"บุพนิมิต เทวทูตทั้ง ๔"
พระราชบิดาพระเจ้าสุทโธทนะนั้น ทรงวิตกกังวลอยู่เสมอว่าวันหนึ่งภายหน้าพระราชโอรสจะทรงออกบวช จึงทรงคิดหาทางป้องกันอารักขามิให้พระโอรสได้พบเห็นความเป็นจริงจากโลกภายนอกพระราชวัง โดยพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา และพระญาติวงศ์ทั้งปวง ทรงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอยู่ครองราชสมบัติ มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชา อย่างที่คำทำนายของพราหมณทำนายไว้์ จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่าง แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิด จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นาน พอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย
เจ้าชายสิทธัตถะทรงดำรงพระชนม์ชีพในโลกของโลกียสุข จนมีพระชนมายุ ๒๙ พรรษา วันหนึ่งได้ลอบเสด็จประพาสพระนครและพระราชอุทยาน ในครั้งนั้นเทวทูตซึ่งเป็นเทพยดาแปลงมา ได้เนรมิตให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็น คนชราผมหงอกขาวหลังค่อม ถือไม้เท้าเดินทรงตัวโงนเงนผ่านมา พระองค์ไม่เคยเห็นคนชรามาก่อน ด้วยพระเจ้าสุทโธทนะต้องการให้พระราชบุตรอยู่ครองเรือน จึงจัดแต่ผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวเข้าไปถวายการปรนนิบัติ เมื่อตรัสถามนายสารถีผู้ทำหน้าที่คุมราชรถจึงได้รับการกราบทูลว่า ชายผู้ที่เห็นนี้คือ คนชรา เมื่อเสด็จประพาสอุทยานต่อมาได้พบเทวทูตแปลงเป็น คนเจ็บ คนตาย และสมณะหรือ บรรพชิต ตามลำดับ
ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวทูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประพาสพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงเห็นคนแก่ก่อน ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของ คนแก่ ไว้ว่า มี เกศาอันหงอก และสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปเบื้องหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกายควรจะสังเวช
ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง และที่สาม เมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่า สภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งที่ตรงกันข้ามคู่กัน คือ มีมืดแล้วมีสว่าง มีร้อนแล้วมีเย็น
เมื่อมีทุกข์ ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี
ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานต่อไป ทรงเห็นนักบวช นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม.
เมื่อทรงเห็นนักบวช ก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในการพบเห็นภาพเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย นั้น ก่อให้เกิดความสลดสังเวชสะเทือนใจเป็นทุกขเวทนาแก่พระองค์ท่าน แต่เมื่อไตร่ตรองถึงภาพของ บรรพชิต นั้น. กลับทำให้พระองค์ท่านรู้สึกสงบเยือกเย็น
เจ้าชายสิทธัตถะพิจารณาไตร่ตรองว่า ชีวิตของฆราวาสผู้ครองเรือนนี้ล้วนเป็นวัฏสงสาร คือ เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกไม่มีที่สิ้นสุด จึงทรงดำริที่จะออกบรรพชาเพื่อหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง หมดความไยดีในราชสมบัติทั้งหลาย แต่การที่จะไปขออนุญาตพระราชบิดาหรือเหล่าพระประยูรญาตินั้น ย่อมถูกคัดค้านขัดขวางอย่างแน่นอน จึงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จหนีออกจากพระนคร
|