย แต่ต่อมาทรงห้ามเด็ดขาด แม้แต่พระนางเวเทหิเองก็มิได้ทรงเข้าพบ ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นหนทางมิให้พระนางเวเทหิมีโอกาสซุกซ่อนอาหารเข้าไปถวายพระสวามี และจะได้เร่งให้พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตไปตามแผนการ แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นอริยบุคคล สามารถเสวยสุขมีความอิ่มพระทัยด้วยการเสด็จจงกรม จึงทรงพระชนม์อยู่ต่อไปได้อีก ในขั้นสุดท้าย พระเจ้าอชาตศัตรูจึงให้กรีดพระบาทของพระเจ้าพิมพิสารเสียทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้เสด็จจงกรมได้ต่อไป เป็นเหตุให้พระองค์สวรรคต
ในวันเดียวกันกับที่พระเจ้าพิมพิสารสวรรคตนั้นเอง พระโอรสของพระเจ้าอชาติศัตรูก็ประสูติ พระเจ้าอชาตศัตรูทรงมีความรักใคร่เสน่หาในพระโอรสมาก จึงทรงสำนึกขึ้นได้ว่าพระเจ้าพิมพิสารคงจะทรงรักใคร่พระองค์เช่นนั้นเหมือนกัน ครั้นสำนึกได้ก็ตรัสรับสั่งให้ปล่อยพระราชบิดา แต่ปรากฏว่าพระราชบิดาได้สวรรคตเสียก่อนแล้ว ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูเสียพระทัยเป็นอันมาก และได้จัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดาอย่างสมพระเกียรติ
คุณธรรมของพระเจ้าพิมพิสารที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
- ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม ดังจะเห็นได้ในกรณีที่ทรงเชิญให้พระมหาบุรุษรับราชสมบัติในแคว้นมคธ โดยมิได้ทรงหวงแหนหรือตระหนี่ และทรงยินดีมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรส ในเมื่อพระราชโอรสปรารถนาโดยมิให้ต้องมีเหตุร้ายเนื่องจากการแย่งราชสมบัติ
- ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยพระศรัทธาอย่างแท้จริง ทรงถวายวัดแห่งแรก ทรงนำข้าราชการและประชาชนเข้าถึงพระรัตนตรัย ทรงช่วยให้กรุงราชคฤห์ที่พระองค์ทรงปกครอง ได้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง เพราะอาศัยพระบรมราชูปถัมภ์ของพระองค์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง
- ทรงเอาพระทัยใส่ในความเสื่อมความเจริญของพระศาสนา ทรงทำหน้าที่ของอุบาสกที่ดี หาทางส่งเสริมสนับสนุนพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่นครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงพระราชดำริถึงการที่พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ได้ประชุมกันแสดงธรรมในวัน ๑๔ ค่ำ, ๘ ค่ำแห่งปักษ์ มีประชาชนสนใจและเลื่อมใสไปฟังธรรมมาก ทรงเห็นว่าเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่ง ทรงมีพระประสงค์จะให้มีการปฏิบัติอย่างนั้นบ้างในพระพุทธศาสนา จึงทรงนำความขึ้นกราบทูลให้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ประชุมกันในวันเช่นนั้นบ้าง เป็นเหตุให้เกิด วันธรรมสวนะ แต่บัดนั้นมา
- ทรงเคารพในพระสงฆ์มาก จะเห็นได้จากครั้งหนึ่งพระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงสรงสนานน้ำร้อนในบ่อน้ำร้อน ตโปทา ขณะเสด็จไปถึงทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุกำลังสรงน้ำอยู่มากมาย ทรงให้พระภิกษุสรงน้ำเสร็จก่อนพระองค์จึงทรงลงสรง แต่บังเอิญค่ำมืดจนประตูนครปิดพอดี ไม่สามารถเสด็จเข้าเมืองได้ จึงเสด็จไปประทับค้างคืนที่ พระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุนี้ จึงทรงบัญญัติให้พระสาวกสรงน้ำในบ่อน้ำร้อนตโปทา ๑๕ วันต่อครั้ง
|