"ทรงเปลื้องสังวาล"
ประทานให้แก่
นางกีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณ

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จประพาสพระราชอุทยาน  ได้เสด็จกลับเข้าเมืองพร้อมด้วยราชบริพารที่ตามเสด็จ มีสตรีที่ยื่นเยี่ยมมองทางสิงหบัญชร หรือหน้าต่างพระตำหนักที่เห็นอยู่นั้น ปฐมสมโพธิว่าเป็น"นางขัตติยราชกัญญาองค์หนึ่ง แห่งเมืองกบิลพัสดุ์" ทรงพระนามว่า"กีสาโคตมี" เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะในทางพระญาติวงศ์อย่างไรไม่ได้บอกไว้ 

แต่ในอรรถกถาธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียรจนาไว้บอกว่า เธอเป็นธิดาของพระเจ้าอา(หญิง)ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึง พระนางปมิตา และพระนางอมิตา ทั้งสองพระนางนี้เป็นพระกนิษฐา หรือน้องสาวของพระเจ้าสุทโธทนะ แต่เป็นธิดาของพระเจ้าอาองค์ไหนท่านก็มิได้บอกไว้ 

พอนางกีสาโคตมี ได้ทรงเห็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับจากสรงสนานในสระโบกขรณี ในพระราชอุทยานผ่านมา และทรงเห็นเจ้าชายงามบริบูรณ์ด้วยพระรูปศิริโสภาคย์ ก็ทรงปีติโสมนัสจึงตรัสพระคาถาชมเจ้าชายสิทธัตถะ บทหนึ่ง พระคาถา คือ คำกลอนหรือโศลกที่กวีแต่งร้อยกรอง ความเดิมเป็นภาษาบาลีว่า

          "นิพพุตา นูน สา มาตา 
           นิพพุโต นูน โส ปิตา
           นิพพุตา นูน สา นารี
           ยัสสายัง อีทิโส ปติ " 

ถอดเป็นร้อยแก้วในภาษาไทย ว่า "ผู้ใดเป็นพระราชมารดา และพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นั้นจะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ สตรีใดได้เป็นพระชายา สตรีนั้นก็จะมีความสุขดับทุกข์เข็ญ" 

เจ้าชายสิทธัตถะทรงได้ยินก็พอพระทัย ที่ทรงชอบที่สุดคือคำว่า "ดับ" ซึ่งพระองค์ทรงหมายพระทัยถึง "นิพพุต" หรือ "นิพพาน" จึงทรงเปลื้อง "แก้วมุกดาหาร" เครื่องประดับพระศอ ราคาแสนกหาปณะ มอบให้แก่นางกีสาโคตมี พระนางสำคัญหมายในพระทัยว่า เจ้าชายทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์เสน่หาในพระนาง ก็ทรงเกิดโสมนัสยินดีเป็นอันมาก