"มหาภิเนษกรมณ์"
เสด็จออกบรรพชา

ครั้นตื่นบรรทมขึ้นมากลางดึก เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเหล่านางสนมกำนัล นางระบำขับร้อง ต่างนอนหลับกันกลาดเกลื่อนอยู่ภายในปราสาทอันสว่างไสวด้วยแสงประทีปโคมไฟ บางนางนอนอ้าปากน้ำลายไหล บางนางนอนผมสยายผ้าผ่อนหลุดลุ่ย บางนางนอนละเมอเกลือกกลิ้งไปมา ภาพชวนสังเวชที่ปรากฏยิ่งเพิ่มความดำริในการออกบรรพชามากขึ้น พระองค์เสด็จไปยังปราสาท ของพระนางพิมพาทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสบรรทมหลับสนิทอยู่ในอ้อมพระกรของพระราชเทวี มีพระประสงค์จะอุ้มพระโอรสขึ้นเชยชมแต่เกรงว่าพระนางพิมพาจะตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยลงจากปราสาทเสด็จขึ้นม้า กัณฐกะ ซึ่ง นายฉันนะ มหาดเล็กจัดเตรียมไว้และเป็นผู้ตามเสด็จ
      
ขณะนั้นท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ต่างลงมาแวดล้อมประจำเท้าทั้ง ๔ ของม้ากัณฐกะแล้วแห่เสด็จ คือ พาเหาะข้ามกำแพงพระนครออกไปด้วยปาฏิหาริย์ นายฉันทะเห็นดังนั้นจึงกระโดดยึดหางม้ากัญฐกะตามไปเบื้องหลัง

เหตุการณ์ออกผนวชตามนัยพระบาลี(พระไตรปิฎก) จาก wikipedia

เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ ๒๙ พรรษา ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา ๓ ประการ คือ
- เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ ๑
- เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา ๑
- เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน ๑
มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า 

 ...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง
เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา
แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว อยู่อีกเล่า!


- สยามรฏฐเตปิฏกปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ.ม.มู.ม. ๑๒/๓๑๖๑๓๑๖

ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า

เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว
เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด
อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด
ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า เถิด


— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. ๒/๓๑๖/๓๑๖


นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง;
ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่ายนั้นไม่ได้ ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด


— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.๑๓/๖๖๙/๗๓๘

ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช ซึ่งนักวิชาการพุทธศาสนาบางท่านอ้างว่าการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่ทรงเสด็จออกผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว โดยอ้างจากโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า

 ...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด
บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย,
เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย
กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่
เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด
ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...


— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. ๓/๔๔๓/๔๘๙

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าตามพุทธวจนะไม่ได้กล่าวว่าทรงผนวชเฉพาะพระพักตร์พระราชบิดาและพระราชมารดา เพียงแต่ตรัสว่าทรงผนวชขณะทั้งสองพระองค์กรรแสง ซึ่งอาจเป็นเพราะทรงหนีจากพระราชวังแล้วผนวชในตอนเช้า (สอดคล้องกับอรรถกถา) เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงทราบในเช้านั้นจึงเสียพระทัย การผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะและการกรรแสงของพระราชบุพการีจึงเป็นเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่

เหตุการณ์จากนี้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุตรงกันว่า เมื่อพระองค์ถือเพศบรรพชิตแล้ว ก็ทรงศึกษาในลัทธิคณาจารย์ต่างๆ ซึ่งสมัยนั้นนิยมกัน ส่วนเจ้าชายสิทธํตถะเมื่อครองเพศบรรพชิตแล้ว ทรงถือวัตรปฏิบัติของสมณะ คือปลงผมนุ่งผ้า ย้อมน้ำฝาด (สีเหลืองแก่นขนุน) เลี้ยงชีพด้วย อาหารบิณฑบาต ที่ผู้ต้องการบุญถวายให้ ทรงมีมีนามเรียกขานว่า พระสมณโคดม (คำว่าโคดม มาจากคำว่าโคตมะ ซึ่งเป็นชื่อโคตรของราช วงศ์ศากยะ) ในเบื้องต้น พระสมณโคดม ได้ไปฝากตนเป็นศิษย์ ในสำนักอาฬารดาบส ได้ฝึกจิตบำเพ็ญธรรมจนบรรลุความรู้ขั้นสูงสุดของอาจารย์ คือบรรลุฌานขั้นที่ ๗