"เทวภูมิ ๖"

เทวภูมิ ๖

เทวภูมิ หรือ สวรรค์ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นโลกที่อยู่อาศัยแห่งสัตว์อันเป็นทิพย์ มีรัศมีสว่างไสวรอบกายตลอดเวลา เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะสร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที เรียกว่าถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ ไม่ต้องนอนในครรภ์มารดาหรืออยู่ในฟองไข่ก่อน ส่วนจะอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็นเทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะอะไรนั้น ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์

สวรรค์มี ๖ ชั้น ได้แก่
๐ จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ
๐ ตาวติงสเทวภูมิ
๐ ยามาเทวภูมิ
๐ ตุสิตาเทวภูมิ
๐ นิมมานรดีเทวภูมิ และ
๐ ปรนิมมิตวสวัตดีเทวภูมิ

สวรรค์ชั้นที่ ๑ จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ

เป็นที่อยู่ของเหล่าเทวดาซึ่งมีท้าวจาตุมหาราชเป็นผู้ปกครอง ท่านปกครองตั้งแต่บนสวรรค์ลงไป จนถึงพื้นมนุษย์ สวรรค์ชั้นนี้เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ ตั้งอยู่ที่เขาพระสุเมรุ เป็นเหมือนเมืองประเทศราชของ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อยู่ใกล้กับแผ่นดินมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่น ๆ สวรรค์ชั้นนี้มีเมืองใหญ่เป็นเทพนครอยู่ถึง ๔ แห่ง แต่ละแห่งมีสถานที่อันน่ารื่นรมย์มากมาย เช่น สระโบกขรณีมีน้ำใสยิ่งกว่าแก้ว เต็มไปด้วยดอกบัวนานาชนิดส่งกลิ่นหอมตลบไปทั่ว มีต้นไม้สวรรค์อันวิจิตร มีดอกไม้อันเป็นทิพย์สีสันสดสวยตระการตา ผลไม้ทิพย์มีรสโอชาอยู่ตลอดกาล ไม่มีวันร่วงโรยและหมดไป

เทพนครทั้ง ๔ แห่งมีผู้ปกครอง ดังต่อไปนี้

๑. ท้าวธตรฐ
ปกครองสวรรค์ด้านทิศตะวันออก มีหน้าที่ปกครองเทวดา ๓ พวก ได้แก่ คนธรรพ์ วิทยาธร และกุมภัณฑ์

คนธรรพ์เป็นเทวดาที่เกิดอยู่ตามไม้หอม ๑๐ จำพวก ได้แก่ รากไม้ แก่นไม้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ น้ำหอม ตะคละต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ เหง้าใต้ดิน คนธรรพ์มี ๓ ประเภท ได้แก่ คนธรรพ์ชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นล่าง

๐ แคนธรรพ์ชั้นสูงมีวิมานอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เช่น
   ปัญจสิกขเทวบุตร มีเทพธิดาประจำอยู่ในวิมาน
๐ คนธรรพ์ชั้นกลาง เกิดอยู่ในป่าหิมพานต์
   มีวิมานอยู่ในต้นไม้ เป็นบริวารของคนธรรพ์ชั้นสูง
๐ ส่วนคนธรรพ์ชั้นล่างอยู่บนพื้นมนุษย์ เป็นชาวพื้นบ้าน มีทั้งที่มีครอบครัว    และไม่มีครอบครัว สิงอยู่ในต้นไม้จำพวกไม้หอม เช่น นางตะเคียน นางตานี

๐ คนธรรพ์มีความถนัดในการดนตรี การละคร ระบำรำฟ้อนศิลปะ วรรณกรรม กวีนิพนธ์        เมื่อมีเทวสมาคมครั้งใดคนธรรพ์มักทำหน้าที่ขับกล่อมให้ความสำราญแก่หมู่ทวยเทพ
    ทั้งหลาย คนธรรพ์นี้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ทำบุญเจือด้วยกามคุณ จึงได้มาเกิดเป็นคนธรรพ์
๐ วิทยาธรเป็นพวกที่ทรงความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ ศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ เป็นพวก     ที่ศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ เช่น แพทยศาสตร์ โหราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น พวกนี้เหาะได้     มีเวทมนตร์คาถาอาคมต่าง ๆ วิทยาธรมีรูปร่างหลากหลาย อยู่แบบเดี่ยวก็มี อยู่เป็นหมู่
    เป็นกลุ่มก็มี มีคู่ครองก็มี ไม่มีคู่ครองก็มี เป็นทั้งฤาษี นักบวช นักพรต คล้าย ๆ
    มนุษย์ธรรมดาก็มี
๐ กุมภัณฑ์มีรูปร่างแปลก หน้าตาพอง ๆ ไม่น่ากลัว เหมือนยักษ์ และก็ไม่ใช่ยักษ์ ไม่มีเขี้ยว     ผมหยิก ๆ ผิวดำ ท้องโต พุงโร และมีอัณฑะเหมือนหม้อ กุมภัณฑ์ มีตั้งแต่ชั้นสูงจนถึง
    ชั้นล่าง มีหน้าที่ลงไปทรมานสัตว์นรกในยมโลก

๒. ท้าววิรุฬหก
ปกครองสวรรค์ด้านทิศใต้ มีหน้าที่ปกครองพวกครุฑ เหตุที่มาเกิดเป็นครุฑ เพราะทำบุญเจือด้วยมานะทิฏฐิ มีความถือตัวอยู่มาก

๓. ท้าววิรูปักษ์
ปกครองสวรรค์ด้านทิศตะวันตก มีหน้าที่ปกครองพวกนาค เหตุที่มาเกิดเป็นนาคเพราะทำบุญเจือด้วยมานะทิฏฐิ มีความถือตัวอยู่มาก
๔. ท้าวเวสสวัณ หรือ ท้าวกุเวรมหาราช
ปกครองสวรรค์ด้านทิศเหนือ มีหน้าที่ปกครองพวกยักษ์ ซึ่งมีทั้งที่รูปร่างสวยงามมีรัศมี และพวกที่รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว เช่น รากษส เป็นยักษ์น้ำที่มีนิสัยดุร้าย เป็นต้น เหตุที่มาเกิดเป็นยักษ์เพราะทำบุญเจือด้วยความโกรธ มักหงุดหงิดรำคาญใจเป็นอาจิณ

นอกจากนี้ยังมีเทวดาพวกอื่นอีก ซึ่งเป็นเทวดาชั้นล่าง ได้แก่ ภุมมเทวา รุกขเทวา และอากาสเทวา

ภุมมเทวาเป็นเทวดาที่อาศัยอยู่บนพื้นมนุษย์ อยู่ตามจอมปลวก เนินดิน ใต้ดิน ภูเขา แม่น้ำ บ้าน เจดีย์ ศาลา ซุ้มประตู เป็นต้น บางองค์มีวิมานเป็นของตัวเอง บางองค์ก็ไม่มี

รุกขเทวาอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้หรือยอดไม้ต่างๆ ซึ่งสูงขึ้นไปกว่าพวกภุมมเทวา มีทั้งที่มีวิมานและไม่มีวิมาน

อากาสเทวามีวิมานอยู่ในอากาศ สูงขึ้นไปจากพื้นดิน ๑ โยชน์ เทวดาเหล่านี้อยู่ในปกครองของ ท้าวจาตุมหาราชิกา

อนึ่ง คนธรรพ์กับรุกขเทวามีความแตกต่างกัน คือ คนธรรพ์จะอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ตลอดไป ไม่ยอมทิ้งที่อยู่อาศัย แม้ต้นไม้นั้นจะผุพัง โค่นล้ม หรือถูกตัดเอาไปสร้างบ้านเรือนก็ตาม แต่พวกรุกขเทวา หากมีผู้ทำลายต้นไม้ที่ตนอยู่ ก็จะย้ายวิมานไปอยู่ต้นไม้ต้นอื่นในสวรรค์ชั้นนี้ยังมี

ป่าหิมพานต์
ป็นป่าที่มีสีทอง มีพื้นเป็นทอง ใบไม้เป็นสีทอง อยู่ที่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งแต่เดิมเชื่อมติดกับแผ่นดินของ ๔ ทวีป พอมนุษย์ทำบาปหนักเข้า แผ่นดินจึงก็แยกจากกันดังปรากฏในชาดกหลาย ๆ เรื่อง ทำให้ติดต่อไปมาหาสู่กันไม่ได้ ในป่าหิมพานต์นี้มียอดเขา ๘๔,๐๐๐ ยอด มีแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย คือ คงคา ยมุนา สรภู อจิรวดี มหิมา มีสระใหญ่ ๗ สระ คือ อโนดาต กัณณมุณฑะ รถกาละ ฉัททันตะ มัณฑากินี สีหปปาตะ กุณาละ เฉพาะที่สระอโนดาตมีภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบ คือ เขาสุทัสสนะ เขาจิตตกูฏ เขากาฬกูฏ เขาไกรลาส เขาคันธมาทน์ ที่เขาคันธมาทน์นี้ มีเงื้อมเขาหนึ่งชื่อ นันทมูลกะ เป็นที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า มีถ้ำอยู่ ๓ แห่ง คือ ถ้ำทอง ถ้ำแก้ว ถ้ำเงิน

ในป่าหิมพานต์มีสัตว์รูปร่างพิสดารมากมาย เช่น กินนร กินนรี พญานาค พญาครุฑ ติณณราชสีห์ กาฬราชสีห์ ปัณฑุราชสีห์ ไกรสรราชสีห์ คชสีห์ ช้างบางประเภท นกการเวก นกอินทรีย์ ปลาใหญ่ และมี ต้นมักกะลีผล หรือนารีผล ซึ่งมีผลเป็นนารี เป็นที่หมายปองของเหล่าเทวดาพวกคนธรรพ์และวิทยาธรในป่าหิมพานต์ทั้งหลาย

สวรรค์ชั้นที่ ๒ ตาวติงสเทวภูมิ

เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ดาวดึงส์ เป็นที่อยู่ของเทวดาซึ่งมีเทพ ๓๓ องค์เป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้ ตั้งอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นเทพนครอันกว้างใหญ่ไพศาล มีปราสาทแก้วอันเป็นทิพย์ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วอันมีประตูถึงพันแห่ง ที่ศูนย์กลางภพมีปราสาทอันงดงามประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ ชื่อว่า ไพชยันตปราสาท หรือเวชยันตปราสาท อันเป็นที่ประทับของท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นผู้ปกครองสูงสุดของสวรรค์ชั้นนี้ มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๓๓เขต แต่ละเขตมีสหายสนิทของพระอินทร์ ๓๒ องค์ เป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้มีเทวดาที่เป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่พระสกิทาคามี พระโสดาบัน เทวดาที่เข้าถึงไตรสรณาคมน์ และเทวดาทั่วไป

สวรรค์ชั้นที่ ๓ ยามาเทวภูมิ

เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสุยามะเป็นผู้ปกครอง สวรรค์ชั้นนี้ ตั้งอยู่สูงขึ้นไปเบื้องบนไกลแสนไกลจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พื้นสวรรค์ไม่มีแผ่นดินรองรับเหมือนอย่างสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิกา และแสงของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ส่องไปไม่ถึง เหล่าเทพมองเห็นได้ด้วยอาศัยรัศมีกายของตัวเอง การจะรู้วันและคืนได้นั้นอาศัยดอกไม้ทิพย์ เวลากลางวันจะบาน เวลากลางคืนจะหุบลง

สวรรค์ชั้นที่ ๔ ตุสิตาเทวภูมิ

เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสันดุสิตเป็นผู้ปกครอง ชาวสวรรค์เป็นผู้มีความยินดีและความแช่มชื่น อยู่เป็นนิตย์ บนสวรรค์มีปราสาทวิมานอยู่มากมาย ล้วนวิจิตรตระการตาเกินจะพรรณนา เหล่าเทพมีรูปทรงสวยงามสง่า มีจิตยินดีในการฟังธรรมยิ่งนัก สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่ที่เหล่าพระโพธิสัตว์และนักสร้างบารมีทั้งหลาย เลือกที่จะใช้เป็นที่พักระหว่างทางในการสร้างบารมี เช่นองค์ปัจจุบันที่จะตรัสรู้เป็นพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าก็ประทับ ณ สวรรค์ชั้นนี้

ชาวสวรรค์ชั้นนี้มีลักษณะพิเศษ คือ เป็นพวกที่มีใจใหญ่ ตั้งใจจะทำบุญเพื่อสงเคราะห์ชาวโลก บางพวกเมื่อโอกาสเหมาะแก่การสร้างบารมีบนโลกมนุษย์มาถึง ก็จะอธิษฐานจิตแล้วจุติลงมาเกิด เพื่อสร้างบารมี วิมานยังคงอยู่บนสวรรค์ ส่วนชาวสวรรค์ชั้นอื่นจุติเมื่อสิ้นอายุขัยหรือหมดบุญ เมื่อลงมาแล้ววิมานก็หายไป

สวรรค์ช้นที่ ๕ นิมมานรดีเทวภูมิ

เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวสุนิมมิตเป็นผู้ปกครอง ชาวสวรรค์ชั้นนี้หากมีความปรารถนาจะเสวยสุขด้วยกามคุณสิ่งใด ก็สามารถเนรมิตเอาได้ดั่งใจทุกประการ

สวรรค์ชั้นที่ ๖ ปรนิมมิตวสวัตตีเทวภูมิ

เป็นที่อยู่ของเทวดาอันมีท้าวปรนิมมิตวสวัตดีเป็นผู้ปกครอง เป็นสวรรค์ชั้นที่สูงที่สุดและกว้างใหญ่ ที่สุดในบรรดาสวรรค์ทั้งหมด ได้รับสุขสมบัติยิ่งกว่าสวรรค์ชั้นใด ๆ หากชาวสวรรค์มีความปรารถนาสิ่งใดแล้ว จะมีเทวดาอื่นรู้ความปรารถนาของตนแล้วเนรมิตให้ได้ดั่งใจทุกประการ


ขอบคุณข้อมูลจาก : /book.dou.us/doku