
"รูปภพ..พรหมโลก"
รูปภพ หรือ พรหมโลก
คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่า เทวโลก มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวโลก
พรหม คือ ผู้ที่มีความเจริญอยู่ด้วยคุณพิเศษ มีฌานเป็นต้น รูปร่างของพรหมนั้นไม่ปรากฏว่าเป็น หญิงหรือชาย เพราะพรหมไม่มีกามฉันทะอย่างหยาบ แม้ตั้งแต่ในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็ข่มได้อยู่แล้วขณะ กระทำฌานให้เกิด อย่างไรก็ดียังมีรูปร่างคล้ายชายมากกว่า ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงรูปฌาน เมื่อละโลกแล้วจะมาบังเกิดเป็นรูปพรหมอยู่ในรูปภพ ซึ่งระดับความแก่อ่อนของฌานนั้นก็แตกต่างกัน ไปตามภูมิที่อยู่มีทั้งหมด ๑๖ ชั้น แบ่งย่อยออกเป็นภูมิชั้นต่าง ๆ ดังนี้
รูปภพ หรือ พรหมโลก ๑๖ ชั้น
ปฐมฌานภูมิ ๓
๐ พรหมปาริสัชชา
๐ พรหมปุโรหิตา
๐ มหาพรหมา
ทุติยฌานภูมิ ๓
๐ ปริตตาภา
๐ อัปปมาณาภา
๐ อาภัสสรา
ตติยฌานภูมิ ๓
๐ ปริตตสุภา
๐ อัปปมาณสุภา
๐ สุภกิณหา
จตุตถฌานภูมิ ๒
๐ เวหัปผลา
๐ อสัญญีสัตตา
สุทธาวาสภูมิ ๕
๐ อวิหา
๐ อตัปปา
๐ สุทัสสา
๐ สุทัสสี
๐ อกนิฏฐ
ปฐมฌานภูมิ ๓
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ปฐมฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน มิได้ตั้งอยู่สูงต่อๆ กันไปตามลำดับชั้นอย่างสวรรค์ ประกอบด้วย
๐ พรหมปาริสัชชา
เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างอ่อน เป็นพรหมธรรมดาสามัญ ไม่มีอำนาจพิเศษอันใด เป็นบริวารของมหาพรหม
๐ พรหมปุโรหิตา
เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างกลาง เป็นพรหมปุโรหิต (ที่ปรึกษา) ของมหาพรหมและอยู่ในตำแหน่งผู้นำในกิจการทั้งหลายของมหาพรหม
๐ มหาพรหมา
เป็นพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างแก่ เป็นพรหมที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งกว่าพรหมปาริสัชชา และพรหมปุโรหิตา ในมหาพรหมาภูมิ ยังเป็นที่อยู่ของท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งเป็นผู้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ พรหมที่ได้ฌานอย่างแก่ มีบุญมาก มีรัศมีสว่างไสว จะอยู่ที่ศูนย์กลางภพ ส่วนพรหมที่มีกำลังฌานรองลงไป ก็จะอยู่ถัดออกไปโดยรอบ
ทุติยฌานภูมิ ๓
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ทุติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นปฐมฌานภูมิ ประกอบด้วย
๐ ปริตตาภา
เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างอ่อน มีรัศมีน้อยกว่า พรหมที่อยู่เบื้องบน (ปริตตะ แปลว่า น้อย อาภา แปลว่า รัศมี ความสว่าง)
๐ อัปปมาณาภา
เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างกลาง มีรัศมีหาประมาณมิได้
๐ อาภัสสรา
เป็นพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างแก่ มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกาย มีความยินดีในฌานของตนอย่างเต็มที่ เป็นไปด้วยอำนาจของปีติอยู่เสมอ จิตใจจึงมีความผ่องใสมากอยู่เสมอ ส่งผลให้กายผ่องใสจนปรากฏออกมาเป็นรัศมีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย
ตติยฌานภูมิ 3
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้ตติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นทุติยฌานภูมิ ประกอบด้วย
๐ ปริตตสุภา
เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างอ่อน มีรัศมีสวยงามเช่นเดียวกับรัศมีของดวงจันทร์ เป็นความสว่างที่ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน รัศมีรวมกันอยู่เป็นวงกลม แต่ยังสวยงามน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน
๐ อัปปมาณสุภา เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างกลาง มีรัศมีสวยงามหาประมาณมิได้
๐ สุภกิณหา เป็นพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างแก่ มีรัศมีสวยงามตลอดทั่วร่างกาย
จตุตถฌานภูมิ ๒
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้จตุตถฌาน ประกอบด้วย
๐ เวหัปผลา
เป็นพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือ เป็นผลของกุศลที่มั่นคงไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษตามอำนาจของฌาน ผลของกุศลในชั้นปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ และตติยฌานภูมิ ไม่สามารถบังเกิดในชั้นเวหัปผลาภูมิได้ เพราะเมื่อยามโลกถูกทำลาย ภูมิทั้ง ๓ ระดับย่อมถูกทำลายไปด้วย
ในบรรดาพรหมทั้ง ๙ ภูมิที่กล่าวมา สุภกิณหามีอายุยืนมากกว่าพรหมอื่น ๆ ที่เกิดอยู่ในภูมิต่ำกว่า คือ มีอายุขัยถึง ๖๔ มหากัป โดยพรหมองค์ที่มีอายุเต็ม ๖๔ มหากัป ต้องเป็นองค์ที่อุบัติขึ้นพร้อมการสร้างโลกใหม่ ส่วนองค์ที่เกิดตามมาภายหลังย่อมมีอายุลดลงตามลำดับ เมื่อครบกำหนด ๖๔ มหากัป ตติยฌานภูมินี้จะถูกทำลายด้วยลมทุกครั้งไป สำหรับเวหัปผลาภูมิพ้นจากการถูกทำลายทั้งด้วยไฟ น้ำ และลม พรหมทุกองค์ที่บังเกิด ณ ที่นี้จึงมีอายุขัยได้เต็มที่ คือ ๕๐๐ มหากัปเสมอไป
๐ อสัญญีสัตตา หรือ พรหมลูกฟัก
เป็นพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์ คือดับ ความรู้สึกข้างนอกหมด ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แต่กิเลสยังไม่ดับ มีรูปร่างผิวพรรณงดงามคล้ายพระพุทธรูปทองคำ มีอิริยาบถ ๓ อย่าง คือ นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่ง ๆ แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นจนครบอายุขัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พรหมลูกฟัก
จตุตถฌานภูมิทั้ง ๒ นี้ตั้งอยู่กลางอากาศ สูงกว่าตติยฌานภูมิ พรหมใน ๒ ชั้นนี้ สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน และมองเห็นพรหมชั้นที่อยู่ต่ำกว่าได้ ส่วนพรหมชั้นต่ำกว่าไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้
รูปพรหมทั้ง ๑๑ ชั้นเหล่านี้ แม้ว่าจะมีอายุยืนยาวมากก็ตาม ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิก็เป็นได้ ทิพยสมบัติ อิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืนต่าง ๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย
สุทธาวาสภูมิ ๕
เป็นที่อยู่ของผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี สุทธาวาสภูมิ แบ่งออกเป็น ๕ ชั้น ตามความแก่อ่อนของบารมี โดยดูจากอินทรีย์ ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดังนี้
๐ อวิหา
มีอินทรีย์อ่อนที่สุด ศรัทธามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่ไม่ละทิ้งสถานที่ของตน คือต้องอยู่จนครบอายุขัยจึงจุติ ไม่มีการเสื่อมจากสมบัติของตน มีทิพยสมบัติบริบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอจนตลอดอายุขัย สำหรับพรหมชั้นสูงที่เหลืออีก ๔ ชั้น อาจไม่ได้อยู่จนครบอายุขัย มีการจุติได้ก่อน
๐ อตัปปา
วิริยะมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่ไม่มีความเดือดร้อนใจ เพราะย่อมเข้าผลสมาบัติอยู่เสมอ นิวรณธรรมที่เป็นเหตุให้จิตเดือดร้อนไม่อาจเกิดขึ้น จิตใจจึงมีแต่ความสงบเยือกเย็น
๐ สุทัสสา
สติมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่เห็นสิ่งต่าง ๆ โดยปรากฏชัด เพราะบริบูรณ์ด้วยจักษุทั้งหลาย ได้แก่ ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ธัมมจักษุ ปัญญาจักษุที่บริสุทธิ์ พรหมในชั้นนี้มีร่างกายสวยงามมาก ผู้ใดได้เห็นแล้วย่อมเกิดความสุขใจ สุทัสสา จึงหมายความว่า ผู้ที่ผู้อื่นเห็นด้วยความเป็นสุข
๐ สุทัสสี
สมาธิมีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่แลเห็นสิ่งต่าง ๆ โดยสะดวก มีการเห็นบริบูรณ์ด้วยดียิ่งกว่า สุทัสสาพรหม ว่าโดยจักษุ ๔ ประการแล้ว ปสาทจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ ทั้งสามอย่างนี้มีกำลังมากยิ่งกว่าสุทัสสาพรหม มีแต่ธัมมจักษุเท่านั้นที่มีกำลังเสมอกัน
๐ อกนิฏฐ
มีอินทรีย์แก่ที่สุด ปัญญามีกำลังมากกว่าอินทรีย์อื่น จึงได้มาเกิดในชั้นนี้ เป็นพรหมที่มี ทิพยสมบัติและความสุขที่ยอดเยี่ยม มีคุณสมบัติยิ่งกว่ารูปพรหมทุกชั้น รูปพรหมชั้นที่ ๑ ถึง ชั้นที่ ๔ ใน สุทธาวาสภูมินี้ ขณะยังไม่เป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติในชั้นของตนแล้ว จะเลื่อนไปบังเกิดในชั้นสูงขึ้นไป ไม่เกิดซ้ำภูมิหรือไม่เกิดในภูมิต่ำกว่า แต่สำหรับอกนิฏฐพรหมย่อมไม่ไปบังเกิดในภูมิอื่นอีกเลย จะต้อง ปรินิพพานในภูมินี้
ในอกนิฏฐภูมิ มีปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่ง คือ ทุสสเจดีย์ เป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของ เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสวมใส่ในขณะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ โดยฆฏิการพรหมลงมาจากชั้นอกนิฏฐภูมิ นำเอาเครื่องบริขารทั้ง ๘ ถวายแด่พระสิทธัตถะ และรับเอาเครื่องฉลองพระองค์ไปบรรจุไว้ในทุสสเจดีย์ มีความสูง ๑๒ โยชน์
สุทธาวาสภูมิ จะมีขึ้นในระยะที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเท่านั้น เพราะเป็นที่อยู่ของอนาคามีบุคคล ถ้าพระพุทธศาสนายังไม่บังเกิด พระอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นับเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นเฉพาะกาล โดยธรรมชาติ อายุของสุทธาวาสภูมิจะไม่เกินอายุรวมของทั้ง ๕ ชั้นในภูมินี้รวมกัน (ประมาณ ๓๑,๐๐๐ มหากัป) เพราะไม่ว่าพระอริยบุคคลจะเกิดอยู่ในภูมิใด ในมนุษย์ เทวดา รูปพรหม ก็จะพากันปรินิพพานจนหมด ดังนั้นสุทธาวาสภูมิจะหายไป และจะบังเกิดขึ้นใหม่อีกครั้งเมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นในโลกมนุษย์ หมุนเวียนอยู่ดังนี้
ตารางแสดงอายุของรูปพรหม ๑๖ ชั้น
รูปพรหม |
อายุ |
๑. ปาริสัชชาภูมิ |
๑ ใน ๓ วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป |
๒. ปุโรหิตาภูมิ |
๑ ใน ๒ วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป |
๓. มหาพรหมาภูมิ |
๑ วิวัฏฏัฏฐายีอสงไขยกัป |
๔.ปริตตาภาภูมิ |
๒ มหากัป |
๕ .อัปปามาณาภาภูมิ |
๔ มหากัป |
๖ .อาภัสสราภูมิ |
๘ มหากัป |
๗.ปริตตสุภาภูมิ |
๑๖ มหากัป |
๘. อัปปมาณสุภามิ |
๓๒ มหากัป |
9. สุภกิณหาภูมิ |
๖๔ มหากัป |
๑๐.เวหัปผลาภูมิ |
๕๐๐ มหากัป |
๑๑.อสัญญีสัตตาภูมิ |
๕๐๐ มหากัป |
๑๒.อวิหาสุทธาวาสภูมิ |
๑,๐๐๐ มหากัป |
๑๓.อตัปปาสุทธาวาสภูมิ |
๒,๐๐๐ มหากัป |
๑๔.สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ |
๔,๐๐๐ มหากัป |
๑๕.สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ |
๘,๐๐๐ มหากัป |
๑๖.อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ |
๑๖,๐๐๐ มหากัป |
ขอบคุณข้อมูลจาก : /book.dou.us/doku
|