"ธรรมสโมธาน ๘ ประการ
และพุทธกรณธรรม ๑๐
"

  
สุเมธดาบสครั้นได้รับพุทธพยากรณ์ ก็ได้ชื่อว่าเป็น นิยตโพธิสัตว์ นับแต่นั้นมา
ท่านแสดงว่า  ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จักสำเร็จเพราะผู้ตั้งความปราถนา ประกอบด้วย ธรรมสโมธาน ๘ ประการ   ได้แก่

  1. เป็นมนุษย์
  2. เป็นบุรุษเพศสมบูรณ์
  3. มีเหตุสมบูรณ์  คือ มีนิสัยบารมี พร้อมทั้งการปฎิบัติประมวลกัน เป็นเหตุที่จะให้บรรลุพระอรหัตต์ในอัตภาพนั้นได้แล้ว  แต่เพราะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า จึงยังไม่สำเร็จก่อน
  4. ได้เห็นพระศาสดา คือได้เกิดทัน และได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
    พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
  5. บรรพชา คือ ถือบวชเป็นนักบวช เช่น ฤษี ดาบส ไม่ใช่เป็นคฤหัสถ์
  6. ถึงพร้อมด้วยคุณ  คือ ได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ หมายถึงการได้สมาธิจิตอย่างสูง จนจิตบังเกิด ความรู้ ความเห็น อย่างมีตา มีหู รับรู้เห็นเกินมนุษย์สามัญ ที่เรียกว่า ตาทิพย์ หูทิพย์
  7. ถึงพร้อมด้วยอธิการ คือ การกระทำอันยิ่งจนถึงอาจบริจาคชีวิตของตน เพื่อพระพุทธเจ้าได้
  8. มีฉันทะ  คือ มีความพอใจ มีอุตสาหพยายามยิ่งใหญ่ จนเปรียบเหมือนว่า ยอมแบกโลกทั้งโลก เพื่อนำไปสู่แดนเกษมได้  หรือเปรียบเหมือนว่ายอมเหยียบย่ำโลกทั้งโลกที่เต็มไปด้วยขวากหนาม หอกดาบ และถ่านเพลิงไปได้

ท่านผู้ประกอบด้วยธรรมสโมธานแปดนี้ ทำอภินิหาร  ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ความปรารถนาของท่านย่อมสำเร็จได้
ดัง พระสุเมธดาบส มีธรรมสโมธานแปดประการบริบูรณ์ จึงมีอภินิหารปราถนาพุทธภูมิได้
ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้บำเพ็ญพุทธการณธรรม ๑๐ ประการ

พุทธการณธรรม ๑๐ ประการ
ได้แก่

  1. บำเพ็ญทาน  สละบริจาคสิ่งทั้งปวงจนถึงร่างกาย และชีวิตให้ได้หมดสิ้น เหมือนอย่างเทภาชนะใส่น้ำคว่ำจนหมดน้ำ
  2. บำเพ็ญศีล  รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เหมือนอย่างเนื้อทรายรักษาขนยิ่งกว่าชีวิต
  3. บำเพ็ญเนกขัมม์ ออกจากกาม จากบ้านเรือน เหมือนอย่างมุ่งออกจากพันธนาคาร
  4. บำเพ็ญปัญญา  เข้าหาศึกษา ไต่ถามบัณฑิต โดยไม่เว้นว่าจะเป็นบุคคลมีชาติชั้นวรรณะต่ำ ปานกลางหรือสูง  เหมือนอย่างภิกษุเที่ยวบิณฑบาตรับไปตามลำดับ ไม่เว้นแม้นที่ตระกูลต่ำ
  5. บำเพ็ญวิริยะ  มีความเพียร ไม่ย่อหย่อนทุกอิริยาบท เหมือนอย่างสีหราชมีความเพียรมั่นคงในอิริยาบททั้งปวง
  6. บำเพ็ญขันติ  อดทนทั้งในคำยกย่อง ทั้งในการดูหมิ่นแคลน เหมือนอย่างแผ่นดินใครทิ้งของสะอาด หรือไม่สะอาดก็รองรับได้ทั้งนั้น
  7. บำเพ็ญสัจจะ  รักษาความจริงไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ แม้ฟ้าจะผ่าเพราะเหตุไม่พูดเท็จ ก็ไม่ยอมพูดเท็จ เหมือนอย่างดาวโอสธี ดำเนินไปในวิถีของตน เที่ยงตรงทุกฤดู
  8. บำเพ็ญอธิฐาน  ตั้งใจมุ่งมั่นไม่หวั่นไหว คือเด็ดเดียวแน่นอนในสิ่งที่อธิษฐานใจไว้ เหมือนอย่างภูเขาหิน ไม่หวั่นไหวในเมื่อถูกลมกระทบทุกทิศ
  9. บำเพ็ญเมตตา  แผ่มิตรภาพไมตรีจิต ไม่คิดโกรธอาฆาต มีจิตสม่ำเสมอเป็นอันเดียวทั้งในผู้ให้คุณ ทั้งในผู้ไม่ให้คุณหรือให้โทษ เหมือนน้ำแผ่ความเย็นไปให้อย่างเดียวกันแก่คนทั้งชั่วทั้งดี
  10. บำเพ็ญอุเบกขา  วางจิตมัธยัสถ์เป็นกลาง ทั้งในคราวสุขในคราวทุกข์ เหมือนอย่างแผ่นดิน เมื่อใครทิ้งของสะอาดหรือไม่สะอาดลงไปก็มัธยัสถ์เป็นกลาง

พุทธการณธรรมสิบประการนี้เรียกว่า บารมี  แปลว่า อย่างยิ่ง หมายถึงว่า เต็มบริบูรณ์ บำเพ็ญจนเต็มบริบูรณ์เมื่อใด ก็สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อนั้น พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมี   นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์ จากพระทีปังกรพุทธเจ้า ตลอดเวลาสี่อสงไขยแสนมหากัป ผ่านพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ในกัปนั้นๆ นับแต่พระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้นมาถึง ๒๔ พระองค์ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

บารมีที่บำเพ็ญมาโดยลำดับ แบ่งเป็น ๓ ขั้น
๐ ขั้นสามัญเรียก บารมีอย่างธรรมดา 
๐ ขั้นกลางเรียกว่า อุปบารมี และ
๐ ขั้นสูงสุดเรียกว่า ปรมัตถบารมี 

แต่นั้นมาก็ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ มีทานบารมีเป็นต้น อุเบกขาบารมีเป็นที่สุด  ได้บำเพ็ญบารมีเป็นเวลานานนับด้วยกัลป์ สิ้นภพสิ้นชาตินับประมาณมิได้  ในภพชาติสุดท้ายได้บังเกิดเป็น พระเวสสันดร  ทรงสร้างทานบารมีอย่างยอดเยี่ยม  เมื่อสิ้นจากชาตินั้น ก็ได้ไปอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต (สวรรค์กามาวจรชั้นที่สี่)  เป็นเทพบุตรมีนามว่าสันดุสิตเทวราช

เมื่อใกล้กาลกำหนดที่จะจุติมาตรัส ได้เกิดโกลาหลขึ้นในบรรดาเทวดาทั้งปวง การเกิดโกลาหลนี้มีอยู่สามสมัยคือ       
    ๑. สมัยเมื่อโลกจะวินาศ 
    ๒. สมัยเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิ์จะเกิด และ
    ๓. สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น
เทวดาในหมื่นจักรวาฬ ได้พร้อมใจกันมาประชุมกันที่สวรรค์ชั้นดุสิต ทูลอาราธนาสันดุสิตเทวราชว่า ในกาลบัดนี้  สมควรที่พระองค์จะจุติไปบังเกิดในมนุษย์โลก เพื่อทรงนำสัตว์ในมนุษย์โลกกับเทวโลก  ข้ามให้พ้นจากห้วงแห่งความเวียนว่ายตายเกิด อันไม่มีต้นไม่ไม่มีปลาย ไม่รู้จบสิ้น  ให้รู้ความจริงบรรลุถึงทางปฏิบัติซึ่งจะเข้าสู่พระนิพพาน