"พระประสูติกาลแห่งพระโพธิสัตว"
เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระสวามีให้แปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครที่เกิดของพระนาง เพื่อประสูติพระราชกุมารในตระกูลของพระนาง ซึ่งเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น
ตามธรรมเนียมของชาวชมพูทวีปในยุคนั้นสตรีที่มีครรภ์แก่จะเดินทางกลับไปคลอดที่บ้านฝ่ายบิดามารดาของตน พระนางสิริมหามายาเทวีจึงกราบถวายบังคมลาพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสวามี เสด็จขึ้นวอทองแวดล้อมด้วยเหล่าข้าราชบริพารออกจากรุงกบิลพัสดุ์ในเวลาเช้า มุ่งหน้าสู่เทวทหะนคร อันเป็นเมืองแห่งเหล่าสกุลเดิมของพระนาง คือ โกลิยวงศ์ แต่ในขณะเสด็จ แวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวหทะ พระนางก็ได้ประชวรพระครรภ์ ฝ่ายข้าราชบริพารและเหล่าเทพเทวดาก็ได้จัดสถานที่เพื่อมีพระประสูติกาล พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ในเวลาประสูติพระนางประทับยืนใช้พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวต้นสาลพฤกษ์ หรือต้นรัง พระราชกุมารได้ประสูติ ณ สถานที่นั้นโดยสวัสดี
พระโพธิสัตว์ไม่เปรอะเปื้อนด้วยครรภ์มลทิน เมื่อประสูติจากครรภ์พระวรกายของพระราชกุมารบริสุทธิ์ผุดผ่องใสสะอาดประดุจแก้วมณี และยังไม่ทันถึงพื้นปฐพี ท้าวสุทธาวาสมหาพรหมทั้ง ๔ ได้ใช้ข่ายทองรองรับ ท่ออุทกธาราอันเป็นสีโตทก และอุณโหทก คือท่อน้ำเย็นน้ำร้อน ก็ไหลหลั่งลงมาจากอากาศ สรงพระวรกายพระราชกุมารกับพระราชมารดา ท้าวมหาพรหมจึงทรงทิพยเศวตฉัตรกางกั้น เหล่าเทพเทวาที่เสด็จมาเฝ้าต่างโปรยปรายดอกบุปผาชาติและของหอมเพื่อเป็นการบูชา
พระโพธิสัตว์แสด็จพระราชดำเนินไปได้ ๗ ก้าว ก็มีปทุมชาติดอกบัวรองรับพระบาท ประทับยืนบนทิพยปทุมบุปผชาติอันมีกลีบถึง ๑๐๐ กลีบ ทรงเปล่งพระวาจาเป็นบุพนิมิตแห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยอัศจรรย์ว่า
"อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺสมึ เชฏฺโฐ เสฏฺโฐ อนุตฺตโร
อยมนฺ เม ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว"
"ในโลกนี้เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด
การเกิดของเราจักมีเป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี"
ซึ่งวันที่ทรงประสูตินั้นตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือ เพ็ญวิสาขะ ในเวลาใกล้เที่ยง ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วันก็ได้รับการถวายพระนามว่า สิทธัตถะ แปลว่า ผู้มีความต้องการสำเร็จ
ฝ่ายพระนางสิริมหามายาเทวีราชมารดา เมื่อประสูติพระราชกุมารได้ ๗ วันก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นที่ ๔ คือ ชั้นดุสิต พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาได้อภิเษกพระนางมหาปชาบดีโคตมี อันเป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายาเป็นพระอัครมเหสี ต่อมามีพระราชบุตรและพระราชบุตรีร่วมกันรวม ๒ องค์ คือเจ้าชายนันทะ หรือ พระนันทะ และ เจ้าหญิงรูปนันทา หรือภิกษุณี พระรูปนันทาเถรี
จะเห็นว่าพระโพธิสัตว์ทรงอยู่ในพระครรภ์เป็นเวลา ๑๐ เดือน กับ ๗ วัน
นัยยะสำคัญของการเสด็จพระราชดำเนิน ๗ ก้าวบนดอกบัว
ในอรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร,
โพธิสตฺตธมฺมตาวณฺณนา
ทรงแสดงนัยยะของการก้าวเดินแห่ง ๗ ก้าวเมื่อทรงประสูติ
โดยมีนัยยะไว้ว่า
ตถาคตในอรรถว่าเสด็จไปอย่างนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ตถาคต เพราะเสด็จไปอย่างนั้นเป็นอย่างไร? เหมือนอย่างพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ก่อนๆ ประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นก็เสด็จไป
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นเสด็จไปอย่างไร?
จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่านั้นประสูติในบัดเดี๋ยวนั้นเอง ประทับยืนบนปฐพีด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว ดังพระบาลีที่ตรัสไว้ว่า:-
ดูก่อนอานนท์ พระโพธิสัตว์ประสูติบัดเดี๋ยวนั้น ก็ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เสด็จไปโดยย่างพระบาท ๗ ก้าว. เมื่อท้าวมหาพรหมกั้นพระเศวตฉัตร ทรงเหลียวดูทั่วทิศ ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า เรา เป็นผู้เลิศในโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย, บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีต่อไป ดังนี้.
และการเสด็จไปของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็เป็นอาการอันแท้ ไม่แปรผัน ด้วยความเป็นบุพนิมิตแห่งการบรรลุคุณวิเศษหลายประการคือ ข้อที่พระองค์ประสูติในบัดนั้นเอง ก็ได้ประทับยืนด้วยพระยุคลบาทอันเสมอกัน นี้เป็นบุพนิมิตแห่งการได้อิทธิบาท ๔ ของพระองค์.
อนึ่ง ความที่พระองค์บ่ายพระพักตร์ไปเบื้องทิศอุดร เป็นบุพนิมิตแห่งความเป็นโลกุตตรธรรมทั้งปวง, การย่างพระบาท ๗ ก้าว เป็นบุพนิมิตแห่งการได้รัตนะ คือโพชฌงค์ ๗ ประการ
นัยยะที่ ๑. การได้โพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ หมายถึง ธรรมหรือข้อปฏิบัติเพื่อยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ กล่าวคือ ถึงที่สุดแห่งการดับทุกข์หรือการตรัสรู้ อันมี ๗ ประการ ซึ่งเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องดีงามก็ดำเนินไปตามหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบันธรรม อันเป็นไปดังนี้
๑. สติ
๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม)
๓. วิริยะ
๔. ปีติ
๕. ปัสสัทธิ
๖. สมาธิ
๗. อุเบกขา
- สติสัมโพชฌงค์ ความระลึกได้ ความระลึกได้บ่อยๆในกิจ(สิ่งที่ควร)ที่ทำมาไว้แล้ว ความไม่เผลอเรอ ความมีสติกํากับอยู่ในกิจ หรืองาน หรือธรรมที่ปฏิบัติ
- ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ (ธรรมวิจยะ) หรือ ธรรมวิจัย ความสอดส่อง สืบค้นธรรม, การวิจัยหรือค้นคว้าธรรม การพิจารณาในธรรม อันครอบคลุมถึงการเลือกเฟ้นธรรมที่ถูกต้อง ดีงาม ถูกจริต และการค้นคว้า การพิจารณา การไตร่ตรองด้วยปัญญาหรือการโยนิโสมนสิการ ให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง อย่างแท้จริง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจในธรรม
- วิริยสัมโพชฌงค์ ความเพียร ท่านหมายถึงความเข้มแข็ง ความพยายาม บากบั่นสู้กิจไม่ย่อหย่อนท้อแท้ต่อการปฏิบัติ และการพิจารณาธรรม(ธรรมวิจยะ) ตลอดจนการเพียรยกจิตไม่ให้หดหู่ท้อแท้, เมื่อเกิดความเข้าใจในธรรมจากการพิจารณาธรรม ย่อมเป็นสุข เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติ
- ปีติสัมโพชฌงค์ มีสติพิจารณาธรรม ด้วยความเพียรจนเกิดความอิ่มเอิบ อิ่มใจ ความดื่มดํ่า ใจฟู ความแช่มชื่น ความปลาบปลื้ม อันปราศจากอามิส(ไม่เจือด้วยกิเลส)ขึ้นเป็นธรรมดา
- ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายและความสงบใจ ความผ่อนคลายกายใจอันเกิดแต่ปีติสุขที่ระงับไป
- สมาธิสัมโพชฌงค์ ความมีจิตตั้งมั่น เพราะเมื่อกายสงบ ย่อมพบสุข เมื่อพบสุข จิตย่อมตั้งมั่น
- อุเบกขาสัมโพชฌงค์ การวางใจเป็นกลาง วางเฉย รู้ตามความจริงหรือยอมรับตามความจริง แล้วละเสียโดยการตั้งมั่นวางเฉยหรือปล่อยวางโดยอาศัยกำลังของจิตอันเกิดแต่สติ,สมาธิและปัญญานั่นเอง
นัยยะที่ ๒. การประกาศศาสนาใน ๗ แคว้นก่อนการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน การก้าวเดิน ๗ ก้าว ของพระพุทธองค์เมื่อประสูติ หมายถึง การประกาศศาสนาใน ๗ แคว้นก่อนการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
- แคว้นมคธ เป็นทั้งแคว้นแรกที่พระพุทธองค์เสด็จโปรด เมืองหลวงคือ เมืองราชคฤห์
- แคว้นโกศล เมืองหลวงคือ เมือง สาวัตถี
- วัชชี เมืองหลวงคือ เมืองเวสาลี-ไพศาลี
- แคว้นวังสะ เมืองหลวงคือ เมืองโกสัมพี
- แคว้นอวันตี เมืองหลวงคือ เมืองอุชเชนี
- แคว้นสักกะ เมืองหลวงคือ กรุงกบิลพัสดุ์
- แคว้นมัลละ เมืองหลวงคือ กรุงกุสินารา สถานที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพาน
นัยยะที่ ๓. บัว คือ เปรียบมนุษย์เหมือนบัว ๔ เหล่า
พระพุทธองค์ทรงคำนึงว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม ทรงพิจารณาโดยพระญาณก่อนว่า เวไนยสัตว์ นั้นจำแนกเหล่าที่จะรองรับพระสัทธรรมได้เพียงใด จำนวนเท่าใด ทรงจำแนกด้วยพระญาณว่าเหล่าเวไนยสัตว์บุคคลที่จะรับพระสัทธรรมได้และไม่ได้มีอยู่ ๔ จำพวก เปรียบได้ดังดอกบัวสี่เหล่า อันหมายถึง ปัญญา วาสนา บารมี และอุปนิสัย ที่สร้างสมมาแต่อดีตของบุคคล
ซึ่งบัว ๔ เหล่านั้น คือ
บัวประเภทที่ ๑ ดอกบัวที่พ้นน้ำแล้ว รอแสงพระอาทิตย์จะบานวันนี้
บัวประเภทที่ ๒ ดอกบัวที่ปริ่มน้ำ จะบานวันพรุ่งนี้
บัวประเภทที่ ๓ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ยังอีก ๓ วันจึงจะบาน
บัวประเภทที่ ๔ ดอกบัวที่เพิ่งงอกใหม่จากเหง้าในน้ำ จะยังไม่พ้นภัยจากเต่าและปลา
ซึ่งบัวแต่ละประเภทนั้นเปรียบได้ดังนี้
- อุคฆฏิตัญญู
คือ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำเมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
- วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เป็นสัมมาทิฏฐิ
เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มเติมจะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
- เนยยะ คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย แต่เป็นสัมมาทิฏฐิเมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรมฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ มีสติมั่นประกอบด้วยศรัทธาปสาทะ ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง
- ปทปรมะ คือ พวกที่ไร้สติปัญญา และยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ
แม้ได้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ทั้งยังขาดศรัทธาปสาทะ ไร้ซึ่งความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ยังแต่จะตกเป็นอาหารของเต่าปลา ไม่มีโอกาสโผล่ขึ้นพ้นน้ำเพื่อเบ่งบาน
นัยยะที่ ๓. การก้าวย่างพระบาท เปรียบข้อธรรมในอิทธิบาท ๔
อิทธิบาท หรือ อิทธิบาท ๔ หมายถึง ฐานหรือหนทางสู่ความสำเร็จ หรือ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ คุณเครื่องสำเร็จสมประสงค์ ทางแห่งความสำเร็จ คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย มี ๔ ประการ คือ
- ฉันทะ ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป
- วิริยะ ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอย
- จิตตะ ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป
- วิมังสา ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น
|