"การสร้างพระบารมีตอนกลาง"


หลังจากที่พระโพธิสัตว์เจ้าทรงตั้งมโนปณิธานความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ใน
พระหฤทัย มิได้ออกพระวาจามาครบถ้วน ๗ อสงไขย  พระองค์ยังจะต้องทรงตั้ง
"วจีปณิธาน"  คือ ออกพระวาจาปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า  เป็นเวลานานถึง
๙ อสงไขย ซึ่งเป็นการสร้างพระบารมีตอนกลางของพระพุทธเจ้า


"สมเด็จพระสาครราชกุมาร"

ในกาลครั้งนี้ พระโพธิสัตว์เจ้าได้จุติจากพรหมโลกแล้วได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดใน
ราชตระกูล ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระสาครราชกุมาร” ครั้นเจริญวัยแล้วก็ได้
ครองสมบัติ แทนพระราชบิดาแต่ที่พิเศษคือเมื่อถึงวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ พระองค์จะ เสด็จสู่มหาปราสาท และทรงถืออุโบสถศีล สมาทานมิได้ขาด ด้วยอำนาจแห่ง
พระราชกุศลนั้น จึงบันดาลให้สัตตรัตนะอุบัติเกิดขึ้น หรือ สมบัติจักรพรรดิ 
๗  ประการ

สมบัติจักรพรรดิ  ๗  ประการ คือ

  1. ทิพยรัตนจักรแก้ว งามบริสุทธิ์ มีมหิทธิฤทธิ์ให้สำเร็จสมความประสงค์ทุกประการ
  2. พญาคชสารหัสดินรัตนสาร คือ ช้างแก้วประเสริฐ
  3. พญาอัสดรรัตนมัย คือ ม้าแก้วสินธพชาติตัวประเสริฐ
  4. ดวงจินดารัตนมณี คือ แก้วมณีอันโชติช่วงรัศมี
  5. ดรุณรัตนนารี คือ นางแก้วคู่บารมีสำหรับบรมกษัตริย์
  6. คหบดีรัตนะ คือ ขุนคลังแก้วคู่บารมี
  7. ปรินายกรัตนะ คือ ขุนพลแก้วคู่บารมี

กาลครั้งนั้น ปรากฏว่ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้ หนึ่ง
พระองค์ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมิ่งมงกุฎปุราณศากยมุนีสัมพุทธเจ้า”
เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนา “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร”
ตามพระพุทธประเพณีอันมีสืบมา ซึ่งเป็นอัศจรรย์ทำให้ปฐพีเกิดกัมปนาทหวาดหวั่น
ทั่วจักรวาลโลกธาตุ จึงเป็นเหตุให้ จักรแก้ว ของสมเด็จพระสาครราชจักรพรรดิ
เคลื่อนตกจากที่ตั้งไว้ ซึ่งทำให้ราชบุรุษผู้ดูแลและพระจักรพรรดิสาครราชได้เห็นแล้ว
กืสดุ้งในพระทัย ซึ่งพระองค์ทรงปรารภถึงเหตุว่า ในกรณีเช่นนี้อันตรายแห่งชีวิต
จะมีแก่เรา หรือว่าอันตรายจะปรากฏมีแก่ราชสมบัติเป็นประการใด จึงทรงดำรัสถาม พระโหราจารย์ราชครู ท่านราชครูจึงถวายพยากรณ์กราบทูลว่า

      “ข้าแต่สมมติเทวราช!  เหตุที่ทำให้จักรแก้วนี้ มีอันเคลื่อนตกจากที่นั้น
      มีอยู่  ๒ ประการ คือ

  1. เป็นนิมิตแห่งอันตรายต่อพระชนม์ของสมเด็จพระบรมจักรพรรดิ และ
  2. เป็นนิมิตแห่งเหตุที่สมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติในโลก

พระโหราราชครูทั้งหลายจึงพร้อมใจกันตรวจดูจนแน่แก่ใจแล้ว กราบทูลว่า 

     “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐเหตุที่เกิดนี้เป็นนิมิตแห่งความที่ สมเด็จ
      พระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้
      บัดนี้สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติเกิดใน
     โลกนี้แล้ว พระเจ้าข้า”
  

ซึ่งพระองค์ได้รับการกราบทูลว่า

      “ข้าแต่มหาราช! สมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ พระองค์
      ทรงเป็นบรมไตรโลกนาถไม่มีผู้ใดจะยิ่งกว่า เป็นพระอริยะผู้
      ทรงคุณประเสริฐ เป็นพระบรมครูตรัสรู้ไญยธรรมทั้งปวง เป็นผู้
      จำแนกธรรม คือ มรรค ผล นิพพาน ทรงพระพุทธลักษณะ
      งดงามสิริพิลาส ทรงปรากฏพระนามว่า “สมเด็จพระศรีศากยมุนี
      ชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า” อนึ่งเล่า พระองค์กำลังเสด็จมาประทับอยู่
      ณ อุทยานของพระองค์ พระเจ้าข้า”


ครั้นพระสาครจักรพรรดิราชได้ทรงทราบดังนั้น ได้เสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพาร
ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงเกิดโสมนัสยินดีปลื้มปิติเป็นล้นพ้น  ทรงรำพึง
ในใจว่า
     “เรานี้ได้อุดมสมบัติปรากฏเยี่ยมเทียมเทพมไหศูรย์อันประเสริฐ
     ล้ำเลิศเกิดแก่เราในชาตินี้ก็เพราะมีอุตสาหะสร้างสมกุศล
     สมภารมีทานบริจาค และเป็นผู้มากด้วยศีลสมาทานไว้
     แต่ชาติปางก่อน จึงอำนวยผลให้ได้ประสบสุขเห็นปานนี้
     นี่เป็นส่วนหนึ่ง ก็ในอนาคตเล่า
     บัดนี้ สมเด็จพระตถาคตศรีศากยมุนีเจ้าได้ทรงเปลื้องพระองค์
     ให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารได้แล้ว ทั้งยังทรงนำสัตว์ทั้งหลาย
     ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ด้วยฉันใด  แม้เรานี้ก็จะตั้งใจ
      เปลื้องตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร แล้วก็จะนำ
     สัตว์ทั้งหลายอื่นให้หลุดพ้นได้ด้วย ฉันนั้น”


เมื่อพระองค์เสด็จกลับแล้ว จึงทรงมีรับสั่งให้นำไม้จันทน์หอมมาสร้างเสนาสนะ มหาจันทนวิหารเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า ครั้นกราบทูลถวายมหาวิหารแล้ว ก็ถวายภัตหารแด่พระอริยสงฆ์ พร้อมกับทรงอุทิศถวายเครื่องไทยทานมากมาย ด้วยพระองค์เอง โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ครั้งนั้นสมเด็จพระสาคร
จักรพรรดิราช จึงเปล่งพระวจีปณิธานว่า
     “ด้วยเดชะอำนาจแห่งบุญกรรมนี้ ขอจงเป็นปัจจัยราศีเสริมส่ง
     ให้ข้าพระองค์ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า
      พระศากยมุนีโคดม เสมอด้วยพระนามแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า
      นี้ด้วยเถิด”   

 
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว พระองค์จึงทรงตั้งวจีปณิธานซ้ำลงไปอีกว่า

    “พระบรมไตรโลกนาถเจ้านี้ ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
     ทรงสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ได้ด้วยฉันใด ข้าพระบาท
     จักขอตรัสเป็น พระพุทธเจ้า จะยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ได้ด้วยฉันนั้น
    “พระผู้ทรงพระภาคผู้นาถะของโลกนี้ ได้ล่วงพ้นจากสงสารแล้ว
     ทรงสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้ล่วงพ้นได้ด้วยฉันใด ข้าพระบาท
     ขอจงได้เป็นนาถะของโลก ล่วงพ้นจากทุกข์ในสงสารแล้ว
     และสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้ล่วงพ้นได้ด้วยฉันนั้น
    “พระผู้มีพระภาคนาถะของโลกนี้ ทรงข้ามได้แล้วจากโลก
     และย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามได้ด้วยฉันใด ขอข้าพระบาท
     จงได้เป็นพระโลกนาถะข้ามได้แล้วจากโลก และยังสัตว์ทั้งหลาย
    ให้ข้ามได้ด้วยฉันนั้นเถิด”


ลำดับนั้น สมเด็จพระปุราณศรีศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระพุทธฏีกา
ตรัสว่า
     “ดูกรมหาบพิตร!  การที่จะปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมินั้น
     ย่อมเป็นการยากยิ่งนักที่บุคคลจะทำสำเร็จได้ ถ้าพระองค์
     ใคร่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จงค่อยสดับความอุปมาดังนี้ คือ
     ในเมื่อห้วงจักรวาลอันกว้างลึกสุดที่จะประมาณเต็มไปด้วย
     ภูเขาเหล็กลุกเป็นไฟโพลงอยู่ไม่รู้ดับ และมีพื้นเบื้องต่ำ
     ตามระหว่างข้างซอกแห่งภูเขานั้น เต็มไปด้วยน้ำทองแดง
     ที่ร้อนแรงจนเหลวละลายไหลคว้างดูดุจกุมภีนรก ผู้ใดมีน้ำใจ
     กล้าหาญเด็ดเดี่ยวสามารถที่จะว่ายน้ำทองแดงไปได้ด้วย
     กำลังแขนของตนจนตลอดถึงฟากจักรวาลโน้นได้ โดยมิได้
     อาลัย ถึงเลือดเนื้อร่างกายและชีวิต ผู้มีน้ำใจเห็นองอาจปานนี้
     จึงจะทำตนให้ถึงพุทธภาวะความเป็นพระพุทธเจ้าได้
     นี่แหละมหาบพิตร พระพุทธภูมิสำเร็จได้โดยยากดังกล่าว
     มานี้ขอจงทราบไว้ในพระทัยเถิด”

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระบาทจะสู้ก้มหน้าว่ายข้าม
     แม่น้ำทองแดงร้อนนั้นไปให้ได้”

สมเด็จพระปุราณศรีศากยมุนีได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่า
ปณิธานของพระบรมจักรพรรดิพุทธางกูรโพธิสัตว์นี้จักสำเร็จได้ นานไปอีกสิบสอง อสงไขยกับเศษแสนมหากัป จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า “พระศรีศากยมุนีโคดม” เสมอด้วย นามเราตถาคตนี้ เมื่อพระองค์ทรงทราบดังนั้น จึงทรงมีพระพุทธฏีกาดำรัส เป็นพระโอวาทว่า

     “ดูกรมหาบพิตร!  ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ซึ่ง
     พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้วจงทรงบำเพ็ญพระบารมี ๓๐
     ให้ครบถ้วนบริบูรณ์เถิด”


เมื่อพระองค์ท่านได้ทรงฟังพระพุทธฏีกาดังนั้น ก็เกิดความปิติล้นพ้น พระโพธิสัตว์เจ้า จึงต้องสร้าง พระบารมีตอนที่ทรงเปล่งพระวาจาปรารถนาพระพุทธภูมิ ต่อพระพักตร์ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์อีกมากมาย เป็นเวลานานถึง
๙ อสงไขย