"ภพ..ภูมิ
โลก ๓ ประเภท"

ภพและภูมิ หรือ โลก ๓

คำว่า โลก, ภพ หรือ ภูมิ นี้ พึงเข้าใจในความหมายรวม ๆ กันก่อนว่า ได้แก่ ที่เป็นที่ถือปฏิสนธิ คือ ที่เกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย ผู้ที่มีจิตใจยังท่องเที่ยวพัวพันอยู่ในกาม ก็ยังเกิดในกามโลก หรือ กามาวจรโลก แปลว่า โลกของผู้ที่เที่ยวข้องอยู่ในกาม จะเรียกว่า กามาวจรภูมิ หรือกามาวจรภพก็ได้  ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิจนจิตใจสงบจากกามารมณ์บรรจุถึงรูปฌานย่อมบังเกิดใน รูปโลก หรือ  รูปาวจรโลก แปลว่า โลกของผู้ที่เที่ยวข้องอยู่ในรูปสมาธิ  ผู้ที่บำเพ็ญสมาธิละเอียดกว่านั้น จนบรรลุถึงอรูปฌาน ย่อมบังเกิดใน อรูปโลก หรืออรูปาวจรโลก โลกของผู้ที่เที่ยวข้องอยู่ในอรูปสมาธิ โลกเหล่านี้แบ่งไว้ตามภูมิชั้นของจิตใจ เมื่อจิตใจแยกภูมิชั้นออกไป ก็เลยแยกโลกซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ให้ต่างกันออกไปอีกมากมาย ผู้อ่านหรือฟังควรทำใจไว้ก่อนว่าเป็นเรื่องคติความคิดเก่าแก่เท่านั้น ยังไม่ควรตั้งข้อคาดคั้นว่าจริงหรือไม่จริง เพราะไม่ใช่เป็นธรรมะซึ่งพึงพิสูจน์ได้ภายในตนเอง แต่เป็นเรื่องโลกข้างนอก ซึ่งมีบาลีหลายแห่งแสดงว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์

ภพ-ภูมิ ได้มีกล่าวถึงในวรรณคดีภาษาไทยเรื่อง ไตรภูมิไตรภพ หรือ ไตรโลก,  

ไตรภูมิ หรือ ภูมิ ๓ ได้แก่
  ๐ กามภูมิ

  ๐ รูปภูมิ
  ๐ อรูปภูมิ

ไตรภพ หรือ ภพ ๓ ได้แก่
  ๐ กามภพ
  ๐ รูปภพ
  ๐ อรูปภพ
 
ไตรโลก โลก ๓ ได้แก่
  ๐ กามโลก
  ๐ รูปโลก
  ๐ อรูปโลก


แต่เมื่อหมายเฉพาะโลกที่เป็นชั้นดีอันเรียกว่าสุคติ ก็จัดเป็น
๐ มนุษยโลก,

๐ เทวโลก,
๐ พรหมโลก

พระพุทธเจ้าได้พระนามว่า ไตรโลกนาถ แปลว่า ที่พึ่งของโลกสาม คำว่า โลก หรือ ภพ ใช้ในความหมายที่ยังเป็นโลกด้วยกัน ส่วนคำว่า ภูมิ ใช้ในความหมายตั้งแต่ยังเป็นโลกจนถึงเป็นโลกุตตร ฉะนั้น ภูมิ จึงมีด้วยกัน ๔ ภูมิ เมื่อเพิ่ม โลกุตตรภูมิ อีกภูมิหนึ่ง
           
ภพ
ภพ แปลว่า โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์ ภาวะชีวิตของสัตว์ คือ

๑. กามภพ
คือ ที่อยู่ของผู้ยังเสวยกามคุณ
๒. รูปภพ คือ ที่อยู่ของรูปพรหม
๓. อรูปภพ คือ ที่อยู่ของอรูปพรหม

๐ กามภพ คือ ภพอันเป็นที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม ภพนี้เป็นภพของผู้ที่ยังมีความใคร่ ความอยาก ความพึงพอใจอยู่ในจิตใจ ดังนั้นภพนี้จึงได้ชื่อว่า กามภพ ภูมิที่อยู่ในภพนี้มีทั้งหมด ๑๑ ภูมิ ได้แก่
๐ มนุสสภูมิ ๑
๐ อบายภูมิ ๔
๐ เทวภูมิ ๖


๐ รูปภพ
หรือ พรหมโลก คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่สูงกว่าเทวโลก มีทิพยสมบัติทั้งหลายที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวโลก

๐ อรูปภพ
คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่ารูปภพ มีทิพยสมบัติทั้งหลาย ที่มีความสวยงามประณีตกว่าในรูปภพ

ภูม
ภูมิ
แปลว่า พื้นเพ ที่ดิน แผ่นดิน ในที่นี้หมายถึง ที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย แบ่งออกเป็น ๓๑ ภูมิ จากคำแปลของคำว่าภพและภูมิ ทำให้เราทราบว่า ทั้งสองคำนี้ มีความหมายคล้ายคลึงกัน เพียงแต่การแบ่งหมวดหมู่ได้มากน้อยไม่เท่ากัน คำว่า ภูมิ จะสามารถแบ่งประเภทได้มากกว่า คำว่า ภพ โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้คำทั้งสองนี้ควบคู่กันไป


           
จะกล่าวถึงกามภูมิก่อน แบ่งไว้ดังนี้ คือ อบายภูมิ ๔, มนุษย์ ๑, สวรรค์ ๖, รวมเป็น  ๑๑

มนุษย์โลก


โลกที่คนเราอาศัยอยู่นี้ มีสัตว์เดียรัจฉานอาศัยอยู่ด้วยก็จริง แต่มนุษย์เราก็เรียกยึดถือเอาว่า มนุษยโลก ถ้าพูดเป็นกลาง ๆ ก็ว่า โลกนี้ ตามคติความคิดโบราณว่า กลมอย่างล้อรถรหือล้อเกวียน ตั้งอยู่ในน้ำในอากาศ และมีขอบเหล็กเป็นเหมือนกำแพงกั้นข้างนอกอยู่โดยรอบอย่างกงล้อจึงเรียกว่า จักวาฬะ หรือ จักรวาละ แปลว่า สิ่งที่มีขอบกั้นล้อมเป็นวงกลมเหมือนอย่างล้อ คำว่าจักรวาล จึงหมายถึงโลก นั่นเอง
           
เมื่อวางรูปโลกให้กลมแบบล้อรถและมีกำแพงเหล็กเป็นขอบวงรอบอย่างกงล้อจึงเรียกว่า จักรวาล แปลอย่างสั้น ๆ ว่า มีขอบกำแพงเป็นวงกลม เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ได้มีคติความคิดวางแผนผังโลกไว้อย่างมีระเบียบ คือ ตรงใจกลางโลกมีภูเขาสูงใหญ่ชื่อว่า สุเมรุ มักเรียกในภาษาสันสกฤต หรือ สิเนรุ มักเรียกในภาษามคธ เหมือนอย่างเพลาล้อรถอยู่กลางล้อรถ เขาสุเมรุจึงเท่ากับเป็นเพลาโลกหรือจักรวาลนี้

                  
           
เขาสุเมรุมีภูเขาแวดล้อมเป็นวงรอบอีก ๗ และมีมหาสมุทรคั่นอยู่ในระหว่าง ๗ มหาสมุทร ภูเขาทั้ง ๗ มีชื่อนับจากข้างในออกมาข้างนอกดังนี้

  1. อัสสกัณณะ
  2. วินตกะ
  3. เนมินธร
  4. ยุคันธร
  5. อิสินธร
  6. กรวีกะ
  7. สุทสสนะ

ชื่อเหล่านี้กล่าวเรียงลำดับตามเนมิราชชาดก ในชาดกนั้นกล่าวว่า เขาเหล่านี้สูงกว่ากันขึ้นไปโดยลำดับ นับจากเขาสุทัสสนะซึ่งอยู่ข้างนอกต่ำกว่าทั้งหมด จนถึงเขาอัสสกัณณะซึ่งอยู่ข้างใน ซึ่งสูงถัดจากเขาสุเมรุ รวมเรียกว่า สัตตปริภัณฑบรรพต หรือ เขา สัตตบริภัณฑ์  สัตต แปลว่า ๗ บริภัณฑ์ แปลว่า วงล้อม

เขา สัตตบริภัณฑ์  คือเขาบริวารของเขาสุเมรุทั้ง ๗ ทั้งหมดมี ๗ เทือกเขา และในฉบับมหายานของทิเบตยังกล่าวถึงน้ำในสีทันดรมหาสมุทรทั้ง ๗ พิสดารออกไปอีกว่า เป็นน้ำต่าง ๆ กัน นับจากข้างในออกไปโดยลำดับ ดังนี้

  1. มหาสมุทรแห่งน้ำนมที่มีกลิ่นหอม
  2. มหาสมุทรแห่งน้ำนมส้ม
  3. มหาสมุทรแห่งเนย
  4. มหาสมุทรแห่งน้ำโลหิต หรือน้ำอ้อย
  5. มหาสมุทรแห่งน้ำยาพิษ หรือ เหล้า
  6. มหาสมุทรแห่งน้ำจืด
  7. มหาสมุทรแห่งน้ำเค็ม

และกล่าวว่ามหาสมุทรเหล่านี้กว้างลึกมากและน้อยลงโดยลำดับจากข้างในออกมาข้างนอก เช่นเดียวกับเขาสัตตบริภัณฑ์ ครั้นพ้นเทือกเขาที่  ๗ ออกมาแล้วก็เป็นมหาสมุทรน้ำเค็ม มีเกาะใหญ่ที่เรียกว่า ทวีป อยู่ใน  ๔  ทิศ  ทิศละ  ๑ ทวีป  คือ

  1. ทางทิศตะวันออก  มีทวีปชื่อว่า  วิเทหะ ที่แปลว่า กายใหญ่ หรือเรียกว่า บุพพวิเทหะ ฉบับทิเบตกล่าวว่า มีรูปเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก เป็นถิ่นผิวขาว ชาวทวีปนี้มีจิตใจสงบ และมีความประพฤติดี มีรูปใบหน้าเหมือนกับรูปของทวีป
  2. ทางทิศใต้ มีทวีปชื่อว่า ชมพู ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ ดังที่เรียกว่า ชมพูทวีป คัมภีร์ทิเบตเรียกชื่อว่า ชมุ  และกล่าวว่ามีรูปเหมือนสบักแกะ หรือสามเหลี่ยม ศูนย์กลางของทวีปนี้อยู่ที่โพธิพฤกษ์พุทธคยา เห็นได้ว่ารูปคาบสมุทรอินเดียนั่นเอง เป็นถิ่นผิวสีน้ำเงิน มีความสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สิน มีทั้งความชั่วและความดี ชาวทวีปนี้มีรูปหน้าเป็นสามเหลี่ยมเหมือนอย่างรูปทวีป
  3. ทางทิศตะวันตก มีทวีปชื่อว่า อมรโคยาน คัมภีร์ทิเบตเรียกว่า โคธันยะ หรือสมบัติแห่งโค คำว่า โค แปลว่า สัตว์ชนิดหนึ่งก็ได้ แปลว่าพระอาทิตย์ก็ได้ และกล่าวว่ามีรูปเหมือนอย่างดวงอาทิตย์ คือ กลม เป็นถิ่นผิวสีแดง ชาวทวีปนี้มีอำนาจมาก ชอบบริโภคเนื้อปศุสัตว์มีรูปหน้ากลมเหมือนรูปทวีป
  4. ทางทิศเหนือ มีทวีปชื่อ อุตตรกุรุ หรือ ชาวกุรุภาคเหนือ คัมภีร์ทิเบตกล่าวว่า มีรูป ๔ เหลี่ยม เป็นถิ่นผิวสีเขียว ชาวทวีปนี้เข้มแข็ง มีเสียงดัง มีรูปหน้าสี่เหลี่ยมเหมือนม้า มีต้นไม้ซึ่งอำนวยความสำเร็จสิ่งที่ต้องการเป็นที่อยู่อาศัย

ทวีปทั้งหมดเหล่านี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรน้ำเค็มใน ๔ ทิศของเขา สัตตบริภัณฑ์ ซึ่งมีเขาสุเมรุเป็นศูนย์กลาง ถัดจากทวีปเหล่านี้ออกไปก็ถึงที่สุดโลกโดยรอบ ซึ่งมีกำแพงเหล็กเป็นขอบกั้นอยู่โดยรอบเหมือนอย่างกงล้อ รวมเป็นจักรวาล โลกของเรานี้ก็เป็นจักรวาลอันหนึ่งในจักรวาลทั้งหลายที่มีอยู่เป็นอันมาก คัมภีร์ฝ่ายมหายานของทิเบตกล่าวไว้ว่า ทุก ๆ จักรวาลตั้งอยู่ในอากาศว่างเปล่า (space) อันไม่อาจหยั่งอาศัยอยู่บนผืนลมเหมือนอย่างวัชระคือศรพระอินทร์ หรืออศนีบาตรูปกากบาท แข็งทนทานเหมือนวัชระคือเพชร บนลมนั้นมีห้วงน้ำตั้งอยู่ บนห้วงน้ำมีรากฐานเป็นทองคำ โลกตั้งอยู่บนรากฐานทองคำนั้น มีเขาพระสุเมรุพุ่งขึ้นไปเป็นแกนกลาง

            

ได้ขอให้ผู้ทรงภูมิรู้ในปัจจุบันช่วยค้นเวลาเทียบเคียงดูว่า เวลา  ๐๖.๐๐ น. ที่อินเดีย อันเป็นชมพูทวีปในเวลานั้น โดยเฉพาะที่พาราณสีซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งพุทธคยา จะเป็นเวลาเที่ยงวันเป็นต้นที่ประเทศไหนบ้าง ท่านผู้นั้นได้จดให้ดั่งต่อไปนี้ (สด.ญาณสังวร )

     เวลา  ๐๖.๐๐  น.  พาราณสี  Lat. ๒๖  N. Long. ๘๓  E.
     เวลา  ๑๒.๐๐  น. นิวซีแลนด์ Lat. ๒๖  N. Long. ๑๗๓  E.
     เวลา  ๑๘.๐๐  น.  นิวออร์ลีนส์, ชิคาโก Lat.  ๒๖ N. Long. ๙๗  E.
     เวลา  ๒๔.๐๐  น.  อิงแลนด์  Lat. ๒๖  N. Long. ๗  E.

ตามที่เทียบตารางเวลานี้ ชมพูทวีป อยู่ที่อินเดีย  บุพพวิเทหะอยู่ที่แถบนิวซีแลนด์  อุตตรกุรุอยู่ที่แถบ นิวออร์ลีนส์, ชิคาโก นับกว้าง ๆ ว่าอเมริกา อมรโคยานอยู่ที่แถบอังกฤษ นับกว้าง ๆ ว่า ยุโรป แต่ตามคติความคิดเรื่อง ๔ ทวีป น่าจะมิได้มุ่งหมายถึงประเทศปัจจุบันเหล่านี้ เพราะมีแนวความคิดเรื่องโลกกลมคนละอย่าง ทั้งพรรณนาถึงลักษณะภูมิประเทศและบุคคลคล้ายกับเรื่องในนิยาย หรือจะเป็นอย่างเดียวกันแต่มองกันคนละทัศนะ

เรื่องจักรวาลโลกตามคติความคิดที่เล่ามานี้ เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่พุทธศาสน์ แต่เป็นภูมิศาสตร์เก่า จะเป็นเพราะมีคนเชื่อถืออยู่มากจึงติดเข้ามาในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาด้วย คัมภีร์ชั้นหลังยิ่งแสดงวิจิตรพิสดารมาก  แต่เหตุที่นำมาแสดงให้ประจักษ์นี้ก็เป็นเรื่องน่ารู้อยู่ เพราะจะได้ทราบความคิดในชั้นเดิม เมื่ออ่านคัมภีร์หรือหนังสือวรรณคดีทางศาสนาเก่า ๆ ก็จะพอเข้าใจและมองเห็นภูมิประเทศตามคติความคิดนี้ได้โดยตลอด

ที่มา : ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
วัดบวรนิเวศน์วิหาร,

ขอบคุณข้อมูลจาก : /book.dou.us/doku