"เรียนศิลปวิทยา"
เมื่อพระราชกุมารเจริญวัย ทรงได้รับการศึกษาศิลปวิทยาการจาก สำนักครูวิศวามิตร วิชาที่ทรงศึกษาคือ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ รวมทั้ง ไตรเพท และ เวทางคศาสตร์
และวิชาการปกครอง พระราชกุมารทรงศึกษาจนสิ้นความรู้ของอาจารย์
ไตรเพท ได้แก่ อิรุพเพท หรือ ฤคเวท ว่าด้วยการสร้างโลก ยชุรเพท หรือ ยชุรเวท ว่าด้วยบทสรรเสริญ และบทสวดในพิธีบวงสรวงเทพเจ้าทั้งหลาย สามเพท หรือ สามเวท ว่าด้วยบทสวดในพิธีบวงสรวงเทพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมมาจากคัมภีร์ฤคเวท และยังมีเวทที่ ๔ คือ อาถัพพนเพท หรือ อาถรรพเวท ว่าด้วยมนต์การใช้มนต์และการปลุกเสกในพิธีต่าง ๆ
เวทางคศาสตร์ คือคำอธิบายพระเวทต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับการกล่าวสรรเสริญพระเจ้า การประกอบพิธีกรรม เป็นความรู้ทางธรรม สำหรับผู้ที่จะเป็นนักบวช
ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ : แบบที่ ๑
- ไตรเพทศาสตร์ วิชา ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ดังกล่าวมาแล้ว
- สรีรศาสตร์ วิชาพิจารณาลักษณะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- สังขยาศาสตร์ วิชาคำนวณ
- สมาธิศาสตร์ วิชาทำจิตให้แน่วแน่
- นิติศาสตร์ วิชาเกี่ยวกับกฎหมาย
- วิเสสิกศาสตร์ วิชาแยกประเภทคนและสิ่งของ
- โชติศาสตร์ วิชาทำนายเหตุการณ์ทั่วไป
- คันธัพพศาสตร์ วิชาฟ้อนรำและดนตรี
- ติกิจฉศาสตร์ วิชาแพทย์
- ปุรณศาสตร์ วิชาโบราณคดี
- ศาสนศาสตร์ วิชาการศาสนา
- โหราศาสตร์ วิชาเกี่ยวกับการทำนาย
- มายาศาสตร์ วิชากล
- เหตุศาสตร์ วิชาค้นหาเหตุ
- วันตุศาสตร์ วิชาคิด
- ยุทธศาสตร์ วิชาการรบ (พิชัยสงคราม)
- ฉันทศาสตร์ วิชาแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
- ลักษณาศาสตร์ วิชาดูลักษณะคน
แต่บางตำนาน กล่าวถึงศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการแตกต่างกัน ดังนี้
ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ : แบบที่ ๒
- สูติ วิชาความรู้รอบตัว
- สมฺมติ วิชาการเข้าใจระเบียบ
- สงฺขยา วิชาการคำนวณ
- โยค วิชายันตรศึกษา
- นีติ วิชานิติศาสตร์ (กฎหมาย)
- วิเสลิกา วิชาพาณิชยศาสตร์ (การค้า)
- คนฺธพฺพา วิชาระบำ
- คณิกา วิชาออกกำลังกาย
- ธนุเพทา วิชายิงธนู
- ปูราณา วิชาโบราณคดี
- ติกิจฺฉา วิชาแพทย์
- อติหาสา วิชากาพย์ กลอน (วรรณคดี)
- โชต วิชาดาราศาสตร์
- มายา ตำราพิชัยสงคราม
- เหตุ รู้เหตุการณ์ที่จะเกิดมี
- เกตุ วิชาพูด
- มนฺตา วิชามนต์
- สทฺทา รู้ไวยากรณ์
เมื่อพระราชกุมารทรงศึกษาศิลปวิทยาจนจบแล้ว พระราชบิดา พระเจ้าสุทโธทนะ จึงตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ ฤดูถวายเป็นจำนวน ๓ หลัง ให้ประทับเป็นที่ทรง สำราญพระทัย โดยปราสาทหลังที่หนึ่งสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังที่สอง สำหรับประทับในฤดูร้อน หลังที่สามสำหรับประทับในฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อให้พระราชโอรสฝักใฝ่อยู่ในกามคุณ เพื่อความเป็นจักรพรรดิในภายภาคหน้า มิให้รำลึกนึกถึงการออกบวช
|