"พญามารขัดขวาง
การบรรพชา"
เมื่อเสด็จออกพ้นเขตนครกบิลพัสดุ์แล้ว พญาวัสวดีมาร ได้เหาะมาขวางหน้าทูลทัดทานว่า
อีก ๗ วัน สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิราชก็จะมาถึงพระองค์แล้ว อย่าเพิ่งเสด็จออกบรรพชาเลย
เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสตอบว่า
เรื่องนั้นเราทราบแล้ว แต่สมบัติจักรพรรดิจะทำให้ผู้เสวยพ้นทุกข์ก็หาไม่ ท่านจงหลีกเถิด
หลัง จากขับไล่พญามารไปแล้ว พระองค์จึงทรงขับม้ากัณฐกะราชพาหนะผ่านป่าเขาลำเนาไพร จนได้ระยทาง ๓๐ โยชน์ล่วงผ่านเขตขัณฑสีมาแห่งพระนครใหญ่ทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และเวสาลี บรรลุถึงฝั่ง แม่น้ำอโนมา ทรงตรัสว่าชื่อแม่น้ำอโนมาเป็นมงคลนาม แปลว่า ไม่ต่ำทราม คือ เยี่ยมยอด เป็นเลิศ ซึ่งแม่น้ำนี้เป็นพรมแดนของนครทั้ง ๓ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดี
ในอีกนัยยะหนึ่งของคำว่า พญามาร ก็คือ ความดำริในพระทัยของพระโพธิสัตว์เอง นั่นหมายถึง
ความปรารถนาในส่วนหนึ่งของพระทัย ความคิดที่คำนึงถึงความสุข ความสบาย ต่าง ๆ หรือ กิเลสที่มีอยู่ในใจของมนุษย์ทุกผู้ทุกคน มารนั้น คือ กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ในใจของทุกคนที่หักห้ามไม่ได้ มนุษย์ทุกผู้ทุกนามยังปรารถนาความสุขสบายที่เคยได้รับมา การที่จะตัดสินพระทัยออกบรรพชานั้น จะต้องสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการไปผจญทุกข์ ซึ่งพระองค์เองประสงค์จะหาหนทางพ้นทุกข์ให้กับมวลหมู่สัตว์ แต่ก็ยังไม่แน่พระทัยว่าจะพบหนทางที่จะทำให้พระองค์ท่านสำเร็จหรือไม่ แล้วหนทางแห่งการหลุดพ้นนั้นจะต้องผจญกับความลำบากมากน้อยเพียงไหนก็ยังไม่มีคำตอบ ใจของพระองค์เองก็คงจะมีคำถามคำตอบที่โต้แย้งกันอยู่ในพระทัยว่า จะเสด็จออกบรรพชาดี หรือจะอยู่เป็นจักรพรรดิราชครองราชสมบัติอันแสนสุขนี้ดี นี่จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง หัวใจของพระโพธิสัตว์ นั่นแสดงถึง มาร ที่มีอยู่ในใจของทุกผู้ทุกนาม
|