"สหชาติทั้ง ๗"


ในวันที่พระโพธิสัตว์ประสูตินั้นมีผู้ที่เป็นสหชาติ คือ เกิดในวัน เดือน ปีเดียวกัน กับเจ้าชายสิทธัตถะ มีดังนี้

  1. พระนางพิมพา ต่อมาได้เป็นอัครมเหสีของเจ้าชายสิทธัตถะและให้กำเนิดพระราหุลกุมาร
  2. พระกุมารอานนท์ ต่อมาตามเสด็จออกบรรพชาจนสำเร็จอรหันต์และเป็นพระอัครสาวก พุทธมหาอุปัฏฐาก
  3. กาฬุทายี บุตรของอำมาตย์ ต่อมาได้ตามเสด็จออกบรรพชาและสำเร็จอรหันต์
  4. นายฉันนะกุมาร บุตรมหาดเล็ก ซึ่งเป็นผู้ตามเสด็จในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชาและต่อมาตามเสด็จออกบวชจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์
  5. ม้ากัณฐกอัศวาร เป็นม้าทรงที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้เสด็จออกจากพระนครเพื่อบรรพชา
  6. ต้นพระศรีมหาโพธิ์งอก ต่อมาเป็นมหาโพธิบัลลังก์ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับในวันตรัสรู้
  7. ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ อันมีนาม สังขนิธี เอลนิธี อุบลนิธี  บุณฑริกนิธี ซึ่งหากพระองค์ดำรงเพศฆราวาสจะมีพระราชทรัพย์ในพระคลังมากมายมหาศาล
  • พระนางพิมพา
    หรือพระนางยโสธรา เป็นพระราชบุตรีของประเจ้าสุปปพุทธะกรุงเทวทหะ เป็นพระชายาของพระสิทธัตถะเมื่อมีประชนม์ได้ ๑๖ พรรษา เป็นพระมารดาของพระราหุล ภายหลังออกบวชมีนามว่า พระภัททกัจจานาเถรี
  • พระอานนท์
    เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านออกบวชในพระพุทธศาสนา และได้รับเลือกเป็นพุทธอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหลายด้าน ท่านบรรลุพระอรหัตหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา ท่านดำรงพระชนม์สืบมาจนถึงอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติสองฝ่ายคือศากยะ และโกลิยะ
  • นายฉันนะ
    เป็นอำมาตย์คนสนิท และเป็นสารถีของเจ้าชายสิทธัตถะในวันเสด็จออกบรรพชาเมื่อมีพระชนม์ได้ ๒๙ พรรษา นายฉันนะตามเสด็จไปด้วยและนำเครื่องอาภรณ์พร้อมทั้งคำกราบทูลของเจ้าชายสิทธัตถะกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ภายหลังบวชเป็นภิกษุถือตัวว่าเป็นคนใกล้ชิดพระพุทธเจ้ามาแต่เก่าก่อน ใครว่าหรือตักเตือนใดๆ ก็ไม่ยอมฟัง จนเกิดความบ่อย ๆ กลายเป็นภิกษุผู้ว่ายาก จนพระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ภายหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว พระฉันนะจึงถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์จนหายพยศและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
  • อำมาตย์กาฬุทายี
    เป็นพระสหายสนิทของเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าสุทโธนะส่งไปเป็นทูตทูลเชิญพระศาสดา เพื่อเสด็จมากรุงกบิลพัสดุ์ อำมาตย์กาฬุทายีไปเฝ้าพระศาสดาที่กรุงราชคฤห์ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตตผล อุปสมบทเป็นภิกษุแล้วทูลเชิญพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะ ในบรรดาผู้ทำตระกูลให้เลื่อมใส
  • ม้ากัณฐกะ
    ม้าพระที่นั่งของเจ้าชายสิทธัตถะ ตัวม้ายาวจากคอถึงหาง ๑๘ ศอก ส่วนสูงก็เหมาะสมกับส่วนยาว มีสีขาวผ่องเหมือนเปลือกหอยสังข์ที่ขาวสะอาด ในราตรีที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จหนีออกจากพระราชวัง เพื่อสด็จออกพรรพชา การเดินทางครั้งนี้มีนายฉันนะเกาะหางม้ากัณฐกะไปด้วย ม้ากัญฐกะเดินทางถึงแม่น้ำอโนมาใช้เวลาเที่ยงคืนถึงเช้าระยะทาง ๓๐ โยชน์ (๔๘๐ กิโลเมตร) กระโดดครั้งเดียวก็ข้ามแม่น้ำอโนมา เมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำแล้วเจ้าชายสิทธัตถะจึงรับสั่งว่า กัณฐกะเจ้าจงกลับไปยังเมืองกบิลพัสดุ์เถิด ม้ากัณฐกะจึงเหลียวมองไปทางเจ้าชายสิทธัตถะ พอเจ้าชายลับสายตาไป ม้าก็ถึงแก่ความตายเนื่อง จากเสียใจ และได้ไปเกิดอยู่ในดาวดึงส์ มีชื่อว่า "กัณฐกเทวบุตร"
  • ต้นมหาโพธิ์
    เจ้าชายสิทธัตถะขณะที่มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ใต้ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ภายในป่าสาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ (ปัจจุบันคือ ตำบลพุทธคยา แขวงเมืองอุรุเวลาเสนานิคม ของรัฐพิหาร) ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่ ๑ เกิดพร้อมกับเจ้าชายสิทธัตถะ มีอายุ ๓๐๕ ปี (ต้นโพธิ์ตรัสรู้ต้นที่ ๒ มีอายุ ๘๙๑ ปี ต้นที่ ๓ มีอายุ ๑,๒๒๗ ปี ต้นโพธิ์ตรัสรู้ปัจจุบันเป็นหน่อที่ ๔ ปลูกราว พ.ศ. ๒๔๓๔)
  • ขุมทรัพย์ทั้งสี่
    ขุมทรัพย์ทั้ง ๔ หรือนิธิกุมภี คือขุมทอง ๔ ขุม ได้แก่ ขุมทองสังขนิธี ขุมทองเอลนิธี ขุมทองอุบลนิธี ขุมทองปุณฑริกนิธี ขุมทรัพย์ทั้ง 4 หรือนิธิกุมภี ได้บังเกิดขึ้นที่มุมกำแพงพระนครทั้ง 4 ด้าน ในวันที่พระพุทธเจ้าทรงประสูติ ซึ่งหากพระองค์ท่านทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชทรัพย์สินที่พระองค์มีอยู่ก็ใช้ไม่หมด

เมื่อทราบข่าวการประสูติของพระราชกุมาร บรรดาเหล่ากษัตริย์ทั้งสองพระนคร คือ ฝ่ายราชวงศ์ศากยะแห่งกบิลพัสดุ์ และราชวงศ์โกลิยะแห่งเทวทหะ ต่างมีความปีติโสมนัส

พระเจ้าสุทโธทนะได้จัดขบวนแห่งแหนอันประกอบด้วยดุริยางศ์ดนตรีประโคม แวดล้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพาร เชิญเสด็จพระราชเทวีและพระราชกุมารเข้าสู่พระนคร แล้วจัดพิธีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่